ป่ารักน้ำ เพลงถวายพระพร
เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
คำที่ใช้หมายถึง ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศมีหลายคำ เช่น พระมหากษัตริย์ พระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัว พระราชา พระราชาธิบดี พระจักรพรรดิ์ ในหลวง แต่ละคำมีที่ใช้ต่างกัน คำว่า พระมหากษัตริย์ เป็นคำที่รับมาจากภาษาสันสกฤตมีความหมายว่า ผู้ดูแลพื้นที่ทำการเกษตร หรือผู้ปกครองผืนแผ่นดินทั้งหมด คำว่า พระมหากษัตริย์ เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่ทำหน้าที่หัวหน้าปกครองคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เช่น ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก เป็นคำที่ใช้สำหรับกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ของไทยองค์ปัจจุบันเท่านั้น เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม ทำให้ประชาชนชาวไทยและผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นสุขสืบต่อกันมานานกว่า ๕๐ ปี แล้ว ตามวัฒนธรรมไทยแต่โบราณมา เราไม่นิยมออกชื่อผู้ใหญ่ต่อหน้า แต่จะเลี่ยงใช้คำอื่นแทนผู้ที่เราพูดด้วยนั้น ดังนั้น เมื่อจะกล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อแสดงความเคารพยกย่องสูงสุด จึงใช้ คำว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งแปลว่า เท้าของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าอยู่บนศีรษะ เป็นสำนวนที่แสดงให้เห็นว่า ผู้พูดยกพระเจ้าแผ่นดินขึ้นเทิดทูนไว้สูงสุด โดยขอให้พระบาทของพระองค์ท่านอยู่เหนือศีรษะของตน และเมื่อกล่าวถึงพระองค์ก็ขอใช้คำอ้างถึงเฉพาะพระบาทของพระองค์ท่านเท่านั้น เป็นคำภาษาไทย มีความหมายว่า ผู้เป็นเจ้าของแผ่นดิน ผู้เป็นใหญ่เหนือทุกคนในแผ่นดิน เป็นคำที่มีน้ำเสียงเป็นทางการน้อยกว่าคำว่า พระมหากษัตริย์ จึงมักใช้ในการกล่าวถึง ในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พงศาวดาร เรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินต่างชาติ หรือในนิทาน เช่น ประเทศไทยใช้หลัก "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" มาใช้ในการตั้งพระเจ้าแผ่นดิน "มางลองปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมืองพม่า พระเจ้ามินดุงดูเหมือนจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงมีราชธรรมต่างๆ มากที่สุด" ( ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, พม่าเสียเมือง) กาลครั้งหนึ่ง มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งทรงพระนามว่า... เป็นคำลำลอง ที่ใช้เมื่อกล่าวถึงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์โดยทั่วไป เป็นการสร้างคำโดยใช้คำที่มีความหมายตรงกันข้ามมาเข้าคู่กัน เมื่อมีคำว่า เจ้าแผ่นดิน จึงนำคำว่า เจ้าฟ้า มาเข้าคู่ เป็น เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เช่น ถึงแม้ประเทศเราจะไม่ได้ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ประชาชนคนไทยก็ยังมีความจงรักภักดีต่อเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอยู่ไม่เสื่อมคลาย ท่านเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอย่าให้ท่านต้องทำอะไรที่จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศเป็นอันขาด พ่อหลวง เป็นคำในภาษาถิ่นพายัพ หรือถิ่นเหนือ เป็นคำเรียก ผู้ใหญ่บ้าน เช่น พ่อหลวงบ้านร่มหลวง พ่อหลวงบ้านกาด พ่อหลวงบ้านหัวฝาย. ในภาคเหนือ เรียกภรรยาพ่อหลวง คือภรรยาผู้ใหญ่บ้านว่า แม่หลวง ในภาคใต้ เรียกพระภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาส ว่า พ่อหลวง การใช้คำว่า พ่อหลวง แทน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นการใช้คำที่ไม่สมควรอย่างยิ่งการนำคำภาษาถิ่นมาใช้ในภาษาภาคกลางเป็นเรื่องดี เพราะจะเป็นการรักษาภาษาถิ่นของเราไว้บ้าง แต่ควรจะเลือกใช้ให้ถูกความหมาย ผู้เขียน ศ. ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย สำนักศิลปกรรม thmusic.in.th ขอทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนานพระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธย เป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและพระเชษฐา คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เสด็จกลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคต ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมายุได้ไม่ถึงสองพรรษา และเมื่อมีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ได้เสด็จเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์ เดอี กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ในโรงเรียนเมียร์มองต์ ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นูแวล เดอ ลา ชืออิส โรมองต์ เมืองแชลลี ชือ โลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จาก ยิมนาส กลาชีค กังโดนาล แห่งเมืองโลซานน์ แล้วทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ในพุทธศักราช ๒๔๗๗ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ และได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในพุทธศักราช ๒๔๘๑ โดยประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นการชั่วคราว แล้วเสด็จกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๘๘ จึงโดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในครั้งนี้ ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ แทนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (พระนามเดิม หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศ ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านักขัตรมงคล เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ และในพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่าพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) และหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร ต่อมาทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า เ พื่ อ ป ร ะ โ ย ช น์ สุ ข แ ห่ ง ม ห า ช น ช า ว ส ย า ม และในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ
ในพุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทรงผนวช ด้วยทรงพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ที่ประชาชนของพระองค์เลื่อมใสกันอยู่เป็นจำนวนมาก ยิ่งทรงมีโอกาสคุ้นเคยกับหลักการและทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ระหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ก็ทรงมีพระราชศรัทธายิ่งขึ้น เพราะได้ประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า ธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยเหตุผลและสัจจธรรม แม้ผู้ใดจะวิจารณ์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ก็จะไม่เสื่อมถอยในความนิยมเชื่อถือ ทั้งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบูรพการีตามคตินิยมอีกโสตหนึ่งด้วย จึงได้เสด็จออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เสร็จการพระราชพิธีทรงผนวชแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตลอดเวลา ๑๕ วันที่ทรงผนวชอยู่ และจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกันนั้นเอง และในพุทธศักราช ๒๕๐๐ ทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จนถึงปัจจุบัน ความเป็นครูในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช1
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม และทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนไทยและเพื่อความวัฒนาสถาพรของบ้านเมือง พระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อมประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั่วผืนแผ่นดินไทย ทรงเป็นอภิปูชนียบุคคลผู้ดำรงธรรม์ และเปี่ยมล้นด้วยพระคุณลักษณะแห่งความเป็นครู ทรงประพฤติปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างในทุกสถาน ทรงมีพระราชจริยวัตรอันงดงาม ล้ำเลิศด้วยพระเมตตาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ กอปรด้วยพระปรีชาสามารถอันไพศาล และพระบรมราชานุกูลต่อวงการศึกษาและผู้ประกอบอาชีพครู จึงทรงเป็น "ครุราชันย์" "บรมครู" "พระบิดาของครูไทย" ทรงเป็นแบบอย่างของครูและพสกนิกรโดยแท้
พระคุณลักษณะแห่งความเป็นครู พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชมีพระคุณลักษณะแห่งความเป็นครูอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ประมวลได้ดังนี้ 1. ความรอบรู้ ทรงเป็นอัจฉริยะกษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถหลายสถาน ครอบคลุมทุกสาขาวิทยาการ ดังเป็นที่ประจักษ์จากการที่มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพบว่าครอบคลุมทั้งทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อาทิ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ นิติศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ ธุรกิจ บริหาร นิเทศศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ศาสตร์ แพทยศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง เกษตรศาสตร์ และไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น 1รศ.ดร.ชุติมา สัจจานันท์. สารเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและงานวิจัย ปีที่ 8. สำนักวิจัยและบริการวิชาการ. สถาบันราชภัฏธนบุรี. 2542. 1-14. มหาวิทยาลัยและสถาบันในต่างประเทศหลายแห่งได้ขอพระราชทานทูลเกล้า ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระองค์ด้วย สาระของประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ ล้วนยืนยันถึงองค์รวมแห่งวิชาการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระเกียรติยศด้านวิชาการในทุกสาขาวิชา พระอัจริยะภาพ พระปรีชาญาณด้านวิชาการอย่างลึกซึ้งรอบด้าน การทรงนำความรู้และหลักวิชาการนั้นๆ รวมทั้งหลักวิชาการสาขาวิชาศึกษาศาสตร์มาสู่การปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้อย่างสัมฤทธิผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนอำนวยประโยชน์อย่างกว้างขวางในการพัฒนาคนและการพัฒนาบ้านเมือง2 2. ความใฝ่รู้ ทรงศึกษาวิทยาการอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งโดยการศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง การสังเกต การทดลอง การวิจัย ทรงแสวงหาและใช้ข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ทรงศึกษาข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ สภาพอากาศจากแผนที่และข่าวอากาศ ทรงศึกษาข้อมูลจากแหล่งต้นตอ เสด็จไปทอดพระเนตรและทรงหาข้อมูล ณ พื้นที่จริง ทรงไต่ถามข้อมูลเพิ่มเติมจากราษฎรในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ผู้อยู่ในพื้นที่ ผู้รับผิดชอบ ทรงปรึกษาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ทรงประชุมปรึกษาหารือร่วมกับข้าราชการนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และทรงตรวจสอบเทียบเคียงข้อมูลที่ได้รับอย่างถี่ถ้วน "เวลาเสด็จฯ ไป ก็ต้องถามชาวบ้านว่าสถานที่นั้นอยู่ที่ไหน และทางทิศเหนือมีอะไร ทางทิศใต้มีอะไร ท่านถามหลายๆ คน เช็คกันไปมา ระหว่างที่ถามนั้นก็จะดูแผนที่ว่าแผนที่นั้นจะถูกต้องหรือเปล่า น้ำจะไหลจากทางไหนไปทางไหน บางครั้งแผนที่ไม่ถูกต้อง ท่านก็ตรวจสอบได้เพราะมีเจ้าหน้าที่จากกรมแผนที่ตามเสด็จด้วย ก็เรียกมาชี้ดู ตรงนี้จำเป็นต้องแก้ไข" (หน้า45) "public hearing ความจริงทรงทำมาก่อนล่วงหน้านั้นแล้ว ทรงทำอะไรหลายอย่างก่อนคำนั้นจะเกิด ไม่ว่าจะเป็น ไอที ทรงทำมาจะ 40 ปี public hearing นั้น ก็คือเมื่อประทับกับประชาชนไต่ถามถึงปัญหา ประชาชนก็จะป้อนปัญหาสู่พระองค์ท่าน พระองค์ท่านก็จะตรวจสอบข้อมูล แล้วก็จะพระราชทานวิธีการแก้ไขว่าควรทำอย่างไร..." (หน้า 46)3 2ทบวงมหาวิทยาลัย.จดหมายเหตุคำประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่สถาบันอุดมศึกษาขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พฤษภาคม 2493-มกราคม 2539).กรุงเทพมหานคร:คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี, 2539.(จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี). 3สุเมธ ตันติเวชกุล "ในหลวงกับการพัฒนาประเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ" ใน ไอทีเพื่อประชาชน,หน้า 43-53.กรุงเทพมหานคร:สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ,2538. ทรงใช้ข้อมูลหลากหลายรูปแบบ เช่น แผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม สำรวจทรัพยากร ดาวเทียมอุตุนิยมและข้อมูลสนาม ทรงทดลองและใช้คอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง ทรงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาในหลายโอกาสล้วนเน้นย้ำว่าการศึกษามิได้สิ้นสุดเมื่อได้รับปริญญา ให้มีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ต่อเนื่อง การเรียนรู้ตลอดชีวิตเพราะโลกเปลี่ยนแปลง มีความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา พระคุณลักษณะนี้สะท้อนถึงความเป็นครูและนักวิชาการโดยแท้ 3. ความใจกว้าง ทรงมีพระราชฤทัยกว้างขวาง ทรงเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของครูและนักวิชาการ ในคำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถวายปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเกษตรศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2532 มีความตอนหนึ่งที่สะท้อนพระคุณลักษณะดังกล่าว "ก่อนที่โครงการตามพระราชดำริแต่ละโครงการจะเกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาพิจารณาและปรึกษาอย่างรอบคอบกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และตัวแทนราษฎรในท้องถิ่นนั้น โดยทรงเน้นอยู่เสมอว่า พระราชดำริเป็นเพียงข้อเสนอแนะ ขอให้ช่วยกันทักท้วงแก้ไข เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งยังประสานสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจและนโยบายของทางราชการด้วย เมื่อเริ่มดำเนินงานตามโครงการแล้วก็จะทรงติดตามผลงาน ความก้าวหน้า ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคทุกระยะเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด 4. การใช้ภาษาและการสื่อสาร ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านภาษาแม้จะทรงเจริญพระชันษาในวัยเยาว์ในต่างประเทศ แต่ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการใช้ภาษาไทย ทรงใช้ภาษาไทยถูกต้องกะทัดรัด ชัดเจน ลุ่มลึก มีอรรถรส แสดงถึงระเบียบ ความประณีต และความงดงามแห่งภาษา ดังประจักษ์ได้ในพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระราชกระแส พระราชนิพนธ์ที่เผยแพร่สู่ธารณชนและสู่บรรณพิภพ ทรงห่วงใยการใช้ภาษาไทยซึ่งในระยะหลังมีการใช้ผิดพลาดอยู่บ่อยๆ ได้ทรงมีพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสในหลายโอกาสถึงปัญหาการใช้คำไทย การบัญญัติศัพท์ การออกเสียงวรรณยุกต์ ทรงเตือนใจให้คนไทยเห็นคุณค่าของภาษาไทยและช่วยกันทำนุบำรุงรักษาภาษาไทย นอกจากภาษาไทยแล้วยังทรงใช้ภาษาสากล คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันได้ดีทุกทักษะ ทั้งการอ่าน การเขียน การพูด การฟัง ทรงชี้ให้เห็นว่าครูควรมีความสามารถในการใช้ภาษา ดังได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้นำศาสนาอิสลาม (อิหม่าม) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เขตการศึกษา 2 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2530 ความตอนหนึ่งว่า "ภาษาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด รวมทั้งคุณธรรม ความดีทุกอย่าง ผู้ที่เป็นครูและเป็นผู้นำทางศาสนา จึงจำเป็นต้องมีความรู้ทางภาษาอย่างแตกฉาน เพื่อนำไปใช้ในการสอนวิชา การอบรมศีลธรรมจรรยา ตลอดจนการศึกษาหลักธรรมในศาสนาให้ได้ผลสมบูรณ์ ตามภาระรับผิดชอบของแต่ละคน ความสามารถจัดเจนในภาษานี้ยิ่งมีสูงเท่าใด ก็จะอำนวยประโยชน์ให้กว้างขวางมากขึ้นเท่านั้น" ทรงมีความสามารถในการสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นยิ่งสำหรับครูในยุคปัจจุบัน ทรงเป็นนักวาทนิเทศที่มีพระอัจฉริยะภาพยิ่ง ทรงสามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติศาสนา เพศ วัย ถิ่นที่อยู่อาศัยด้วยภาษาเรียบง่ายเป็นกันเอง ทรงสามารถโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังยอมรับและปฏิบัติตามได้โดยง่าย ทรงรอบรู้ในเครื่องมือสื่อสารและ ทรงเป็น "นักเทคโนโลยีการสื่อสาร" ผู้เป็นเลิศ ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารรับทราบข้อมูลข่าวสารและกระจายข่าวสารถึงประชาชน ทรงเชี่ยวชาญในการถ่ายภาพและภาพยนตร์ และทรงนำไปใช้เพื่อสนองพระราชกรณียกิจในการพัฒนา รวมทั้งได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ด้วย สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าฯถวายพระเกียรติ Telecom Man of the Nation แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อ 4 เมษายน พ.