เมื่อวานนี้ (3 กุมภาพันธ์) เป็นวันครบรอบวันเกิดของ Norman Rockwell
คนจำนวนหนึ่งเรียกร็อกเวลล์ ว่าเป็นจิตรกร ในกลุ่ม นักวาดภาพประกอบ
แต่ผม และคนอีกจำนวนไม่น้อย ค้อมศีรษะคำนับให้ ร็อกเวลล์ เป็น ศิลปิน
ผมใช้คีย์เวิร์ด norman rockwell จิตรกร เสิร์จหาในกูเกิ้ล และเลือกใช้ข้อมูลจาก เวบไซต์ //www.thaisarn.com/th/news_reader.php?newsid=472458 ที่อ้างอิงจากวิกิพีเดีย อีกทีหนึ่ง
ตัดทอนและเรียบเรียงเล็กน้อย หากมีข้อมูลคลาดเคลื่อนประการใด ย่อมเป็นเพราะความบกพร่องของผมเอง และหากมีที่คลาดเคลื่อนจริงๆ ก็ต้องขออภัยทั้งเจ้าของแหล่งข้อมูลและผู้ที่อ่านทุกท่านด้วยครับ
Norman Percevel Rockwell
เกิดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1894 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังจากศึกษาจบชั้นมัธยมปลาย Rockwell เข้าเรียนที่ Chase Art School ต่อด้วย National Academy of Design และ Art Students League of New York ตามลำดับ
Rockwell เริ่มเขียนภาพประกอบตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน จนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1912 ขณะที่อายุได้ 18 ปี หนุ่มน้อย Rockwell มีโอกาสเขียนภาพประกอบในหนังสือ Tell Me Why: Stories about Mother Nature ที่เขียนเรื่องโดย Carl H. Claudy จากนั้นก็เขียนภาพให้ St. Nicholas Magazine และหนังสือสำหรับเด็กอีกหลายต่อหลายฉบับ รวมถึงได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการศิลปะของ Boys' Life ในปีถัดมา
เมื่ออเมริกาเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 Rockwell สมัครเข้าประจำการในกองทัพเรือ จนกระทั่งปลดประจำการ ก็กลับมาหางานทำที่นิวยอร์กอีกครั้ง หลังจากนั้นไม่กี่ปี อเมริกาก็เริ่มรู้จักชื่อ Norman Rockwell จากภาพประกอบชื่อ "Boy with Baby Carriage" และนั่นคือประตูบานสำคัญที่เปิดให้ Rockwell ก้าวผ่านสู่ความเป็นจิตรกรอย่างเต็มตัว
ภรรยาคนแรกของ Rockwell ชื่อ Irene OConnor หนึ่งในสุภาพสตรีที่เคยเป็นแบบให้เขาวาด แต่ก็ต้องหย่ากันในปี ค.ศ. 1930
จากนั้น Rockwell ก็แต่งงานอีกครั้งกับครูสาว Mary Barstow แม่หม้ายลูก 3 และย้ายไปอยู่ที่ Arlington,Vermont ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการวาดภาพชีวิตสังคมอเมริกัน โดยมีสนามแสดงฝีมือเป็นปก "The Saturday Evening Post" ที่หลายภาพกลายเป็นภาพในความทรงจำของคนหลายล้านคนในเวลาต่อมา
ภาพเขียนส่วนใหญ่ของ Norman Rockwell มักสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนอเมริกันทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนอกจากจะมีฝีแปรงที่น่าทึ่งแล้ว Rockwell ยังใส่ใจอย่างที่สุดกับรายละเอียด ทั้งการแต่งตัว สรีระ ทรงผม สีผม สีหน้าท่าทาง รวมถึงการจัดวางองค์ประกอบภาพที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกราวกับว่า ได้เห็นและได้ฟังเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง ทั้งๆ ที่ได้ชมภาพวาดเพียงภาพเดียว
และแม้จะมีสำเนียงเสียดสีปรากฏอยู่ในภาพ (โดยเฉพาะภาพที่แสดงถึงชีวิตของผู้ใหญ่) อยู่บ่อยครั้ง แต่ Rockwell ก็ไม่เคยลืมแต้มอารมณ์ขันลงในภาพเหล่านั้น ซึ่งนั่นทำให้เขากลายเป็นจิตรกรที่คนอเมริกันรักมากที่สุดคนหนึ่ง (แน่นอน ผมก็แอบหลงรักเขาด้วยเหมือนกัน : หัวใจไข้ขึ้น)
