bloggang.com mainmenu search



check01
เทคนิคตรวจสอบการก่อสร้างบ้านด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันการตามแก้ปัญหาภายหลัง หลังจากที่โครงการเริ่มลงมือก่อสร้าง ผู้ซื้อจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบการก่อสร้างเป็นระยะ ๆ เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ตรงกับที่ได้ตกลงซื้อขายกันไว้ หากคุณไม่ได้เข้าไปตรวจตราดูแลระหว่างการก่อสร้างเลย เวลาตรวจรับบ้านผู้ซื้อจะไม่สามารถรู้เลยว่า โครงสร้างภายในการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เป็นไปตามาตรฐานหรือไม่ และอาจจะเกิดปัญหาต่างๆ ในการอยู่อาศัยตามมา

การวางผัง
การวางผังหรือการกำหนดวางตำแหน่งของตัวบ้านในที่ดิน ระยะระหว่างแนวต่างๆ ถูกต้องตามแบบหรือไม่ ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนที่จะตอกเข็มทำฐานราก

การตอกเข็ม
เข็มต้องตรงไม่บิดงอหรือแตกร้าว การตอกต้องให้เข็มตั้งได้ดิ่งตั้งฉากกับพื้นดิน จึงจะรับน้ำหนักได้ดี ผู้ซื้อต้องตรวจสอบจำนวนเข็มครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในแบบ ถ้าเข็มที่ตอกลงไปหักจะต้องมีการตอกเสริมให้แข็งแรงตามที่วิศวกรกำหนดไว้

การทำฐานราก
ต้องขุดดินออกจากก้นหลุมให้ใหญ่กว่าขนาดของฐานราก ถ้ามีน้ำในก้นหลุมต้องสูบออก ต้องเททรายและคอนกรีตหยาบก่อนที่จะวางเหล็กตั้งแบบและเทคอนกรีตฐานราก หัวเข็มต้องล้างให้สะอาด ควรตรวจสอบขนาด ระยะตะแกรงเหล็กฐานราก

งานคอนกรีต
ส่วนผสมคอนกรีตจะต้องมีสัดส่วนที่ถูกต้อง ปกติคอนกรีตจะมีส่วนผสมของปูนซีเมนต์ 1 ส่วน ทราย 2 ส่วน และหิน 4 ส่วน โดยผสมน้ำพอประมาณให้ส่วนผสมมีความเหลวพอดี ถ้าผสมน้ำมากไปจะทำให้คอนกรีตไม่แข็งตัว ในการเทคอนกรีตต้องใช้เครื่องมือเขย่าให้คอนกรีตอัดตัวแน่น โดยทั่วถึงกัน แบบหล่อคอนกรีตต้องสนิทแน่น เพื่อป้องกันการรั่วไหลของน้ำปูนซีเมนต์

สำหรับส่วนผสมของคอนกรีตจะต้องมีคุณสมบัติของส่วนผสมดังนี้ ปูนซีเมนต์ ต้องใหม่ไม่ขึ้นหรือจับตัวเป็นเม็ดเป็นก้อน ทรายต้องเป็นทรายหยาบสะอาด ไม่มีวัสดุอื่นเจือปน เช่น เศษดิน หรือใบไม้ เป็นต้น หิน เป็นหินชนิดแข็งไม่ผุกร่อนมีขนาดเท่าๆ กัน และไม่มีวัสดุอื่นเจือปน และน้ำต้องเป็นนำสะอาดไม่มีวัสดุเจือปนเช่นกัน

งานเหล็ก
เหล็กเส้นเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สร้างความแข็งแรงของตัวบ้าน ควรเป็นเหล็กที่ได้ขนาดตามมาตรฐานเป็นเหล็กรีดใหม่ มักเป็นเหล็กข้ออ้อย ไม่ควรใช้เหล็กรีดซ้ำ ไม่ผุกร่อนหรือเป็นสนิม การจัดวงาเหล็กจะต้องวางให้ถูกตำแหน่งและมีที่รองรับที่แข็งแรงเพียงพอ การต่อดามเหล็กอาจใช้วิธีทาบกันและผูกด้วยลวดระยะทาบไม่ควรน้อยกว่า 40 เท่า ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเหล็ก

งานไม้
ในส่วนของงานไม้ที่เป็นโครงสร้างภายใน เช่น โครงเคร่าฝ้าเพดาน โครงฝาผนัง ควรทาน้ำยากันปลวกและมอด ส่วนงานไม้ภายนอกที่เห็นได้ด้วยตา เช่น ไม้เชิงชาย ระแนงฝ้าเพดาน ต้องไสให้เรียบไม่เป็นเสี้ยนไม้ งานไม้ในส่วนของบันไดที่เป็นไม่ขัดและเข้าไม้อย่างละเอียดแล้วจึงทาด้วยวัสดุเคลือบผิว

