การเรียนรู้ภายในตนเองของคนเป็นพ่อแม่




บล็อกนี้เป็นการย่อความจากที่ดิฉันรับอาสาแปลบทความของอาจารย์ Signe Eklund Schaeferให้กับเพื่อน ๆ ร่วมคลาสอีกทีค่ะ ต้นฉบับนั้นมี 19 หน้า แต่ดิฉันขออนุญาตดึงมาเฉพาะตัวแบบฝึกหัดหกหัวข้อ ที่อาจารย์รวบรวมมาจากคำแนะนำของรูดอล์ฟ สไตเนอร์(ผู้ก่อตั้งการศึกษาวอลดอร์ฟ) รวมกับประสบการณ์การเป็นแม่ของเธอเอง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาภายในตน โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่พ่อแม่ค่ะ อาจารย์บอกว่าผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลฟูมฟักลูกนั้นได้ฝึกฝนในเรื่องราวเหล่านี้อยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว เพียงแต่ไร้ระเบียบแบบแผนเท่านั้น หากเราทำให้เป็นกิจวัตร เป็นระเบียบแบบแผน พลังที่เกิดขึ้นจะมากมาย และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ
(ขอขอบคุณอาจารย์ Signe Eklund Schaefer มา ณ ที่นี้ค่ะ)


เรามาลองดูวิธีฝึกกันเลยนะคะ

1. ฝึกความคิด


เป็นการยากสำหรับผู้คนในยุคสมัยใหม่ ที่จะพุ่งความสนใจไปที่ความคิดใดความคิดหนึ่ง เรารู้สึกฟุ้งซ่านแตกกระจาย ไม่รวมศูนย์และสับสน ชีวิตสมัยใหม่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ความคิดซ้ำ ๆ ได้ถูกยืมมาจากสื่ออย่างไร้สติ แล้วเข้าสู่ภายในของเรา และเข้าสู่การสนทนาของเรากับผู้อื่นอย่างไร้ทิศทาง

แบบฝึกหัดแรกของสไตเนอร์ช่วยให้เรารวมศูนย์ความคิดมากขึ้น จุดมุ่งหมายของแบบฝึกหัดคือพัฒนาการที่มีเป้าหมาย เพิ่มความแข็งแรงภายในตัวเรา และช่วยให้เราเข้าสู่ขบวนการทางความคิดอย่างเอาใจใส่ เราทำได้โดยเลือกวัตถุธรรมดา ๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันมาชิ้นหนึ่ง(ถ้วย กระดุม ที่หนีบกระดาษ หรือเข็มฯ เป็นต้น) และพุ่งความสนใจไปที่มันโดยใช้ความคิดที่เกี่ยวกับตัวมัน เราอาจเริ่มโดยคิดถึงรูปร่างและสีของมัน ความตรง ความโค้ง หรือผิวสัมผัสของมัน เราจะไม่เข้าไปในห้วงคำนึงที่เกี่ยวกับมัน เพียงแต่พยายามที่จะคิดถึงแต่สิ่งที่มันแสดงออกมาเท่านั้น เราพิจารณาแต่ความจริงที่เราเห็นในหลายลักษณะของวัตถุ(รูปแบบ, วิธีการผลิต, หน้าที่การใช้งานฯ เป็นต้น)

การฝึกนี้เราไม่ได้นำวัตถุจริง ๆ มาตั้งอยู่ตรงหน้า แต่ให้อยู่ในความคิด และ่จะง่ายขึ้นถ้าเราปิดตาคิด เรากำลังพยายามที่จะเพิ่มความเข้มแข็งภายในและเพื่อที่จะค่อยๆ ปลดปล่อยความผูกพันกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นบนโลก เราใช้วัตถุที่มนุษย์ทำขึ้น เพราะมันง่ายต่อการทราบที่มาที่ไปของการสร้างสรรค์วัตถุนั้น ๆ และเราใช้วัตถุที่แสนจะธรรมดา เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกระตุ้นด้วยความพิเศษของมัน สไตเนอร์ยังแนะนำว่าเราควรจะใช้วัตถุเดียวกันเป็นเวลาหลายวัน และเราควรคิดถึงมันใหม่ทุกครั้ง ไม่ใช้ความคิดเดิมในวันก่อน ๆ แต่ในความจริงเราอาจคิดถึงคุณสมบัติเดิมของมันได้ แต่ต้องเป็นการคิดใหม่ ไม่ใช่การรำลึกเอา

ความลำบากในการฝึกจะปรากฎขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะการใช้การจดจ่อต่อวัตถุชิ้นหนึ่งเป็นเวลาห้านาทีนั้น ต้องใช้การตื่นรู้ที่แท้จริง

สำหรับพ่อแม่แล้วนี่ก็เป็นแบบฝึกหัดที่มีประโยชน์ ในการใช้ความพยายามในการแยกแยะสิ่งที่จำเป็นออกจากสิ่งที่ไม่จำเป็น และทำให้เราเชื่อในความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ในแต่ละวันได้ดีขึ้น
เรามักจะได้รับคำแนะนำที่มากมายในการเป็นพ่อแม่ที่ดี จนเราเริ่มที่จะสงสัยว่าจริง ๆ ลูกเราต้องการอะไรกันแน่ การฝึกแบบนี้ไปช่วงระยะหนึ่งจะช่วยให้ความคิดเราสดใหม่ขึ้น และสร้างความมั่นใจในความสามารถที่จะเห็นความเป็นจริง มันยังช่วยให้เรามองทะลุความคิดแบบเหมารวม ที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมของเรา

2. ฝึกเจตน์จำนง

กี่ครั้งที่เราคิดจะทำอะไร แต่ต้องมาจบด้วยการทำสิ่งอื่นที่ไม่ได้วางแผนไว้ เรามักจะตอบสนองต่อสิ่งที่เราต้องทำ แต่ไม่สามารถทำตามจุดมุ่งหมายที่เกิดภายในตัวเรา ในการฝึกเพื่อที่จะมีพลังเจตน์จำนงนั้น สไตเนอร์ยังแนะนำอีกว่า ในการฝึกเราต้องทำสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องทำ(การผูกเชือกรองเท้าใหม่ การเกาหู มองออกนอกหน้าต่าง) ภายในเวลาที่กำหนดไว้แน่นอนในแต่ละวัน และจะต้องฝึกซ้ำเป็นเวลาหลายวัน การกระทำเล็กน้อยที่ถูกเลือกใช้ในการฝึก เพื่อว่าเราจะเป็นตัวกำหนดการกระทำนั้นเองเป็นสำคัญ  เช่นการให้อาหารสุนัขใช้ไม่ได้กับการฝึกนี้ เพราะสุนัขต้องการอาหาร และบางสิ่งที่สำคัญในตัวกิจกรรมที่เราฝึกจะดึงเราเข้าหามัน ไม่ได้มาจากตัวของเรา

สำหรับพ่อแม่แล้ว การฝึกนี้มีประโยชน์มาก เพื่อที่จะรวมศูนย์ในเจตน์จำนงของเรา และปล่อยวางความรู้สึกว่าเรามีเป้าหมายที่สำคัญกว่านี้ในการปฏิบัติ เพราะนี่เป็นการกระทำในสิ่งที่เล็กน้อยแต่เพิ่มพลังเจตน์จำนง เพื่อนำออกมาใช้เวลาที่เราจำเป็นต้องใช้มัน


3. ฝึกตรวจสอบความรู้สึก

ท่ามกลางความรู้สึกที่บีบคั้น เรามักจะเสียศูนย์ และสงสัยว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา ทำไมเราต้องมีความรู้สึก “โกรธอย่างไม่ลืมหูลืมตา” หรือ “กลัวอย่างมาก” หรือ “จมจ่อมอยู่กับความเศร้า” หากเราสามารถรวมศูนย์ในช่วงขณะที่มีความรู้สึกที่แท้จริง และแสดงความรู้สึกอย่างถูกต้อง ประสบการณ์ของเราก็จะเพิ่มพูน

