bloggang.com mainmenu search



Borrow-money01

การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่งอาจจะมีเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าธนาคารจะไม่ปล่อนสินเชื่อให้เลย ในทางกลับกัน ธนาคารนั้นมีอัตราการแข่งขันสูงขึ้น เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ธนาคารมองกว่า มีเครดิตที่ดีพร้อมตามเกณฑ์ที่ธนาคารตั้งไว้ ซึ่งคนส่วนมากยังจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินจากธนาคารในการซื้อบ้าน การขอสินเชื่อหรือกู้เงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ

1.จะกู้เงินต้องรอบคอบ
คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังวางแผนจะซื้อบ้าน หรือได้ตัดสินใจซื้อและผ่อนดาวน์ค่าซื้อบ้านมาระยะหนึ่งแล้ว ช่วงต่อมาคุณก็จะต้องหาเงินกู้ในส่วนที่ขาดเพื่อชำระราคาให้กับผู้ขาย ซึ่งในการกู้เงิน จำเป็นที่จะต้องกระทำอย่างรอบคอบ เพื่อให้ความฝันในการมีบ้านเป็นของตนเองเป็นความจริง อย่างยั่งยืน ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง การกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน มีประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจ หรือตัดสินใจหลายประการ ดังเช่น จะกู้จำนวนเท่าใด จะกู้ระยะเวลานานเท่าใด จะกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่หรือลอยตัวดีกว่า จะต้องผ่อนชำระเงินงวดเท่าใด เงินงวดที่ผ่อนสัมพันธ์อย่างไรกับวงเงินกู้ ระยะเวลากู้ และอัตราดอกเบี้ย จะกู้เงินกับธนาคารไหนดี การกู้เงินต้องมีหลักฐานอะไร ใช้เวลานานเท่าใดจึงจะได้รับการอนุมัติกู้ ธนาคารใช้หลักเกณฑ์อย่างไรในการพิจารณาอนุมัติกู้ หรือหากยื่นกู้แล้วธนาคารไม่อนุมัติกู้ หรือกู้ได้น้อยจะทำอย่างไร กู้เงินทำไมต้องมีการประเมินค่าและทำจำนองด้วย ในการกู้เงินต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง เหล่านี้เป็นต้น สำหรับเอกสารคู่มือนี้ มุ่งจะให้คุณทราบถึงแนวทางเบื้องต้นในการเลือกสถาบันการเงิน ประเภทของสินเชื่อ กลไกสินเชื่อ รวมทั้งขั้นตอนการยื่นกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจนกระทั่งคุณได้รับเงินกู้

2.การเลือกสถาบันการเงิน
สถาบันการเงินที่จะให้คุณกู้เพื่อซื้อบ้านมีจำนวนมาก ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งปัจจุบัน สถาบันการเงินเหล่านี้ ต่างก็แข่งขันกันในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชน ประเด็นคือ คุณควรจะกู้ที่ไหนดี ที่จะช่วยให้เกิดการประหยัดเงินมากที่สุด และคุณได้รับความสะดวกสบายที่สุด ทั้งมีเงื่อนไขที่สอดคล้องกับความต้องการของคุณมากที่สุด ดังนั้น คุณจึงจำเป็นต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เงื่อนไขการกู้ และค่าใช้จ่ายต่างๆที่อาจเกิดขึ้น จากนั้น จึงเลือกสถาบันการเงินที่ให้ประโยชน์กับคุณมากที่สุด และเมื่อคุณติดต่อขอข้อมูลจากสถาบันการเงินเหล่านี้ โดยอาจพิจารณาจากเอกสารโบรชัวร์การโทรศัพท์สอบถาม การเข้าดู web site สถาบันการเงินหรือดูจากสื่อต่างๆ เช่น หนังสือนิตยสารเกี่ยวกับการซื้อบ้าน คุณอาจสงสัยว่าแต่ละสถาบันการเงินมีอัตราเงินกู้ที่แตกต่างกัน และยังมีเงื่อนไขการกู้และ ค่าใช้จ่ายต่างๆที่แตกต่างกันด้วย

3.การเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขการกู้ และการให้บริการต่างๆ
การเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขการกู้ระหว่างสถาบันการเงินต่างๆนั้น ค่อนข้างจะซับซ้อนพอ สมควร ดังนั้น เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับเงินกู้ดีขึ้น จึงขอนำเสนอรายการหลักๆประกอบการพิจารณา ดังนี้ ประเภทอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัย เงินกู้ที่เสนอในตลาด มักมีอัตราดอกเบี้ยหลายแบบแตกต่างกัน ให้ลูกค้าเลือก ดังนี้

1) เงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate loan) หมายถึงเงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว คืออัตราดอกเบี้ยที่กำหนด ณ ปัจจุบัน ตามประกาศนั้น จะใช้ไประยะหนึ่ง และต่อมาภายหลัง (ในช่วง 20-30 ปี) อาจปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงได้ตามสถานการณ์ตลาดเงินหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน ซึ่งการปรับใหม่นี้ จะปรับเมื่อใดนั้นไม่สามารถจะทราบได้ ในบางปี อาจมีการปรับหลายครั้ง บางปีไม่มีการปรับเปลี่ยนเลยก็ได้ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย
อาจส่งผลกระทบต่อเงินงวดที่ชำระในแต่ละเดือนได้ โดยเฉพาะหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นในภายหลัง เงินงวดที่ชำระรายเดือนเดิมอาจต้องมีการปรับสูงขึ้นได้

2) เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate loan)
2.1 อัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลากู้ หมายถึง เงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่หรือตายตัวตามประกาศของสถาบันการเงิน ณ ขณะกู้ โดยไม่ปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงตามสถานการณ์ตลาดเงินหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงินดังนั้น เงินงวดที่ชำระในแต่ละเดือน ก็จะคงที่ตลอดระยะเวลากู้นาน 5-10-15-20 ปี ตามแต่ผู้กู้จะเลือก

2.2 อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นในช่วงแรกจากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หมายถึง เงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะสั้นประมาณ 1-5 ปี หลังจากนั้น จะปรับเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวซึ่งอาจจะสูงหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่เดิมก็ได้ ทั้งนี้ จะเป็นไปตามสถานการณ์ตลาดเงินหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน ณ ขณะนั้น

2.3 อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันใดในช่วงแรกจากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หมายถึง เงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะสั้นประมาณ 1-5 ปี แต่ในระหว่างนี้ อาจกำหนดคงที่แบบขั้นบันได เช่น คงที่ 3 ปี ปีแรกเท่ากับ 3.25% ปีที่สอง 4.25% ปีที่สาม 5.25% เป็นต้น หลังจากนั้นจะปรับเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ซึ่งอาจจะสูงหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่เดิมก็ได้ ทั้งนี้ จะเป็นไปตามสถานการณ์ตลาดเงินหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน ณ ขณะนั้น

3) เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่งและปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา (Rollover Mortgage Loan)
หมายถึงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่ง เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี และปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา 3 หรือ 5 ปี ตลอดระยะเวลากู้นาน 25-30 ปี ตัวอย่างเช่น สินเชื่อเคหะรวมใจ ที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ปล่อยกู้ในปัจจุบัน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แต่ละช่วงจะคงที่โดยอิงกับต้นทุนพันธบัตรที่บวก 2.5% เช่น หากต้นทุนพันธบัตร 5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเท่ากับ 7.5% เป็นต้น เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยจริงตามประกาศ เมื่อคุณทราบประเภทเงินกู้แบบต่างๆที่สถาบันการเงินเสนอให้บริการแล้ว ต่อมาคุณจะต้องพิจารณา เปรียบเทียบ "อัตราดอกเบี้ยจริงตามประกาศ" ว่าที่ไหนให้เท่าใด สูงต่ำกว่ากันอย่างไร ซึ่งโดยทั่วไป หากเป็นเงินกู้ประเภทเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด ก็จะเป็นประโยชน์กับคุณมากที่สุด ทั้งนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะทำให้เงินงวดรายเดือนที่ผ่อนชำระต่ำตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การกู้เงินมิใช่การกู้ระยะสั้นเพียง 2-3 ปี เท่านั้น หากเป็นการกู้นานถึง 20-30 ปี ดังนั้น คุณจะต้องดูแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย หรือนโยบายสินเชื่อของสถาบันการเงินในระยะยาวด้วย นอกจากนั้น ยังต้องพิจารณาดูเงื่อนไขการกู้ การให้บริการ และค่าใช้จ่ายการกู้อื่นๆ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการกู้ในการกู้เงิน นอกจากจะต้องดูเรื่องอัตราดอกเบี้ยแล้ว คุณจะต้องดูค่าใช้จ่ายต่างๆด้วย ได้แก่

- ค่าประเมินมูลค่าหลักประกัน โดยปกติ สถาบันการเงินจะมีการคิดค่าประเมินมูลค่าหลักประกันซึ่งแต่ละสถาบันการเงินจะคิดไม่เท่ากัน

- ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะคิดค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ หรือ อาจเรียกชื่ออย่างอื่น เช่น
ค่าธรรมเนียมการวิเคราะห์สินเชื่อ ค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ เป็นต้น แต่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ไม่คิดค่าธรรมเนียมนี้

- ค่าธรรมเนียมจดจำนองกับกรมที่ดิน ในการกู้เงิน หลังจากได้รับเงินกู้แล้ว จะต้องมีการจดทะเบียนจำนองกับกรมที่ดิน
ซึ่งผู้กู้มีภาระต้องจ่ายค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ของวงเงินกู้ ตามกฎหมาย

- ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนจำนองก่อนกำหนด (prepayment penalty) สถาบันการเงินส่วนใหญ่จะคิดค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนจำนองก่อนกำหนด โดยเฉพาะหากมีการชำระหนี้ทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีและไถ่ถอนจำนองออกไปภายในระยะเวลา 3 ปีแรกของการกู้เงิน ทั้งนี้ แต่ละแห่งจะคิดมากน้อยแตกต่างกัน

เงื่อนไขการให้สินเชื่ออื่นๆ ได้แก่

- วงเงินกู้ โดยทั่วไป สถาบันการเงินจะให้กู้ประมาณร้อยละ 80 ของมูลค่าประเมิน หรือราคาซื้อขายบ้าน (สุดแล้วแต่ค่าใดจะต่ำกว่า) อย่างไรก็ตาม การกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยบางประเภท เช่น เงินกู้สวัสดิการแก่พนักงานบริษัท ข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ อาจจะมีการให้กู้สูงถึงร้อยละ 90 หรือ 100%

- ระยะเวลากู้ ในอดีตการกู้เงิน มักจะกำหนดระยะเวลากู้ได้นานประมาณ 15 - 20 ปี อย่างไรก็ตามในปัจจุบันธนาคารอาคารสงเคราะห์และสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะให้กู้ได้นานถึง 30 ปี ทั้งนี้ ยิ่งกู้นาน เงินงวดที่ผ่อนชำระรายเดือนก็จะยิ่งลดลง อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินส่วนใหญ่มักจะกำหนดให้ระยะเวลากู้เมื่อรวมกับอายุผู้กู้แล้ว ไม่เกิน 70 ปี เช่น หากอายุ 55 ปี จะกู้ได้สูงสุด 15 ปี เป็นต้น

- เงินงวดชำระหนี้ ปกติ เงินงวดชำระหนี้ มักจะกำหนดจ่ายเป็นเงินรายเดือนที่แน่นอน หากผู้กู้ชำระหนี้รายเดือนสม่ำเสมอ เงินกู้นั้นจะหมดเมื่อครบสัญญากู้ อย่างไรก็ตาม กรณีกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว สถาบันการเงินบางแห่งอาจคิดเงินงวดเผื่อไว้โดยการคำนวณเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตามประกาศ เช่น อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ 6.5% ต่อปี เวลาคิดคำนวณเงินงวด อาจจะคิดที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 1-2% โดยคิดที่อัตราดอกเบี้ย 7.5% หรือ 8.5% เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ กรณีที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในภายหลัง ผู้กู้จะได้ไม่ต้องชำระเงินงวดเพิ่มขึ้น เพราะคิดเผื่อไว้แล้ว แต่หากอัตราดอกเบี้ยในภายหลังไม่เพิ่มขึ้น หรือกลับลดลง เงินงวดที่คุณชำระเกินไว้ก็จะไปตัดหนี้เงินต้นมากขึ้นกว่าปกติ และจะทำให้หนี้เงินกู้หมดเร็วขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา

- การตัดเงินต้น-ตัดดอกเบี้ยของเงินงวด โดยทั่วไป เงินงวดที่ชำระหนี้รายเดือน จะประกอบด้วยดอกเบี้ยทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน และเงินต้นบางส่วน ทั้งนี้ เงินงวดในปีแรกๆของการชำระหนี้ จะเป็นการชำระดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ และจะเป็นการตัดเงินต้นเพียงเล็กน้อย แต่ในปีหลังๆ เงินต้นจะถูกตัดมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนค่อยๆลดลงตามลำดับ จนกระทั่งเป็นศูนย์ในปีสุดท้ายของสัญญากู้ ในกรณีที่ผู้กู้ กู้เงินแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว สถาบันการเงินมักจะเปิดโอกาสให้ผู้กู้สามารถชำระเงินงวดเพิ่มสูงกว่าปรกติได้ ซึ่งเงินที่ชำระเกินนั้น ก็จะไปตัดหนี้เงินต้นลง ซึ่งจะส่งผลให้หนี้เงินกู้หมดเร็วขึ้นกว่าที่กำหนดในสัญญา อย่างไรก็ตาม กรณีกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ โดยทั่วไป สถาบันการเงินมักจะกำหนดให้ชำระเท่ากันทุกเดือน ไม่สามารถชำระมากกว่าได้ การให้บริการของสถาบันการเงิน ในการเลือกกู้กับสถาบันการเงินใด นอกจากปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขต่างๆแล้ว ผู้กู้อาจจะพิจารณาปัจจัยประกอบด้านอื่นๆด้วย

เช่น...
1) ความสะดวกในการยื่นกู้ ได้แก่ ผู้กู้สามารถเดินทางยื่นกู้ยังสำนักงานธนาคารหรือที่อื่นๆ ได้อย่างสะดวก ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
2) ความรวดเร็วในการอนุมัติกู้ ได้แก่ ผู้กู้สามารถทราบผลการยื่นกู้ หรือได้รับเงินกู้ได้รวดเร็วตามที่ต้องการ เช่น ในสองสัปดาห์ หรือเร็วกว่านั้น
3) ความสะดวกในการชำระหนี้เงินกู้ เช่น ผู้กู้สามารถชำระหนี้ผ่านบัญชีของสาขาธนาคารต่างๆได้อย่างกว้างขวาง
4) การต้อนรับและให้บริการที่ดีของพนักงาน เช่น การต้อนรับและอำนวยความสะดวกต่างๆของพนักงาน ความมีอัธยาศัยไมตรีที่ดี และการให้บริการต่างๆอย่างเต็มใจ รวดเร็ว และประทับใจ
5) การให้ความรู้และคำปรึกษาแนะนำดี เช่น การให้ความรู้ความเข้าใจ และคำแนะเกี่ยวกับการขอสินเชื่อในด้านต่างๆอย่าง จริงใจ และเป็นมิตรไมตรี
6) ชื่อเสียง ภาพพจน์ และความมั่นคงของธนาคาร ได้แก่ การมีภาพพจน์ที่ดี ความมีชื่อเสียงมายาวนานในการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัย และความมั่นคงของธนาคาร