งานก่ออิฐ
ส่วนใหญ่เป็นงานก่ออิฐผนัง นิยมใช้อิฐมอญ หรืออิฐบล็อก การก่ออิฐต้องมีส่วนเหล็กเสริมที่ยื่นออกมาจากเสา เพื่อยึดเกาะเสากับผนังให้แข็งแรง อิฐที่นำมาก่อต้องทำให้อิ่มน้ำก่อน การก่ออิฐให้เริ่มจากตอนมุมเสาก่อนและต้องจับดิ่งตอนมุมไว้เสมอ รวมทั้งรักษาแนวก่อโดยขึงเอ็นไว้ การก่อผนังสูงๆ ควรก่อไม่เกิน 1.20 เมตรก่อนแล้วทิ้งให้ปูนก่อแข็งตัวก่อนจึงก่ออิฐผนังต่อไป เมื่อก่ออิฐถึงใต้ท้องคานควรเว้นระยะห่างประมาณ 1 นิ้ว ก่อนฉาบผนังต้องอัดปูนทรายล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วันและต้องอัดทั้ง 2 ข้างเพื่อป้องกันการแตกร้าว กรณีที่ผนังสูงเกิน 3 เมตร ต้องมีทับหลัง ค.ส.ล. แบ่งครึ่งความสูง ผนังอิฐที่กว้างเกิน 4 เมตร ต้องมีเสาเอ็นแบ่งครึ่งกำแพง

งานฉาบปูน
ก่อนทำการฉาบปูนต้องทำการจับเซี้ยม(การตั้งระดับและแนว) หรือการฉาบมุมเสา-คานด้วยปูนเค็ม ก่อนฉาบผนังอิฐต้องลดน้ำให้ชุ่มเสมอ เมื่อฉาบปูนเสร็จต้องไม่มีรอยแตกร้าว แนวเสา-คานผนังต้องได้ดิ่งและฉาก ระยะขนาดของเสาคานจะต้องเท่ากันอย่างสม่ำเสมอตลอดแนว ผนังด้านที่ถูกแดดมากๆ หลังจากวันที่ฉาบแล้วต้องรดน้ำติดต่อกัน 3 วัน เพื่อป้องกันการแตกลายงา

การติดตั้งวงกบและบานหน้าต่าง
การติดตั้งวงกบต้องได้ดิ่งและระดับ ยึดติดแน่นกับเสาและคานเอ็น การติดบานประตู หน้าต่าง ต้อง ต้องเลื่อนหรือเปิดปิดได้คล่องไม่ติดขัด การไสขอบประตูหรือหน่าต่างให้เข้ากับวงกบจะต้องเผื่ความหนาของสีไว้ด้วย บานพับประตูต้องแบบรับน้ำหนังของประตูได้ การทำงานของลูกบิด กลอนต้องอยู่ในสภาพใช้งานได้มีความแข็งแรง

งานหลังคา
แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คืองานโครงสร้างหลังคา และงานมุงกระเบื้องหลังคา สำหรับงานโครงสร้างหลังคา จะต้องตรวจสอบดูขนาด และความหนาของระแนงและจันทัน ในกรณีที่เป็นโครงไม้ตัวระแนง และจันทันต้องไม่บิดงอ กรณีที่เป็นโครงเหล็กจะต้องตรวจดูรอยเชื่อม และต้องทาสีกันสนิมให้ทั่ว ส่วนงานมุงกระเบื้องหลังคา ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของบ้านที่อาจต้องซ่อมแซมในภายหลัง หากก่อสร้างไม่ดีจะทำให้เกิดการรั่วซึมของน้ำฝนได้ การมุงควรจะซ้อนทับในแนวที่หลบทิศทางลม หลังคาที่มีความซับซ้อนเป็นชั้นเป็นมุม ควรพิถีพิถันในเรื่องของการระบายน้ำ

งานฝ้าเพดาน
ฝ้าเพดาน ใช้วัสดุที่ใช้ทำโครงคร่าวมีทั้ง ไม้ เหล็ก หรืออลูมิเนียม ตัวเคร่าต้องต้องวางให้ได้ระดับตัวยึดโยงไปยังโครงหลังคาต้องไม่ยึดตัวเมื่อรับน้ำหนัก ซึ่งจะทำให้ฝาตกท้องช้างหรือโก่งได้ รอยต่อของวัสดุที่ทำฝ้าต้องเป็นแนวตรง หากมีไม้มอบฝ้า การต่อไม้ต้องต่อโดยตัดมุม 45 องศาเสมอ กรณีที่เป็นยิบซั่มบอร์ด ตรงรอยต่อต้องฉายต่อด้วยผ้าเทปแล้วขีดให้เรียบเสมอกัน