เราฝึกได้โดยทบทวนความรู้สึกในตอนสิ้นวัน ว่าฉันอยู่ที่ใดในความรู้สึก อะไรทำให้ฉํนเสียศูนย์ เมื่อใดที่ฉันรู้สึกว่ามีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นภายในตน มีช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกไม่จริงใจไหม, หรือไม่มีความรู้สึกเลย, พลุ่งพล่านหรือโง่เขลา, เมื่อใดที่ฉันรู้สึกได้อย่างแท้จริง, เมื่อใดที่ฉันรู้สึกไม่ถูกต้องในการแสดงออกของความรู้สึก, มีไหมที่การแสดงออกของความรู้สึก นำมาซึ่งผลที่ไม่ตรงกับความตั้งใจไว้

จุดมุ่งหมายของการฝึกนี้อยู่ที่ การนำความรู้สึกแบบมีสติเข้าสู่เวลา ณ ปัจจุบัน เมื่อเราทบทวนเรามักจะตระหนักได้ว่า เราก้าวออกมาจากการแสดงออกทางความรู้สึกที่ถูกที่ควร ณ จุดใด ความเอาใจใส่สามารถค่อย ๆ ปลุกเราขณะที่เราจะลื่นไถลออกไป และเราก็จะมีทางเลือกที่จะรวมศูนย์มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเราหยุดความรู้สึกก่อนที่จะรู้สึกโกรธ เมื่อลูกของเราไม่เก็บของเล่นเข้าที่ตามที่เราร้องขอ เรารู้ได้จากประสบการณ์ครั้งก่อน ๆ ว่าการโกรธจะนำมาซึ่งน้ำตา ความรู้สึกผิด ในขณะที่ของเล่นก็ยังกระจายเต็มพื้น ถ้าเราสามารถรวมศูนย์ได้ เราจะตระหนักถึงความรำคาญใจ ความเหนื่อย และรู้ว่าการแสดงออกทางความรู้สึกเหล่านี้กับลูกของเรานั้นไม่มีประโยชน์เลย


4. ฝึกมองโลกในแง่บวก

คือการมองหาสิ่งที่ดีหรือถูกต้องหรือสวยงาม แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เราอยู่ในยุคสมัยของการทำเพื่อตนเอง เราถูกสอนตั้งแต่เล็กให้หา “สิ่งที่ผิดในรูปภาพนี้” เราได้รับการชื่นชมจากการจับผิดผู้อื่น จับผิดความสัมพันธ์ จับผิดธรรมชาติหรือปรากฎการณ์ทางสังคม

กี่ครั้งที่เราเผลอเรียกร้องคู่ของเรา คุณครูของลูกเรา เมืองของเรา หรือสภาพอากาศ แม้แต่กับคนที่เรามีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นด้วย เรายังสามารถที่จะกล่าวถึงจุดด้อยของของเขาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า แบบฝึกหัดนี้จึงทำให้เราได้ขยายความคิด และชี้แนะความรู้สึกของเราให้ค้นหาจุดดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้เราเพิกเฉยต่อความเลว ความน่าเกลียด หรือสิ่งที่ต้องการการปรับปรุง เพียงแค่ขอให้เรามองเห็นสิ่งดีบ้าง

เหมือนกับแบบฝึกหัดที่แล้ว คือเราสามารถที่จะรู้ได้ว่าเรามองโลกในแง่บวกเพียงใด ด้วยการทบทวนในแต่ละวันของเรา ว่าเราได้ฝึกฝนตรงจุดใด จุดใดที่เรามองข้าม ทำให้เราเพิ่มความสามารถในการตัดสินที่ถูกต้องและรับผิดชอบ

อีกทางหนึ่งที่จะฝึกฝนแบบฝึกหัดนี้คือพยายามคิดถึงข้อดีของสิ่งทีทำให้เราระคายเคืองเช่น มลพิษ หรือปัญหาในที่ทำงาน

การฝึกมองโลกในแง่ดียังช่วยให้เรายอมรับความเป็นตัวตนของลูกเรา้ บ่อยครั้งที่เราตกใจกับสิ่งที่เขาเลือก และสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นถึงทำให้ลูกของเราคบเพื่อนแบบนั้น ทำไมรสนิยมในการฟังเพลง หรือการอ่านของลูกเราถึงเป็นแบบนั้น หากเรามองลึกลงไปกว่านั้น และชื่นชมเขาแทนกับความริเริ่มของเขา ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นของเขา หรือชื่นชมว่าอย่างน้อยเขาก็รักการอ่าน ความสามารถในการเข้าใจของเรานั้นเติบโต และยามจำเป็นก็จะนำมาซึ่งกำลังที่สมดุลย์ที่มีประโยชน์ และขยายความใส่ใจให้อยู่เหนือประสบการณ์ทางลบ และรวมสิ่งที่ดีไว้ด้วย


