bloggang.com mainmenu search



roof01_1

เข้าสู่หน้าฝนปีนี้หลายท่านคงประสบปัญหาเดิมๆที่แก้เท่าไรก็ไม่หาย(ขาด)สักที นั่นคือการรั่วซึมของหลังคาหรือผนังบ้าน ซึ่งอาจเกิดจากการเสื่อมสภาพของตัววัสดุเอง หรือเกิดจากการแก้ไขไม่ถูกวิธี ข้อสังเกตในการป้องกันบ้านในช่วงฤดูฝน พร้อมแนวทางการแก้ปัญหาอย่างง่ายๆมาฝาก

1.การรั่วซึมที่ผนังรอบๆช่องเปิดต่างๆ
สาเหตุ : หน้าต่างและประตูมีการยืดหดตัว โดยเฉพาะวงกบไม้ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผนังปูน หรือร่องยาแนวของบล็อกแก้วเสื่อมสภาพ(หมดอายุ)
การแก้ไข : ใช้ซิลิโคนหรือพอลิยูรีเทนอุดรอยต่อระหว่างโครงสร้าง ส่วนร่องยาแนวบล็อกแก้วที่เสื่อมสภาพให้ขูดลอกออกแล้วยาแนวใหม่ หรือติดตั้งกันสาดเพิ่มเติม ส่วนบ้านที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างที่พอแก้ไขได้ ให้ใช้วงกบไม้ที่มีคุณภาพหรือเปลี่ยนใช้วงกบชนิดอื่น เช่น วงกบอะลูมิเนียมหรือไวนิล ที่สำคัญควรเพิ่มความยาวของชายคาให้ได้อย่างน้อย 1.2 เมตร หรือทำกันสาดเหนือวงกบและเซาะร่องทำบัวหยดน้ำเพื่อไม่ให้น้ำไหลย้อนเข้ามา

2.น้ำซึมผ่านผนังเข้ามาในบ้าน
สาเหตุ : มีรอยแตกร้าวที่ผนัง ความชื้นจากพื้นซึมขึ้นมา หรือความชื้นจากการรดน้ำต้นไม้ ทำให้ผนังชุ่มน้ำ ฟิล์มสีที่ทาไว้ก็จะเสื่อมสภาพ เกิดเชื้อราและตะไคร่น้ำได้ และหากติดวอลล์เปเปอร์ก็จะหลุดล่อนในที่สุด
การแก้ไข : ใช้อะคริลิกหรือพอลิยูรีเทนที่มีคุณสมบัติยืดหดตัวได้ดีอุดโป๊ในจุดที่เกิดรอยแตกร้าวของผนังปูนฉาบ หรือรอยต่อของวัสดุต่างๆ ได้ทั้งภายนอกและภายใน และถ้าการรั่วซึมหนักหนาสาหัสจริงๆอาจทำเป็นผนังสองชั้นแล้วเจาะรูให้น้ำไหลออกไปก็ได้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าแต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

3.น้ำซึมขึ้นมาจากใต้ดินทำให้พื้นบ้านเสียหาย
สาเหตุ : ส่วนใหญ่เกิดจากความชื้นที่สะสมอยู่ใต้ดิน โดยซึมผ่านพื้นขึ้นมาในบ้าน ทำให้เกิดคราบดำของเชื้อราหรือน้ำเหนียวๆตามแนวรอยต่อของพื้นผิว
การแก้ไข : สกัดพื้นไม้ กระเบื้อง หรือพรมออก แล้วใช้ซีเมนต์หรือน้ำยากันซึม เช่น Crystal Cement หรือ Moisture Seal ฉาบหรือทาเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำและความชื้นซึมผ่าน น้ำยากันซึมชนิดนี้มีคุณสมบัติแทรกซึมเข้าไปในเนื้อคอนกรีต โดยจะช่วยอุดรูพรุนต่างๆและรอยแตกลายงาของคอนกรีตได้ดี ทำให้ผิวคอนกรีตแข็งแรงมากขึ้นด้วย จากนั้นก็ปูพื้นใหม่ทับไปอีกที

4.การรั่วซึมของหลังคาที่เกิดจากการแตกร้าวของแผ่นกระเบื้อง
สาเหตุ : เกิดจากกิ่งไม้หรือผลไม้ตกลงมากระทบแผ่นกระเบื้อง หรือมีเศษวัสดุก่อสร้างของข้างบ้านตกใส่หลังคา
การแก้ไข : เปลี่ยนแผ่นกระเบื้องที่เสียหายหรือใช้วัสดุอุดรอยรั่ว เช่น เทปยางมะตอยที่มีขายตามร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไปมาปิดทับ และหมั่นตัดกิ่งไม้ที่ยื่นเหนือหลังคาออกไป

5.การรั่วซึมจากน้ำที่ไหลย้อนเข้าร่องกระเบื้องหลังคา
สาเหตุ : ส่วนใหญ่เกิดจากเศษใบไม้และกิ่งไม้แห้งที่หมักหมมในรางระบายน้ำ จนทำให้น้ำฝนที่ไหลลงมาจากหลังคาระบายไม่ทัน หรือเกิดจากการทำองศาลาดเอียงของหลังคาที่ชันน้อยเกินไป น้ำจึงไหลย้อนเข้าไปใต้แผ่นหลังคาได้
การแก้ไข : หมั่นทำความสะอาดรางน้ำฝนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีลมพัดรุนแรง ทำให้มีปริมาณใบไม้สะสมมากเป็นพิเศษ สำหรับบ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้ปรับเพิ่มมุมลาดชันให้เหมาะกับชนิดของกระเบื้อง เช่น กระเบื้องลอนคู่มุงที่ 10-45 องศา หรือกระเบื้องคอนกรีตมุงที่ 17-45 องศา

6.การรั่วซึมของหลังคาสแลป
สาเหตุ : ส่วนใหญ่มาจากการทำลาดเอียงที่ไม่ดี จนทำให้น้ำขังบนพื้นหลังคา ทำให้ปูนเสื่อมสภาพจนเกิดรอยร้าวขึ้น น้ำจึงรั่วซึมลงมาที่ฝ้าเพดาน พื้นภายใน รวมถึงเกิดจากสภาวะอากาศการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ทำให้พื้นผิวคอนกรีตเกิดรอยแตกร้าว ซึ่งเป็นจุดที่น้ำสามารถรั่วซึมได้
การแก้ไข : เทปูนปรับระดับหลังคาให้เป็นหลังเต่า เพื่อให้น้ำสามารถไหลออกด้านข้าง และอาจปูทับด้วยแผ่นกันซึม หรือใช้อะคริลิกทาเพื่อกันน้ำรั่วซึมก็ได้ และควรรอดูผลการซ่อมแซมก่อนติดตั้งฝ้าเพดานใหม่อีกครั้ง


แหล่งข้อมูล : บ้านและสวน

ดูบทความดีๆได้ที่ : //www.thaihomeonline.com หรือ LINE@ : @thaihomeonline ครบเครื่องเรื่องบ้าน คอนโด การลงทุน

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :  Thaihomeonline.com หรือ Line@ : thaihomeonline - ครบเครื่องเรื่องบ้าน คอนโด การลงทุน 

คลิกเลย : https://www.thaihomeonline.com

Create Date :21 กันยายน 2561 Last Update :21 กันยายน 2561 16:16:33 น. Counter : 677 Pageviews. Comments :0