4.การยื่นกู้
หลังจากที่คุณพิจารณาเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขการให้กู้ และการให้บริการต่างๆแล้ว คุณก็จะสามารถเลือกกู้กับสถาบันการเงินที่คุณพอใจต่อไป ซึ่งในการนี้ จะมีขั้นตอนสำคัญ ดังนี้

4.1 การเตรียมหลักฐานประกอบคำขอกู้ ในการกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน หรืออาคารชุด สถาบันการเงินมักจะกำหนดให้ผู้ขอกู้ จะต้องนำหลักฐานต่างๆต่อไปนี้โดยครบถ้วน ได้แก่
1) หลักฐานประจำตัว ได้แก่
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- บัตรประจำตัว
- ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนหย่า หรือใบมรณะบัตร
- สำเนาเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี)

2) หลักฐานเกี่ยวกับรายได้ ได้แก่
ก. ผู้มีรายได้ประจำ
- ใบรับรองเงินเดือน หรือหลักฐานการรับ/จ่ายเงินเดือนจากนายจ้าง
- สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร
ข. ผู้มีอาชีพอิสระ
- สำเนาทะเบียนการค้า หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
- บัญชีเงินฝาก พร้อม statement บัญชีเงินฝากกระแสรายวันย้อนหลัง 6 เดือน
- หลักฐานรายได้หรือทรัพย์สินอื่นๆ

3) หลักฐานเกี่ยวกับหลักทรัพย์และการซื้อขาย
- สำเนาโฉนดที่ดิน หรือสำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด
- แผนที่แสดงทำเลที่ตั้งของที่ดินหลักประกัน
- สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญามัดจำ
- ถ้าเป็นการซื้อห้องชุด ต้องมีสำเนาหนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุด
- รายละเอียดทรัพย์ส่วนบุคคล และทรัพย์ส่วนกลาง

4) หลักฐานอื่นๆ
กรณีขอกู้เพื่อการปลูกสร้างหรือต่อเติมอาคาร ต้องมี
- แบบก่อสร้างอาคาร
- หนังสืออนุญาตปลูกสร้างหรือต่อเติมอาคาร
- หนังสือสัญญาจ้างปลูกสร้างหรือต่อเติมอาคาร
กรณีกู้เพื่อไถ่ถอนจำนอง ต้องมี
- สัญญากู้เงิน และสัญญาจำนองจากสถาบันการเงินเดิม
- statement การผ่อนชำระค่างวด ใน 6 เดือนสุดท้าย

กรณีมีผู้กู้ร่วม จะต้องมีหลักฐานส่วนตัว และหลักฐานรายได้ของผู้กู้ร่วมด้วย โดยปกติ ผู้ขอกู้จะต้องเตรียมหลักฐานต่างๆดังกล่าว โดยครบถ้วนในวันยื่นกู้หากไม่ครบ เจ้าหน้าที่อาจจะไม่รับเรื่อง หรืออาจรับเรื่องไว้และให้ผู้ขอกู้นำหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม ซึ่งผู้ขอกู้ควรจะนำมาให้เจ้าหน้าที่ภายใน 3 วัน เพื่อจะไม่ทำให้การวิเคราะห์และอนุมัติกู้ล่าช้าออกไป


แหล่งข้อมูล : ธนาคารอาคารสงเคราะห์

ดูบทความดีๆได้ที่ : //www.thaihomeonline.com หรือ LINE@ : @thaihomeonline  ครบเครื่องเรื่องบ้าน คอนโด การลงทุน

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :  Thaihomeonline.com หรือ Line@ : thaihomeonline - ครบเครื่องเรื่องบ้าน คอนโด การลงทุน 

คลิกเลย : https://www.thaihomeonline.com

Create Date :02 ตุลาคม 2561 Last Update :2 ตุลาคม 2561 16:12:17 น. Counter : 240 Pageviews. Comments :0