5. การฝึกเปิดใจให้กว้าง

การฝึกเป็นคนเปิดกว้างและยอมรับประสบการณ์ใหม่ ๆ จอห์น เดวี่ เรียกแบบฝึกหัดนี้ว่า“ความพร้อมที่จะเรียนรู้” โลกเปิดโอกาสในการเติบโตของการมีสติของเราอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่เราพร้อมไหมที่จะเรียนรู้ เราเปิดกว้างกับความประทับใจใหม่ ๆ ไหม

เราสามารถจะคุ้นเคยกับการทำแบบฝึกหัดนี้ โดยการตั้งคำถามกับตัวเองตอนที่เราทบทวนแต่ละวัน : เราปิดตัวเราเองบ้างไหมวันนี้ เราจะเข้าใกล้คำว่าทำไมได้ไหม เป็นเพราะนิสัย ความกลัว หรือไม่รู้ตัว แล้วฉันได้เปิดรับสิ่งใหม่บ้างไหม อะไรเป็นตัวกระตุ้น ความประหลาดใจ การรบเร้าจากคนอื่น หรือมันมาจากภายในตัวฉํนเอง

แบบฝึกหัดนี้ต้องการให้เรามองหาโอกาสในแต่ละวัน เพื่อที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ความคิดใหม่ ความสามารถแบบใหม่ ความประทับใจจากผู้อื่นหรือจากโลกครั้งใหม่ ธรรมชาติให้โอกาสแบบไม่มีที่สิ้นสุดให้เราพบสิ่งใหม่ เพื่อที่จะปลดปล่อยเราออกจากกล่องความรู้เดิม ๆ หากเราขยายการรับรู้ เราจะพบความมหัศจรรย์มากมายอยู่ในดอกไม้ทุกดอก ในแอ่งน้ำเหนือก้อนหินทั้งหลาย ในใบไม้ที่กำลังร่วง การเป็นพ่อแม่นั้น เราได้รับของขวัญจากหัวใจที่เปิดกว้างสู่โลกของลูก ๆ ที่จะพาเราออกค้นหาไปพร้อมกัน พวกเขานำมาซึ่งสิ่งมหัศจรรย์และภาพที่สดใหม่โดยธรรมชาติ ถ้าเราเปิดรับและใส่ใจอย่างมีสติต่อสิ่งที่พวกเขานำเราไป เราจะได้รับโอกาสที่จะเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


6. ฝึกทำให้ทุกแบบฝึกหัดเกิดความกลมกลืน

คือนำแบบฝึกหัดทั้งห้าก่อนหน้านี้มารวมอยู่ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราฝึกฝนแต่ละแบบฝึกหัดทุกวันอย่างน้อยหนึ่งเดือน และไม่ลืมที่จะทำอันเก่าเมื่อเพิ่มอันใหม่ แล้วในที่สุดเราจะพบกับความสมดุลย์ของความสามารถในรูปแบบต่าง ๆ นี้ การรวมศูนย์ในความคิด เจตน์จำนงและความรู้สึก รวมทั้งการมองโลกในแง่บวกและการเปิดใจให้กว้าง อาจารย์ได้ทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นโดยมองเห็นความสมดุลย์นี้เป็นภาพของดาวห้าแฉก ที่เกิดจากการเชื่อมโยงจุดห้าจุด แต่ละจุดมีความสำคัญในตัวของมันเอง และเมื่อทั้งห้าจุดมารวมกัน สิ่งใหม่ก็เกิดขึ้นในความสนใจ เริ่มฉายแสงและให้พลังแบบใหม่