งานติดตั้งประปาและระบบไฟฟ้า
การติดตั้งข้อต่อต่างๆ ควรให้มีความแข็งแรงและใส่น้ำยากันรั่วซึมให้ทั่ว ท่อแต่ละแนวต้องยึดให้แน่นกับส่วนโครงสร้าง เมื่อติดตั้งแล้วเสร็จก่อนการฉาบปูนหรือปิดทับ ควรตรวจสอบการรั่วซึม ส่วนระบบไฟฟ้า ต้องตรวจการเดินสายไฟให้เรียบร้อย การต่อเชื่อมในแต่ละจุดอุปกรณ์ต้องได้มาตรฐาน เมื่อติดตั้งเสร็จควรทดสอบการใช้งานให้ครบทุกจุดเสียก่อน

งานบ่อเกรอะ บ่อซึม
บ่อเกรอะ เป็นบ่อหมักที่ใช้เก็บกักของเสียที่ขับถ่ายออกมา ส่วนบ่อซึม เป็นส่วนที่กรองเฉพาะน้ำออกทิ้ง มีทั้งที่เป็นถึงคอนกรีตสำเร็จรูป และใช้ก่ออิฐ บ่อซึมจะต้องห่างจากบ่อเกรอะอย่างน้อย 2 เมตร ขอบบ่อพักจะต้องใช้อิฐหักรอบๆ เป็นวงใหญ่ประมาณครึ่งเมตร เพื่อให้น้ำเสียระบายได้ง่าย ท่อระบายน้ำจากตัวบ้านควรมีความลาดเอียงอย่างน้อย 1: 200 มีข้อพักเป็นระยะๆ ห่างกันไม่เกิน 4 เมตร เพื่อสามารถเปิดออกทำความสะอาดสิ่งอุดดันได้

งานปูวัสดุผิวพื้นและผนัง
มีลักษณะวัสดุที่ใช้แตกต่างกันออกไป ถ้าปูพื้นด้วยไม้ปาร์เกต์ พื้นต้องเรียบได้ระดับทำความสะอาดผิวพื้นก่อนปูให้สะอาด การปูต้องให้ชิดสนิทดไม่มีร่องและอุดโป้วทุกที่ที่เป็นรูหรือตาไม้ให้เรียบร้อย เมื่อปูเสร็จควรทิ้งไว้ประมาณ 7- 10 วัน เพื่อให้กาวแห้งก่อนขัดผิวด้วยเครื่อง ถ้าเป็นกระเบื้องเซรามิก ผิวหน้าที่จะกรุกระเบื้องต้องเรียบได้ระดับ และมีผิวหยาบเพื่อให้การยึดเกาะแน่นสนิท ก่อนปูควรแช่กระเบื้องให้อิ่มน้ำก่อน ควรขึงเชือกให้เป็นแนวเพื่อช่วยให้สามารถปูเป็นเส้นตรง เมื่อปูเสร็จไม่ควรเดินเหยียบทันที ควรปล่อยให้แห้งสนิท ควรปล่อยให้แห้งสนิทก่อนที่จะยาแนวด้วยซีเมนต์ขาว ถ้าเป็นกระเบื้องยาง หรือพรมก่อนปูต้องปรับระดับพื้นให้เรียบได้ระดับ ไม่เป็นหลุมเป็นแอ่ง และทำความสะอาพื้นให้เรียบร้อย

งานสี
ควรตรวจสอบคุณภาพสีและชนิดของสีให้ตรงตามที่ระบุไว้ และตรวจดูสีที่ใช้ถูกต้องตามประเภทของงานหรือไม่ เช่น สีทาภายในไม่ควรใช้ทาภายนอก เพราะความคงทนจะน้อยกว่า พื้นที่ที่จะทาสีต้องเรียบทำความสะอาดและให้แห้งสนิท การทาสีทับแต่ละชั้นต้องให้สีรองพื้นแห้งสนิทก่อน ควรทาทับไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง เพื่อไม่ให้เห็นพื้นผนังหรือรอยแปรงรอยด่าง


แหล่งข้อมูล : ธนาคารอาคารสงเคราะห์

ดูบทความดีๆได้ที่ : //www.thaihomeonline.com หรือ LINE@ : @thaihomeonline ครบเครื่องเรื่องบ้าน คอนโด การลงทุน

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :  Thaihomeonline.com หรือ Line@ : thaihomeonline - ครบเครื่องเรื่องบ้าน คอนโด การลงทุน 

คลิกเลย : https://www.thaihomeonline.com

Create Date :09 ตุลาคม 2561 Last Update :9 ตุลาคม 2561 16:32:00 น. Counter : 221 Pageviews. Comments :0