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 Rockwell เขียนภาพชุด Four Freedoms พร้อมๆ กับที่สุขภาพของเขาเริ่มทรุดโทรมลง การแต่งงานครั้งที่ 3 ของเขามีขึ้นใน ปี ค.ศ. 1961 กับ Molly Punderson
และทั้งๆ ที่ สุขภาพไม่ค่อยดีนัก แต่จิตรกรผู้มีพลังสร้างสรรค์มหาศาลคนนี้ก็ยังคงสร้างผลงานอยู่อย่างต่อเนื่อง คนอเมริกันส่วนใหญ่ยอมรับว่า ภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Rockwell คือ ภาพชุด
"Four Freedoms"
อันเป็นโปสเตอร์ที่ถ่ายทอดสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี รูสเวลท์ ซึ่งกล่าวถึงเสรีภาพทั้ง 4 นั่นคือ
Freedom from Want Freedom of Speech Freedom to Warship และ Freedom of Fear
ภาพทั้งหมดถูกนำทยอยลงตีพิมพ์ในหนังสือ The Saturday Post
แต่สำหรับตัวจิตรกรเอง มักบอกใครต่อใครอย่างเจาะจงว่า ภาพหนึ่งในสี่จาก Four Freedoms คือ "Freedom of Speech"
เป็นงานชิ้นที่ดีที่สุดของเขา
Norman Rockwell ถึงแก่กรรมด้วยโรคถุงลมโป่งพอง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1978 ในวัย 84 ปี
ผลงาน 574 ภาพของเขา จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่ Stockbridge Massachusetts
สหรัฐอเมริกา...
นี่คือเรื่องราวของศิลปินที่ผมดูงานได้ไม่รู้เบื่อครับ
ภาพแรกๆ ที่ผมเห็นและทำให้ประทับใจผลงานของร็อกเวลล์เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ คือภาพทหารหนุ่มคนหนึ่งที่กลับจากสนามรบมาหาครอบครัว
ครั้งแรก ผมเห็นภาพนี้ใน Reader Digest เมื่อราวสามสิบปีก่อน ความจริงผมเดาเอาว่า ร็อกเวลล์คงวาดภาพนี้ตอนที่ยังอยู่ระหว่างทางของพัฒนาการ เพราะภาพคนที่อยู่ในนั้นดูยังไม่ค่อยสมจริงเหมือนงานยุคหลัง แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นภาพที่ เต็มไปด้วยความรู้สึก ทั้งความรู้สึกของผู้อยู่ในภาพ ความรู้สึกในฐานะ คน ของผู้วาด ไปจนถึงความรู้สึกในฐานะ คนอเมริกัน ของผู้วาดด้วย
ในสายตาผม อเมริกาดูจะเป็นชาติที่มองว่าตัวเอง ก้าวหน้า กว่าคนอื่นในทุกๆ เรื่อง ซึ่งส่งผลให้มองชาติรอบตัวหลายชาติพันธุ์ (อาจยกเว้นบ้างก็แถวยุโรปบางประเทศที่เป็นต้นตระกูลของพวกเค้า) ว่า ยังต้องพัฒนา เพื่อให้เดินตามหลังอเมริกาได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ประกอบกับการต้องปกป้อง ระบอบประชาธิปไตย และ ระบบทุนนิยม ของตัวเอง ก็เลยต้องเป็นลูกพี่ใหญ่จัดโน่นจัดนี่ในโลกไปเรื่อย
ซึ่งเป็นเรื่องน่าหมั่นไส้ไม่ใช่น้อย และถึงขั้นเห็นแก่ตัวโหดร้ายไร้เหตุผลในหลายๆ กรณี
แม้จะไม่ชอบอเมริกาอย่างไร แต่เมื่อเห็นภาพภาพนี้ของร็อกเวลล์ ก็ทำให้รู้สึกว่า คนอเมริกันก็นับว่าน่าเห็นใจ ในฐานะ คน คนหนึ่ง ที่รักชีวิต รักครอบครัว อยากอยู่อย่างสงบสันติและมีความหวัง
เมื่อทหารหนุ่มคนหนึ่งรอดชีวิต (อย่างสมประกอบ) มาจากสนามรบ สองแขนแม่ที่อ้าพร้อมโอบ กับพ่อที่ปกปิดความดีใจในสีหน้าเอาไว้ไม่อยู่ น้องสาวคนโตกอดเสาตะโกนเรียก น้องชายตัวแสบกระโจนพรวดลงมาหา กับน้องสาวน้อยๆ ที่กำลังตามมาติดๆ และแม้แต่หมาก็ปรี่เข้าหาเจ้าของผู้หายหน้าไปนานเหลือเกิน...