ศ. 2539 ด้วยพิจารณาเห็นว่า พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถยิ่งทางด้านโทรคมนาคม ทรงสนพระทัยศึกษาความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีโทรคมนาคม ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ทรงคิดค้น ดัดแปลง และใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่ทันสมัยทุกประเภทในการติดต่อสื่อสารต่างๆ เป็นผลดียิ่งต่อการช่วยเหลือ ให้การสงเคราะห์พสกนิกร โดยเฉพาะในท้องถิ่นทุรกันดาร ช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศซึ่งรัฐบาลรับผิดชอบดำเนินการอยู่ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง "มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาถวายการยกย่องแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็น "นักวัตกรรมทางการสื่อสาร" ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงโยงการคิดค้นทฤษฎีใหม่ๆ ที่ทรงสร้างขึ้นจากบริบทไทย ทรงมีวิธีการสื่อสารให้เข้าถึงกระแสจิตของคนไทยทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้นอย่างไร้พรมแดน พระองค์ทรงประยุกต์ใช้การสื่อสารเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่มหาชน ด้วยทรงศึกษาและรู้จักกลุ่มชนผู้รับสารอย่างลึกซึ้ง ทรงสร้างและพัฒนาข่าวสาร โดยทรงเลือกใช้สื่อให้เหมาะสมและเข้าถึงผู้รับสารอย่างมีประสิทธิผล ให้บรรลุผลตรงเป้าหมายของการสื่อสารอย่างแท้จริง"4 5. การสอน ทรงมีเทคนิค วิธีการสอน การถ่ายทอดความรู้ ได้พระราชทานความรู้ในศาสตร์และศิลป์ทั้งปวงเพื่อประโยชน์อันยั่งยืนแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้อย่างเหมาะสม ชัดเจนเช่นเดียวกับครูสั่งสอนศิษย์ เทคนิควิธีการสอน การถ่ายทอดความรู้ของพระองค์หลากหลายเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและลักษณะเนื้อหา 4ทบวงมหาวิทยาลัย.จดหมายเหตุคำประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่สถาบันอุดมศึกษาขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พฤษภาคม 2493-มกราคม 2539).กรุงเทพมหานคร:คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี, 2539.(จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี). ทรงปฏิบัติให้ดูหรือสาธิต และทรงสอนโดยให้ลงมือปฏิบัติ ทำให้ผู้เรียนรู้เกิดความเข้าใจลึกซึ้ง เห็นจริงด้วยการปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสในโอกาสที่คณะผู้อำนวยการและอาจารย์ใหญ่จากโรงเรียนต่างๆ ในเขตอำเภอดุสิต "กลุ่มจิตรลดา" เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย เมื่อ 18 มีนาคม 2523 มีความตอนหนึ่งขออัญเชิญมาดังนี้ "ถ้าไปพิจารณาว่าจะต้องสอนให้ได้วิชาการให้มากที่สุด แต่ละเลยความรู้ในทางปฏิบัติก็จะทำให้การศึกษาเป็นหมัน" โดยทรงเน้นอย่างมากในพระราชกรณียกิจของพระองค์ เช่น โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โครงการศูนย์การศึกษาพัฒนาอันเนื่องมากจากพระราชดำริ โครงการประมงพระราชทาน โครงการพัฒนาชาวเขา ธนาคารข้าว ธนาคารโคกระบือ ทรงมีพระราชดำริถึงการปฏิบัติฝึกฝนว่า "การเรียนรู้โดยลักษณะนี้จักเป็นขั้นสูงสุดที่จะพึงศึกษาฝึกฝนได้" ทรงเล็งเห็นว่าการฝึกปฏิบัติมีความสำคัญไม่น้อยกว่าภาคทฤษฎี ทำให้เกิดความรู้ที่แจ่มชัด เสริมสร้างปัจจัยสำคัญของชีวิตในด้านอื่น เช่น ความขยันหมั่นเพียร ความละเอียดรอบคอบ ความอดทน และสู่เป้าหมายคือการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทรงสอนโดยการให้มีส่วนร่วม ทรงให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือร่วมใจกัน ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ตามครรลองวิถีประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักการและแนวคิดการศึกษาสมัยใหม่ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ โปรดให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น มีนักวิชาการสาขาต่างๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ราษฎร เข้ามาร่วมกันดำเนินงาน ทดลองการเรียนรู้ และนำความรู้กลับไปใช้ประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือโครงการหุบกระพง ทรงร่วมกับราษฎรในการพัฒนาพื้นที่ ทรงสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนคือราษฎรในโครงการ หรือพสกนิกรแต่ละหมู่เหล่า โดยการจัดโครงการและรูปแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ผู้สอนมีหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะสนับสนุน ประสานงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของตนเอง ทรงสอนโดยสื่อ ไม่ว่าจะเป็นบทพระราชนิพนธ์ ภาพเขียนฝีพระหัตถ์ ภาพถ่าย เพลงพระราชนิพนธ์ ดนตรี ล้วนได้รับการยกย่องในพระปรีชาสามารถทั้งในด้านหลักวิชาการอย่างลึกซึ้ง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพระองค์ วิจิตรบรรจง เลิศล้ำด้วยคุณค่า สามารถสื่อความหมาย สร้างสรรค์การเรียนรู้ ให้แง่คิด คติชีวิต เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ความสุนทรีย์ของชีวิต ทรงสั่งสอน อบรม ชี้แนะ พระราชทานพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระราชดำริต่างๆ ทั้งในโอกาสที่เป็นทางการ เช่น งานพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทย ซึ่งสำนักราชเลขาธิการรวบรวมพิมพ์เผยแพร่เป็นประจำ เพื่อการศึกษา ค้นคว้า อ้างอิง ยึดถือปฏิบัติสืบไป นอกจากนี้ ในระหว่างเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรและประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ ได้ทรงชี้แนะพระราชทานคำแนะนำและแนวทางอันเป็นประโยชน์ยิ่ง ทรงสอนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ โดยมองรอบด้าน ทั้งด้านสังคม และจิตใจ ทรงเน้นคุณค่าทางด้านจิตใจ คุณธรรมและจริยธรรม ทรงเป็นแบบอย่าง ทรงประพฤติปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีเลิศแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นฐานะในพระราชโอรสผู้เปี่ยมด้วยพระกตัญญตาคุณต่อพระราชชนนี พระราชบิดาของพระราชโอรส พระราชธิดา และในทุกฐานานุรูป นนท์ บูรณสมภพ ผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมากกว่า 