เราควรที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแก่นด้านในของเรา ให้กับความสามารถในการรับรู้ความต้องการที่แท้จริงรอบตัวเรา และความสามารถที่จะกำหนดทิศทางของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นการตั้งใจอย่างที่สุดในการพัฒนาตนของเราไม่ใช่เพื่อตัวเราเท่านั้น แต่เพื่อลูก ๆ ของเรา และนั่นเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อโลก และต่อสังคมที่มีคุณภาพในอนาคต รูดอล์ฟ สไตเนอร์กล่าวบ่อย ๆ ว่าการที่จะค้นพบตนเองได้นั้น เราจะต้องมองเข้าไปในโลก และการที่จะรู้จักโลกรอบตัวเรานั้น เราก็ต้องมองเข้าไปภายในตัวเรา

จึงถือได้ว่าเราอยู่บนเส้นทางของการพัฒนาซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง โดยความต้องการการดูแลจากเราทำให้เขาเติบโตขึ้น และความรักและความเอาใจใส่ของเราส่งเสริมให้เขาเติบโตขึ้น

"และบ่อยครั้งที่ความภาคภูมิที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในตัวลูกของเราสามารถเปิดตาเราให้เห็นในสิ่งที่มองข้ามไป ความมหัศจรรย์เกิดขึ้นพร้อมคำกระซิบว่า “ดูสิแม่” รุ้งกินน้ำในแอ่งน้ำที่มันวาว กลีบดอกไม้ที่มีสีที่เราไม่รู้ว่าเรียกว่าสีอะไร ฉันรู้สึกขอบคุณลูก ๆ ที่เปิดตาและใจของฉันในหลาย ๆ ทาง โชคดีที่ลูก ๆ ไม่ได้อยู่กับที่และเช่นเดียวกับเรา จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ"





โดยอิงอิง เทคนิคการปั้นแปะของ Clay work ค่ะ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ค่ะ









โดยชิงชิง (ดาวเคยกระพริบได้)
ใช้การทำแอนนิเมชั่นสำเร็จรูปของเวป //www.miniclip.com ค่ะ
ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ค่ะ


ขอขอบคุณ BG สวย ๆ จากเพื่อน ๆ ในบล็อกแก๊งค์ค่ะ




 

Create Date : 30 มีนาคม 2552
12 comments
Last Update : 31 กรกฎาคม 2555 21:42:35 น.
Counter : 1116 Pageviews.

 

สวัสดียามเย็นวันจันทร์ค่ะคุณเค็น...
ขอคารวะในผลงานการแปลและเรียบเรียงเลยค่ะ...

 

โดย: Devonshire 30 มีนาคม 2552 19:48:35 น.  

 

ดีใจจังค่ะที่พี่แดงชม เพราะเค็นยกให้พี่เป็น best diaryist

 

โดย: chinging 30 มีนาคม 2552 23:04:35 น.  

 

มาเยี่ยมบล๊อคค่ะ

 

โดย: ก้าวไปตามใจฝัน 31 มีนาคม 2552 16:14:20 น.  

 

 

โดย: chinging 1 เมษายน 2552 12:01:02 น.  

 

คุณเค็นขา
อ่านแล้วได้สติค่ะ

คิดบวกค่ะ คิดบวก มองสิ่งที่ดีชีวีมีสุขค่ะ
ได้ทำข้อ1 โดยบังเอิญค่ะ เพราะมีโอกาสได้
เย็บ(ด้วยมือ)กางเกงผ้าพื้นเมืองให้ปั้นใส่สงกรานต์ที่จะมาถึง (ปกติต้องใส่ทุกวันศุกร์ค่ะ)ไปซื้อมาค่ะแล้วได้แต่เสื้อ เลยซื้อผ้ามาให้คุณยายตัดให้ ทีนี้แกะแบบจากเดิมที่เคยซื้อมา ปรากฏว่าเค้าเย็บ ต่อตะเข็บด้วยมือทั้งตัวเลยค่ะ พอมานั่งลงมือเย็บเอง เย็บจนนิ้วบวม คิดได้ว่าชุด350บาทนั้นไม่แพงเลย ไม่น่าไปต่อคุณยายเหลือ300บาท เล้ยเรา

จะบอกแค่ว่ามีโอกาสได้คิด ได้พิจารณา ได้สติโดยไม่วอกแวกเลยค่ะ

ปล. เสร็จเมื่อไหร่จะถ่ายรูปมาให้ชมนะคะ

 

โดย: ขวัญ IP: 118.172.26.216 1 เมษายน 2552 20:34:21 น.  