มันคงเป็นนาทีที่ทุกครอบครัวในโลกน่าจะรู้สึกแบบเดียวกัน หากอยู่ในสถานการณ์ดุจเดียวกัน
ความเก่งกาจของร็อกเวลล์ก็คือ ผู้หญิงที่สำคัญที่สุด ถูกจัดเอาไว้กลางภาพอย่างเหมาะเจาะ เพื่อดึงดูดสายตาเราทันทีที่มองภาพ นั่นก็คือแม่ของทหารหนุ่ม
แต่ผู้หญิงที่ทำให้ภาพมีเสน่ห์ที่สุด ชวนฝันที่สุดคือหญิงสาวที่แอบอยู่มุมตึก สายตาท่าทีที่มองมายังชายหนุ่มมันเต็มไปด้วยความหมาย และมีคำถามมากมายที่เธออยากรู้จากปากชายหนุ่มที่เธอเฝ้ารอคอยเขากลับมา ท่าทีดีใจปนเขินอายจนต้องแอบดูอยู่ไกลๆ ทำให้เรารู้ว่า ทั้งคู่เป็นเพียงคู่รักที่ยังไม่ได้คบหากันอย่างเปิดเผย
ร็อกเวลล์ทำได้! เอานางเอกไปไว้ที่มุมตึก - ริมภาพ (ความจริงถ้าเป็นภาพเต็มจะไม่ริมขนาดนี้) โดยที่เราไม่รู้สึกว่าเธอเป็นส่วนเกินเลยซักนิด!
เสน่ห์อีกอย่างสำหรับผมคือ ชีวิตของคนอเมริกันอย่างทหารหนุ่มนายนี้ เป็นชีวิตของคนอเมริกันส่วนใหญ่ในสมัยนั้น (ซึ่งก็น่าจะยังเป็นเช่นนั้นอยู่ในปัจจุบัน) บ้านรวมอุดอู้ในถิ่นอัตคัดกลางเมืองใหญ่
อาจดูแร้นแค้นอย่างน่าคับแค้นเมื่อเทียบกับเคหสถานของนักการเมืองและนักธุรกิจใหญ่โต แต่หลายคราวก็อบอุ่นแบบที่อาจหาไม่ได้ในบ้านหลังใหญ่ของพวกเศรษฐี เพราะเค้ามีครอบครัวที่เปี่ยมรัก มีเพื่อนบ้านที่แย้มประตูมายิ้มรับพลอยดีใจ แม้แต่พวกทโมนที่ปีนป่ายอยู่บนต้นไม้ยังยินดีกับการกลับบ้านของทหารหนุ่ม
และพินิจดีๆ มีเด็กต่างสีผิวอยู่ร่วมในโลกใบนี้ด้วย
นั่นแหละครับ Norman Rockwell
Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2553 |
|
9 comments |
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2553 19:04:44 น. |
Counter : 6100 Pageviews. |
|
|
|
แต่ไม่เคยอ่านประวัติของเขาเลย
ขอบคุณที่เอามาลงให้อ่านค่ะ