40 ปี ได้ให้สัมภาษณ์ในนิตยสารผู้หญิง ฉบับที่ 260 ปักษ์แรก มิถุนายน 2539 (อ้างถึงใน มัทรียา ธาราทรัพย์ 2539:23) กล่าวเสริมในเรื่องนี้ไว้ว่า "พระองค์ท่านสอนคน... ด้วยการกระทำของพระองค์ท่าน พระองค์ท่านสอนให้ คนไทยมีความกตัญญูต่อบิดามารดา พระองค์ท่านสอนโดยที่ท่านไม่รับสั่ง แต่พระองค์ท่านสอนโดยทำเป็นตัวอย่าง จะเห็นว่าพระองค์เสด็จฯไปเสวยพระกระยาหารค่ำกับสมเด็จย่าทุกวันที่วังสระปทุม เมื่อสมเด็จย่าประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ในหลวงก็เสด็จฯไปเยี่ยมทุกวัน สมเด็จย่าสวรรคตแล้ว พระองค์ท่านก็ไปไหว้พระบรมศพในวังหลวงทุกวันอีกเช่นกัน นี่เป็นการแสดงถึงความกตัญญู พระองค์ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง.." 6. การค้นคว้า วิจัย ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างเป็นระบบ ด้วยวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ผลงานชิ้นสำคัญคือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริและพระราชทรัพย์ให้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น เป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากแหล่งชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม เป็นผลงานที่คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลผลงาน คิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2536 รางวัลที่ 1 ทั้งยังได้รับการจดสิทธิบัตรอีกด้วย ทรงตั้งห้องปฏิบัติการด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและงานวิจัยด้านอื่นๆ ในพระราชฐานบริเวณพระราชฐานสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เปรียบเสมือนห้องทดลองขนาดใหญ่ที่ทรงเริ่มทดลองโครงการตามพระราชดำริส่วนพระองค์ เมื่อได้ผลดีจึงพระราชทานให้เป็นแบบอย่างแก่ทางราชการนำไปปฏิบัติ ทรงมีพระราชปรีชาญาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทรงค้นคว้าวิจัย ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อกระจายสารนิเทศ ทรงใช้คอมพิวเตอร์ประดิษฐ์บัตรพระราชทานพรปีใหม่ พระราชทานพรทางโทรสาร ทรงพัฒนาระบบการจัดเก็บและค้นคืนสารสนเทศและพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา ต่อเนื่องจากโครงการเดิมเรื่องพระไตรปิฎก ฉบับคอมพิวเตอร์ นับเป็นโครงการที่นำวิทยาการชั้นสูงมาประยุกต์ใช้กับความรู้ทางด้านพุทธศาสนา ทั้งยังได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยและทรงวิจารณ์การออกแบบโปรแกรมสำหรับใช้ค้นคืนข้อมูลด้วย 7. การสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ ทรงมีพระอัจฉริยะภาพในด้านการเขียน ทรงสร้างสรรค์ผลงานเขียนและผลงานแปลล้ำค่า ประดุจเพชรเม็ดงามของบรรณพิภพ ให้คุณค่า สาระ คติและแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกร เป็นผลงานทางวิชาการที่ได้รับการนำไปใช้ในการศึกษา ค้นคว้าอ้างอิง อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในด้านเทคนิควิธีการเขียนและเทคนิคการแปล พระราชนิพนธ์ของพระองค์ ได้แก่เรื่อง พระราชานุกิจรัชกาล 8 เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์ พระมหาชนก พระราชนิพนธ์แปล ได้แก่เรื่อง ติโต นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และเศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา บทที่ 4 เล็กดีรสโต และยังมีบทความแปลอีก 10 เรื่อง ส่วนใหญ่ทรงแปลจากนิตยสาร ซึ่งตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ. 1975 นอกจากนี้พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชกระแส ที่พระราชทานในวโรกาสต่างๆ ได้รับการเผยแพร่ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศนวัสดุ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือเล่มสำคัญที่ดำเนินการจัดพิมพ์มาโดยต่อเนื่องและเป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญ คือ ประมวลพระราชดำรัส และพระราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ ซึ่งสำนักราชเลขาธิการจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นประจำทุกปี และยังทรงผลิตสารสนเทศรูปแบบอื่นๆ อาทิ โน้ตเพลง ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพยนตร์ แผนที่ อันล้วนทรงคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาของชาติเป็นเอนกประการ 8. คุณธรรมและจริยธรรม ทรงมีพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ ตามหลักทศพิธราชธรรม ทรงบำเพ็ญทาน ศีล เสียสละ ซื่อตรง อ่อนโยน มีความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน การประสมประสานโอนอ่อนผ่อนปรน ทรงมีพระคุณลักษณะความเป็นบรมครูที่เด่นชัด และเป็นแบบอย่างแก่ครูและพสกนิกรทั้งมวล นอกจากนี้ ความมีคุณธรรม จริยธรรมนานัปการ ของพระองค์อันเป็นคุณลักษณะสำคัญยิ่งสำหรับครู ได้สะท้อนในพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรนี้ทรงเน้นย้ำบัณฑิตให้ตระหนักถึงการประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ยึดมั่นในหลักศีลธรรม การกล่อมเกลาความคิดจิตใจ ดังพระบรมราโชวาที่ว่า "การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล" 9. การพัฒนา ทรงเป็น "นักพัฒนา" อันเป็นพระคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งในความเป็นครูซึ่งพึงมี "ความฉลาดรู้" กล่าวคือรู้แล้วสามารถนำมาปฏิบัติใช้ประโยชน์สร้างสรรค์ ดังจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริ นับพันโครงการที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ด้วยพระปรีชาญาณอันลึกซึ้ง สะท้อนการพัฒนาแนวใหม่อันเป็นการพัฒนาบนพื้นฐานข้อมูล และความเป็นจริงแบบผสมผสานครบวงจรการพึงตนเอง การพัฒนาที่ยั่งยืนเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและสังคมไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของ "คน" อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด และการศึกษาในฐานะเป็นเครื่องมือพัฒนาคนและเทศชาติ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการศึกษาและกอปรด้วยพระราชกรณียกิจอันไพศาลล้วนเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทุกระดับและทุกระบบ นอกจากนี้พระราชกรณียกิจของพระองค์ในทุกๆ ด้านล้วนสะท้อนไปสู่เป้าหมายอันสำคัญคือการพัฒนาคนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทรงเลือกใช้วิธีพัฒนารูปแบบต่างๆ ที่จะให้ราษฎรพึ่งตนเอง ทรงส่งเสริมการเรียนรู้ให้ประชาชนได้มีโอกาสพึ่งตนเองในทางเศรษฐกิจและสังคมและเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ทรงค้นคิด "ทฤษฎีใหม่" "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รับพระบรมราชานุญาติ เผยแพร่ แนวพระราชดำริในด้านการศึกษา แนวพระราชดำริด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสะท้อนให้เห็นเด่นชัดในพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชกระแส ในวโรกาสต่างๆ โดยเฉพาะพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่บัณฑิตในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงพระบรมราชวิจารณญาณอันสุขุมลึกซึ้งด้วยสายพระเนตรที่เล็งเห็นการณ์ไกล เป็นปรัชญาการศึกษาไทย เข้าถึงความเป็นไทย และเหมาะสมกับสังคมไทย ประกอบด้วยแนวคิดทฤษฎี แนงทางการดำเนินงานและวิธีการปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ประโยช์และนำไปปฏิบัติได้จริง ความสำคัญของการศึกษา "ผลอันพึงประสงค์ของการศึกษา กล่าวโดยสั้นแต่โดยเนื้อแท้มีสองสถาน สถานหนึ่งคือ ความรู้แจ้งในวิทยาการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนำไปทำกิจการงาน สร้างตัว สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมือง แก่ส่วนรวมและแก่มนุษยชาติ อีกสถานหนึ่งได้แก่ ความคิดจิตใจ ที่ฝึกฝน กล่อมเกลาแล้วอย่างถูกต้องให้คล่องแคล่วและสุจรติยุติธรรม" (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2517) คุณธรรมและจริยธรรม "การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยแต่ความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จึงเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย เพราะเหตุผลว่าความรู้นั้น เป็นเหมือนเครื่องยนต์ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนไปประการเดียว ส่วนคุณธรรมดังกล่าวนั้นเป็นเหมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทางด้วยความสวัสดี คือปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์" (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 8 กรกฎาคม 2520) ความเป็นครู ครูตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ บุคคลที่มีทั้งวิชาความรู้ เทคนิค วิธีสอน และมีจิตใจสูง ดังพระราชดำรัสพระราชทานครูอาวุโสประจำปี 2522 ความว่า "ครูที่แท้จริงนั้น เป็นผู้ทำแต่ความดี คือต้องหมั่นขยันและอุตสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละ ต้องหนักแน่น อดกลั้นและอดทน ต้องรักษาวินัย สำรวมระวังความประพฤติปฏิบัติของตนให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดีงาม ต้องปลีกตัวปลีกใจจากความสะดวกสบายและความสนุกสนานรื่นเริงที่ไม่สมควรแก่เกียรติภูมิของตน ต้องตั้งใจให้มั่นแน่วแน่ ต้องซื่อสัตย์รักษาความจริงใจ ต้องเมตตาหวังดี ต้องวางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจคติ ต้องอบรมปัญญา ให้เพิ่มสมบูรณ์ขึ้น ทั้งด้านวิทยาการและความฉลาดรอบรู้ในเหตุผล..." (พระราชดำรัสพระราชทานแก่ครูอาวุโส ประจำปี 2522 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2523) ได้ทรงอธิบายความหมายของ "ความเป็นครู" และทรงชี้ให้เห็นว่าเป็นคุณสมบัติที่อำนวยประโยชน์เกื้อกูลมากแก่ทุกคนและกิจการทุกอย่าง ไม่เฉพาะสำหรับครู "ความเป็นครู หมายถึง การมีความรู้ดี ประกอบด้วยหลักวิชาที่ถูกต้อง แน่นแฟ้นและแจ่มแจ้งแก่ใจ รวมทั้งคุณความดีและความเอื้ออารี ปรารถนาที่จะถ่ายทอด เผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้มีความรู้ ความเข้าใจที่ดีด้วยความแจ่มแจ้งแน่ชัดในใจย่อมทำให้สามารถส่องแสดงความรู้ออกมาให้เข้าใจตามได้โดยง่าย ทั้งในการปฏิบัติงานก็ย่อมทำให้ผู้ร่วมงานได้เข้าใจโดยแจ่มชัด ส่วนความหวังดีโดยบริสุทธิ์ใจนั้นจะน้อมนำให้เกิดศรัทธา แจ่มใสมีใจพร้อมที่จะรับความรู้ด้วยความเบิกบาน ทั้งพร้อมที่จะช่วยงานกับผู้ที่มีคุณสมบัติของครูโดยเต็มใจและมั่นใจ "ดังนี้ ก็จะทำให้กิจการใดๆ ที่กระทำอยู่ดำเนินไปโดยสะดวกราบรื่นและสำเร็จประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสมบูรณ์" (พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2522) พระราชกรณียกิจนด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่งานด้านการศึกษาของชาติมาโดยต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ครอบคลุมถึงการศึกษาทุกระดับ ทั้งการศึกษาก่อนวัยเรียน ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา การศึกษาเฉพาะทาง การศึกษาพิเศษ การศึกษาทางไกล การกีฬา นันทนาการ การศาสนา และศิลปวัฒนธรรม 1. ทุนการศึกษาพระราชทาน ทรงสละพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชทานทุนแก่นักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส ให้มีโอกาสศึกษาและแก่บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมีผลการเรียนดีในสาขาต่างๆ ให้ศึกษาต่อในระดับสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ากลับมาใช้พัฒนาบ้านเมือง ทุนการศึกษาที่พระราชทานมี อาทิ ทุนมูลนิธิภูมิพล เพื่ออุดหนุนการศึกษาแก่นิสิต นักศึกษา ที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อคิดเลือกนิสิต นักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมให้รับทุนไปศึกษาชั้นสูง ณ ต่างประเทศ 2. โรงเรียน ได้ทรงประกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งโรงเรียน ในกรุงเทพมหานคร มีโรงเรียนจิตรลดา ในพระราชฐานและโรงเรียนราชวินิต นอกจากนี้ยังได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน เด็กกำพร้า เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เด็กชาวเขา เช่น โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ ซึ่งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนจัดสร้างขึ้นและมูลนิธต่างๆ ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ร่วมสร้างโรงเรียนอีกหลายแห่ง เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนราชประชาสมาสัย เป็นต้น 3. การศึกษาตลอดชีวิต ทรงส่งเสริมสนับสนุนให้ประชนศึกษาตลอดชีวิต โดยการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ทรงถ่ายทอดวิชาความรู้ให้พสกนิกรในโครงการส่วนพระองค์ เช่น โครงการพระดาบส สอนวิชาชีพด้านช่างและสั่งสอนศีลธรรมจรรยาด้วย โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งมีการศึกษาค้นคว้าทางด้านวิชาการด้านการเกษตรและอาชีพจำนวนมาก เป็นโรงงานสาธิตให้ประชาชนได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษา เช่น โรงงานนมผงสวนจิตรลดา โรงโคนมสวนจิตรลดา ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริในจังหวัดต่างๆ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งแรก คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2522 ตั้งอยู่ที่ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ละแห่งมีภารกิจแตกต่างกันตามลักษณะสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าปัญหาด้านการเกษตรและการพัฒนา โดยเป็นศูนย์รวมของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ร่วมทำงาน ประสานกิจกรรมอย่างมีระบบและต่อเนื่อง 4. การศึกษา ค้นคว้า วิจัย นอกจากจะทรงศึกษาวิจัยด้วยพระองค์เองแล้วยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในสาขาวิชาการต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทรงริเริ่มสนับสนุน พัฒนา พระราชทานพระราชดำริและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในโครงการวิจัยจำนวนมากอันยังประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ และการนำมาใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคม เช่น โครงการแปลงทดลองปลูกข้าวในพระราชวังสวนจิตรลดา เพื่อนำผลการทดลองและกระจายพันธุ์ข้าวไปสู่ชาวนา การทำฝนเทียม การวิจัยรูปแบบของยุ้งฉางเพื่อรักษาคุณภาพข้าว การผสมเทียมปลากระโห้ การใช้ผักตบชวา กำจัดน้ำเสีย การขยายพันธุ์ปลานิล การวิจัยเกี่ยวกับดนตรีไทยในด้านปัญหาความแตกต่างระหว่างบันไดเสียงของเครื่องดนตรีไทยต่างๆ การประดิษฐ์เครื่องสีข้าวระบบแรงเหวี่ยง "ปิ่นแก้ว" ซึ่งมีผลดีต่อคุณภาพข้าวสารและสามารถช่วยลดต้นทุนการสีข้าวลงได้ ด้านการสื่อสารทรงสนับสนุนการประดิษฐ์ "สายอากาศ ดร.สุธี" โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ดร.สุธีอักษรกิตติ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (ในขณะนั้น) ประดิษฐ์สายอากาศชนิดที่ขยายกำลังส่งได้เพิ่มมากขึ้น 5. หนังสือและห้องสมุด ทรงตระหนักถึงความสำคัญของหนังสือและห้องสมุดต่อการศึกษาค้นคว้าวิจัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะเป็นปัจจัยสำคัญ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาประเทศ พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีเปิดงานหนังสือระหว่างชาติ พ.ศ. 2515 และงานแสดงการพิมพ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2515 มีความความตอนหนึ่งแสดงถึงความสำคัญของหนังสือดังขออัญเชิญมาดังนี้ "หนังสือเป็นเสมือนคลังที่รวบรวมเรื่องราว ความรู้ ความคิด วิทยาการทุกด้านทุกอย่าง ซึ่งมนุษย์ได้เรียนรู้ ได้คิดอ่าน และเพียรพยายามบันทึก รักษาไว้ด้วยลายลักษณ์อักษร หนังสือแพร่ไปถึงที่ใด ความรู้ความคิดก็แพร่ไปถึงที่นั่นหนังสือจึงเป็นสิ่งที่มีค่าและมีประโยชน์อันประมาณมิได้ ในแง่ที่เป็นบ่อเกิดแห่งการเรียนรู้ของมนุษย์" ทรงส่งเสริมให้มีการผลิตหนังสือ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและวงวิชาการ พระปรีชาญาณที่เห็นประจักษ์อันแสดงถึงสายพระเนตรที่กว้างไกล คือ การที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำ "สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน" เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา เพื่อการศึกษา ค้นคว้า อ้างอิง โดยรวมสรรพวิทยาการทุกแขนง เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จัดทำตามหลักสารานุกรม มีดรรชนีช่วยการค้นคว้า นำเสนอด้วยภาษาที่เหมาะสมกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในวัยต่างๆ ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต มีภาพประกอบงดงาม ออกแบบรูปเล่ม จัดหน้าสวยงามชวนอ่าน พิมพ์ด้วยกระดาษดี โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2511 และเริ่มเผยแพร่ชุดแรกเมื่อ พ.