 

จะบอกว่าไม่ใช่อย่างนั้นค่ะคุณขวัญ ต้องโทษคนแปลไม่ดีและย่อเกินไปค่ะ คือว่าต้องคิดอยู่ในใจ ไม่ต้องลงมือทำอะไร แม้แต่วัตถุก็ไม่เอามาตั้งตรงหน้า(คิดว่่าเป็นเพราะว่าจะผิดวัตถุประสงค์ กลายเป็นฝึกสมาธิไปแทนน่ะค่ะ)

ทำยากมาก ๆ เลยค่ะ ทั้งข้อ 1 และข้อ 2 ขอบอก

 

โดย: chinging 1 เมษายน 2552 22:30:16 น.  

 

รูปในกล่องคอมเม้นท์ 55 ไม่ได้วาดเองค่ะ
แต่ก็กำลังหัดวาดพวกดอกไม้ใบหญ้าอยู่ ยังไม่เหมือนเลย สวยแล้วคงได้เอามาอวดบ้างค่ะ

 

โดย: ก้าวไปตามใจฝัน 2 เมษายน 2552 12:02:28 น.  

 

อุอุอุอุ
งั้นลองใหม่ค่ะ เอาแค่นึกนะคะ
ท่าจะยากไม่ใช่เล่น

 

โดย: ขวัญ IP: 118.172.53.147 3 เมษายน 2552 8:37:36 น.  

 

อ่านแล้วรู้สึกว่า ห่างไกลตัวเองอย่างไรชอบกลค่ะ

และสารภาพว่า ทำได้และทำทุกวันแค่ 2 ข้อเท่านั้นเอง คือ ข้อ 4 และข้อ 5 ส่วน 1-2-3 โดยเฉพาะ 6 เป็นสิ่งที่ทำยากจังเลยค่ะ

ท้ายสุด ขอชื่นชมการแปลและเรียบเรียงค่ะ วันหลังฝาก Journal ไปให้แปลบ้างได้เปล่า หุ หุ

 

โดย: แนน AS IP: 58.137.217.249 3 เมษายน 2552 12:58:22 น.  

 

รอดูรูปนะคะคุณก้าวไปตามใจฝัน(เห็นชื่อแล้วอยากเปลี่ยนชื่อให้เป็นแนว ๆ นี้บ้าง)


ดีใจจัง ที่คุณขวัญ กลับมาอีกที จนป่านนี้เค็นก็ยังทำไม่สำเร็จเลยค่ะ

หุหุหุ แล้วห้ามริบคำชมคืนนะคะ หลังแปล jornal ให้แล้วน่ะ

 

โดย: chinging 3 เมษายน 2552 22:28:22 น.  

 

ยาวจัง...ขออภัยที่ผมอ่านบล็อกนี้ไม่จบครับ
ผมแพ้ text book แบบไม่มีรูปภาพประกอบน่ะครับ แหะๆ


แต่มองผ่านๆ แล้ว ท่าทางจะมีประโยชน์มาก

 

โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก 9 เมษายน 2552 21:06:29 น.  

 

คุณทุเรียน ขออภัยเช่นกันค่ะ กลัวย่อกว่านี้จะไม่เข้าใจน่ะค่ะ แบบนี้บล็อกหน้าจัดให้รูปเยอะกว่าตัวหนังสือค่ะ

 

โดย: chinging 11 เมษายน 2552 21:29:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


chinging
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]








INVITING THE BELL TO SOUND


Body, speech, and mind in perfect oneness-
I send my heart along with the sound of the bell,
May the hearers awaken from forgetfulness
and transcend all anxiety and sorrow.


HEARING THE BELL


Listen, listen,
this wonderful sound
bring me back
to my true self.


THICH NHAT HANH






9 Latest Blogs
ขอขอบคุณ คุณSevenDaffodils
ในคำแนะนำวิธีการทำ Latest Blogs ค่ะ



New Comments
Group Blog
 
 
มีนาคม 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
30 มีนาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add chinging's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.