ศ. 2516 นับเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสารานุกรมแก่โรงเรียนและห้องสมุดที่อยู่ห่างไกลกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ ทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการห้องสมุด ในโอกาสที่สมาชิก สมาคม ห้องสมุดแห่งประเทศไทยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2514 ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทมีความตอนหนึ่งที่ขออัญเชิญมาดังนี้ "มีห้องสมุด หมายถึง เป็นที่ที่จะรวบรวมหนังสือซึ่งเป็นวิชาสามารถที่จะให้ยืมแก่ผู้สนใจ ฉะนั้นห้องสมุดจึงเกิดขึ้นมา เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับสังคมยิ่งมีห้องสมุดมาก ยิ่งมีห้องสมุดในที่ต่างๆ ในที่หลายแห่งในประเทศก็ยิ่งดี ฉะนั้นการที่ส่งเสริมให้มีห้องสมุดในโรงเรียนต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร จึงเป็นความดำริที่ดี" ทรงริเริ่มให้จัดตั้งห้องสมุดศาลารวมใจตามหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ เพื่อเป็นที่อ่านหนังสือของเด็กและประชาชน และพระราชทานหนังสือประเภทต่างๆ แก่ห้องสมุด นอกจากนี้มูลนิธิโครงการหลวงที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านแก่เด็ก จัดหาหนังสืออุปกรณ์การศึกษา จัดสร้างห้องอ่านหนังสือหรือมุมอ่านหนังสือ จัดตั้งห้องสมุดเคลื่อนที่ ห้องสมุดโรงเรียนจัดฝึกอบรมบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนในพื้นที่โครงการหลวง นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนกิจการ พิพิธภัณฑ์ แหล่งวิทยาการ และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเพื่อการศึกษาชุมชนด้วย 6. การส่งเสริมวิชาชีพครู ทรงยกย่องงานของครู มีพระเมตตาอุดหนุนส่งเสริมวิชาชีพครู ทรงสร้างขวัญและกำลังใจ ความภาคภูมิใจ ทะนงในเกียรติศักดิ์ศรี หน้าที่ของความเป็นครู พระราชทานพระราชูปถัมภ์แก่องค์กร สถาบัน สมาคมทางด้านการศึกษา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประทานในกิจกรรมทางด้านการศึกษานานัปการ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมูลนิธิช่วยครูอาวุโส และครูอาวุโสได้พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งแสนบาทเป็นทุนประเดิมแก่มูลนิธิช่วยครูอาวุโส ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2509 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาจึงได้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิช่วยครูอาวุโส เมื่อ พ.ศ. 2509 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงรับมูลนิธิช่วยครูอาวุโสไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้งมูลนิธิ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ครูอาวุโสที่มูลนิธิประกาศเกียรติคุณได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติและเงินช่วยเหลือ พระราชกรณียกิจอันไพศาลด้านการศึกษาสะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อครู อาจารย์ นักเรียน นิสิตนักศึกษา บัณฑิตและต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ชุบชีวิตผู้ด้อยโอกาสโดยทั่วถึงกัน ในคำประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณเนื่องในวโรกาสที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2532 จารึกพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ไว้ตอนหนึ่งว่า "...ที่ต้องนับว่าเป็นพระเดชพระคุณยิ่งใหญ่ และเป็นพลังอุดหนุนให้คนจำนวนมากมีมานะบากบั่น ในด้านการศึกษา ก็คือข้อที่ทรงพระเมตตาเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันต่างๆ ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี มีบัณฑิตผู้ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระราชหัตถ์ไปแล้วหลายแสนคน เป็นที่ประหลาดใจเหลือล้นแก่ชาวต่างชาติ ผู้มีโอกาสได้ทราบเกล้ากราบกระหม่อมถึงพระราชจริยวัตรในข้อนี้ ด้วยไม่มีสมเด็จพระราชธิบดีพระองค์ใดในโลกปัจจุบัน ที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาครบเป็นอเนกอนันต์ถึงปานนี้" นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 จนถึงปัจจุบัน เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันว่า พระองค์ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจ ความสมานสามัคคีของปวงชนชาวไทย และทรงอุทิศพระองค์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างกว้างขวางนานับปการ อันยังประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกรถ้วนทั่ว โดยเฉพาะในด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น "ครุราชันย์" ทรงสถิตในฐานที่เป็น "ครุฐานียบุคคล" "พระบิดาของครูไทย" และ "บรมครู" ผู้ปราดเปรื่อง เพียงพร้อมด้วยคุณลักษณะที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพครู ไว้ 4 ประการคือ รอบรู้ สอนดี มีคุณธรรม จรรยาบรรณ มุ่งมั่นพัฒนา จึงทรงเป็นแบบอย่างของครู อย่างไม่มีผู้ใดเสมอ นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระมหากรุณาธิคุณและพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่งานการศึกษาและวิชาชีพครูอย่างอเนกอนันต์ ทรงมีแนวพระราชดำริทางด้านการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และในพระราชกรณียกิจด้านอื่นๆ ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา การให้ความรู้ โดยทรงประยุกต์หลักแห่งวิชาการด้านศึกษาศาสตร์ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ อันบังเกิดผลคือการพัฒนาที่ยั่งยืน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระองค์ตรากตรำพระวรกาย ทรงงานหนักมาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาอันยาวนาน ยังประโยชน์ในการพัฒนาคน พัฒนาชาติบ้านเมืองเป็นอเนกอนันต์เกินจักมีผู้ใดหรือแหล่งใดพรรณนาไว้ได้ครบถ้วน ทรงมีความเป็นครู อันสมควรเทิดเกล้าถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณให้ปรากฎแผ่ไพศาลเพื่อเป็นแนวทางให้พสกนิกรเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทสืบไป ปล. ใช้ประกอบในกรณีศึกษาตอนเรียน ป.โท ในปี 2543 และ //www.webroon.com/~webok/services&community/His%20Majesty%20the%20King.html (ปิดไปแล้ว) สายฝน แสงเทียน ชะตาชีวิต |
Mistory
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?] All Blog |
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |