(รีวิวการ์ตูนไทย) ขายหัวเราะ CLASSIC SERIES : จุ๋มจิ๋ม (จำนูญ เล็กสมทิศ)
อีกหนึ่งโปรเจ็กต์สุดทะเยอทะยานนับไม่ถ้วนของ "ทีมงานขายหัวเราะ" ที่ดูท่าจะไม่ได้ไปต่ออีกเช่นเคย กับ "ขายหัวเราะ CLASSIC SERIES" ที่คาดเดาเล่นๆว่าในแต่ละเล่ม จะเป็นการรวมแก๊กหรือผลงานเด่นๆที่ผ่านมาของนักเขียนขายหัวเราะแต่ละคนเอาไว้ (ซึ่งก็คิดว่าน่าจะไม่ครบทุกคนอยู่ดี) -- เปิดตัวด้วยนักเขียนรุ่นแรกๆของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นที่น่าจะรู้จักกันดี อย่างคุณ "จุ๋มจิ๋ม" หรือในชื่อจริงคือ "จำนูญ เล็กสมทิศ" เริ่มต้นร่วมงานกับสำนักพิมพ์ครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500 ตอนอายุ 22 ปี พร้อมกับการมาของนิตยสาร "หนูจ๋า" หนังสือการ์ตูนแก๊กที่สร้างอิทธิพลให้กับนักเขียนสมัยนั้นอย่างมาก จนหลายคนในยุคแรกๆถึงขั้นพากันลอกลายเส้น ไม่เว้นแม้กระทั่งนักเขียนการ์ตูนแก๊กที่มีชื่อเสียงอย่าง "ต่าย ขายหัวเราะ" เอง ก็ยังเคยใช้ลายเส้นของจุ๋มจิ๋มในช่วงเข้าวงการแรกๆมาก่อนเหมือนกัน -- และสำหรับเล่มนี้ จะเป็นการพาทุกท่านไปรู้จักกับตัวตนของคุณจุ๋มจิ๋มมากขึ้น ผ่านสื่อการ์ตูนรูปแบบต่างๆที่ถูกคัดเลือกโดยทีมงาน และบทสัมภาษณ์เชิงลึกที่จะทำให้เราได้รู้ถึงเส้นทางชีวิตนักเขียนจากปากของเขาโดยตรง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับความลับที่ซุกซ่อนอีกมากมาย ซึ่งมั่นใจว่าหลายคนน่าจะยังไม่เคยรู้มาก่อนเป็นแน่
แน่นอนว่าด้วยความที่เป็นหนังสือขายหัวเราะ ครึ่งแรกของเล่มที่เน้นความบันเทิงเป็นหลัก ก็จะเป็นรวมมิตรการ์ตูนแก๊กในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะเน้นการ์ตูนใบ้เป็นพิเศษ แต่จะมีการจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้สามารถอ่านได้ง่ายขึ้น -- ลักษณะแก๊กของจุ๋มจิ๋มส่วนใหญ่จะเป็นแก๊กสั้นๆง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่มีลูกเล่นที่แปลกประหลาดและหลุดกรอบไปจากชาวบ้าน จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนสมัยนั้นถึงได้หลงไหลงานของเขาหัวปักหัวปำ มันโดดเด่นถึงขั้นที่ทำให้เรื่องสั้นหลายๆเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น ขบวนการสามสลึง (พ.ศ.2520) และ จ้าวไตรภพ (พ.ศ.2543) ที่ฉายทางช่อง 3 รวมไปถึงงานบันเทิงต่างๆอีกมากมาย อย่างเช่น ออกแบบโลโก้หนังเรื่อง กามเทพเล่นกล ซึ่งก็ได้รางวัลตุ๊กตาเงินกลับมาเช่นเดียวกัน (ซึ่งน่าเสียดายที่ทางสำนักพิมพ์ไม่ได้มีตัวอย่างเหล่านั้นให้ได้เห็น อาจะเป็นว่าเพราะมันต้องการขับเน้นในการเป็น "หนังสือรวมแก๊กตลก" ซะมากกว่า) (ซ้าย) แก๊กลายเส้นเก่า -- (ขวา) แก๊กลายเส้นใหม่
ส่วนในช่วงครึ่งหลังซึ่งเป็นขั้วตรงข้าม ก็จะเป็นโคลงสี่สุภาพหรือกลอนแปด (ที่มีภาพการ์ตูนประกอบ) ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญกับชีวิตของเขามากๆ เพราะแม่ของจุ๋มจิ๋มเองก็เคยเป็นนักแต่งกลอนมาก่อน เลยสืบทอดกันมาตั้งแต่เด็ก และก็เดินตามรอย ประยูร จรรยาวงษ์ (เจ้าของเรื่อง ขบวนการแก้จน) ที่เขียนการ์ตูนกลอนอีกที (เพราะฉะนั้นในนิตยสารหนูจ๋าเล่มหลังๆ จึงเต็มไปด้วยกลอนมากกว่าการ์ตูนซะอีก 5555+) -- ถัดจากนั้นก็จะเป็นแก๊กเล่นคำที่มีการจัดเป็นหมวดหมู่ในหน้าเดียว อย่างเช่นในหมวดหมู่ปลา ถ้ามุกเป็นปลาทอง ก็จะวาดเป็น ปลา + ทอง หรือปลาดาบ ก็จะวาดเป็นปลา+ดาบ อะไรทำนองนี้ ซึ่งก็ดูสร้างสรรค์และอ่านเพลินดี ไม่เฉพาะทางจนเกินไปสำหรับคนรุ่นหลังเหมือนกับแก๊กส่วนใหญ่ใน "กาตูนร์ระทม" ที่มักจะอ้างอิงแก๊กตลกมาจากหนัง เกม หรือการ์ตูนเก่าๆที่นักอ่านบางกลุ่มอาจไม่รู้จัก (แต่แหม ฉบับรวมเล่มอันนั้น พี่ก็อัดซะเยอะเกิ๊น) ถัดจากนั้นมาอีก ก็จะเป็นเรื่องสั้นแนวตลกที่ยาวไม่ถึง 10 หน้าจบให้อ่านอยู่ 3 เรื่อง ซึ่งก็น่าจะถูกใจแฟนหนังสือรุ่นเก่าอยู่บ้าง เพราะครึ่งหลังของเล่ม มันเหมือนถูกดีไซน์ขึ้นเพื่อ "คนวัยทำงานหาเช้ากินค่ำ" ที่โตมากับหนังสือของเขา มากกว่าที่จะเป็นการรวมแก๊กที่ดีที่สุดจริงๆ -- เพราะฉะนั้น เนื้อหาส่วนใหญ่ในช่วงครึ่งหลังจึงมักจะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ส่วนมากกังวล อย่างเช่นเรื่องของชีวิต โชคชะตา ความรัก หรือแม้กระทั่งเรื่องการเมือง ซึ่งมุกการเมืองของคุณจุ๋มจิ๋มที่ลงในนี้ทั้งหมด จะเล่นแบบกลางๆ ไม่ฝักฝ่ายใดเป็นพิเศษ มันจึงสากลและสามารถเอาไปล้อกับใครก็ได้ แต่โดยรวมก็ยังไม่ค่อยสร้างสรรค์อะไรมาก เพราะมันเน้นแซวแบบตรงๆทื่อๆ ไม่ค่อยมีลูกเล่นแปลกใหม่ให้ได้ว้าวมากนัก -- ซึ่งจะยังไงก็ตามแต่ ในช่วงครึ่งหลังของเล่ม อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่าเขาเองก็พยายามที่จะใส่สาระหรือแง่คิดลงไปในการ์ตูนสำหรับเด็กของเขา ให้รู้สึกว่าอ่านแล้วยังพอที่จะได้อะไรกลับไปบ้าง นอกจากความบันเทิงส่วนใหญ่ในแก๊กสามช่องที่ส่วนมากมักจะคั่นกลางระหว่างความตลกกับความประหลาด (ซ้าย) แก๊กลายเส้นเก่า -- (ขวา) แก๊กลายเส้นใหม่
ส่วนในช่วงสุดท้ายของเล่มก็จะเป็นบทสัมภาษณ์จาก CONT. เว็บไซต์ที่ทำบทความเกี่ยวกับหนังสือ และทำบทสัมภาษณ์กับนักเขียนขายหัวเราะไว้หลายคนมากๆ เพราะขายหัวเราะอยู่ครบรอบ 50 ปี -- รับบทสัมภาษณ์โดยคุณปฎิกาล ภาคกาย บรรณาธิการสำนักพิมพ์แซลมอน (ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกับขายหัวเราะ) มาพร้อมกับ "คุณวิธิต อุตสาหจิต" บรรณาธิการสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ที่ผลิตหนังสือการ์ตูนมหาสนุก-ขายหัวเราะ ซึ่งตัวเค้าเองก็ได้พา "คุณภักดี แสนทวีสุข" หรือ ต่าย ขายหัวเราะ นักเขียนการ์ตูนในเครือขายหัวเราะที่มีคุณจุ๋มจิ๋มเป็นแรงบันดาลใจ มาเจอกับคุณจุ๋มจิ๋มพร้อมกันที่บ้านเป็นครั้งแรกด้วย (เพราะคุณจุ๋มจิ๋มไม่ได้เขียนการ์ตูนที่สำนักพิมพ์ แต่ทำงานที่บ้าน)
ซึ่งบทสัมภาษณ์หลักๆในนี้ก็จะเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตนักเขียนของเจ้าตัวตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน เล่าออกมาเป็นอัตชีวประวัติจากปากของคุณจุ๋มจิ๋มโดยตรง รวมไปถึงแนวคิดการทำงานที่น่าสนใจ ซึ่งไม่ว่าใครก็ตามก็สามารถที่จะเรียนรู้และเอาไปต่อยอดแนวคิดเพิ่มเติมได้ -- ซึ่งถึงแม้ตัวเขาจะเป็นคนที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมในเรื่องของวรรณคดีที่สามารถใส่มุกตลกลงไปได้ แต่ไม่ควรดัดแปลงเนื้อเรื่องมากจนเกินไป แต่เขาเองก็ยังคงสนับสนุนในเรื่องการคิดนอกกรอบเหมือนกับตลก 3 ช่องที่เค้าทำอยู่เช่นเดียวกัน (ซึ่งเค้านี่แหละที่ทำให้คุณวัฒนา นักเขียนขายหัวเราะรุ่นแรกๆ เริ่มต้นที่จะเขียนแก๊กแซวเมียอย่างจริงๆจังๆ ทั้งๆที่จริงแล้วเค้าเป็นคนที่ค่อนข้างกลัวเมียมากเลยทีเดียว -- ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา แก๊กแซวเมียก็ได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่สืบทอดกันจนถึงปัจจุบันในหมู่นักเขียนการ์ตูนแก๊กหลายๆนิตยสารในไทย ไม่แพ้แก๊กติดเกาะและโจรมุมตึกเลยทีเดียว) (ซ้าย) การ์ตูนกลอน -- (ขวา) แก๊กเล่นคำ
บทสัมภาษณ์ของคุณปฏิกาลกับคุณจุ๋มจิ๋ม ถือเป็นบทสัมภาษณ์ที่เพอร์เฟ็กต์และวางแผนมาดีมากๆ มันจะเป็นบทสัมภาษณ์ที่ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป และใช้วิธีตั้งคำถามแบบกว้างๆ แต่จะเป็นคำถามที่ดักให้คุณจุ๋มจิ๋มเล่าอัตชีวประวัติของตัวเองแบบเรียงลำดับ ซึ่งตัวเค้าเองก็ดูจะให้ความร่วมมือกับการตอบคำถามเป็นอย่างดี เล่าเส้นทางชีวิตของตัวเองยาวเหยียด ต่างจากคอลัมน์ตอบจดหมาย 4 หน้า ในหนังสือหนูจ๋า ที่จะตอบได้แค่ประโยคสั้นๆ เพราะต้องแบ่งพื้นที่ให้กับจดหมายคนอื่นๆด้วย -- การพาคนคุ้นเคยอย่าง บก. วิธิต ที่รู้จักกันตั้งแต่เด็ก กับคุณต่าย ขายหัวเราะที่มองคุณจุ๋มจิ๋มเป็นแรงบันดาลใจหลักมาช่วยเสริมทัพ ทำให้บรรยากาศในการสัมภาษณ์ดูสนุกมากขึ้น มันสนุกมากพอที่เจ้าตัวจะกล้าเปิดใจ แสดงแนวคิดในการทำงานที่ลึกมากๆให้คนอ่านได้รู้ และแน่นอนว่าเค้าเป็นคนที่ตลกเหมือนในการ์ตูนของเค้าเด๊ะๆเลย ในวัย 87 ปีที่สุขภาพยังดูแข็งแรงอยู่ จนรู้สึกเสียดายว่า ทำไมถึงไม่สัมภาษณ์เรื่องนี้ด้วยไม่เข้าใจจริงๆ? (คุณปฎิกาลนะ คุณปฏิกาล)
เอาจริงๆในสายตาของคนรุ่นใหม่ (อย่างผม) แก๊กของคุณจุ๋มจิ๋ม จริงๆมันไม่ค่อยมีอะไรซักเท่าไหร่ แต่ส่วนมากมักจะโดดเด่นด้วยกิมมิคประหลาดๆ อย่างเช่นสำนวนการเขียนเพี้ยนๆที่ใส่เข้ามาจำนวนมหาศาล แก๊กหมาพูดได้ที่ชอบแซะคน หรือพวกแก๊กตั้งชื่อรูแปลกๆมากกว่าที่จะมาจากตัวแก๊กโดยตรง ซึ่งถือเป็นกิมมิคพิเศษที่ช่วยลดความธรรมดาของแก๊กให้รู้สึกมีอะไรที่น่าสนใจมากขึ้น ตามหลักพิชัยสงครามที่เจ้าตัวได้เคยพูดในบทสัมภาษณ์ซึ่งลงในเล่มนี้ว่า "ถ้าสู้เค้าไม่ได้ ก็งัดสิ่งที่อีกฝ่ายไม่มีมาสู้ แค่นี้ก็เหนือกว่าอีกฝ่ายแล้ว" มันก็เลยออกมาเป็นรูปแบบของงานที่ถ้าคนอื่นเอาไปลอก ก็จะรู้ได้เลยว่าไปเอาสไตล์มาจากคุณจุ๋มจิ๋มแน่ๆ เรื่องสั้นไม่ถึง 10 หน้าจบโดย คุณจุ๋มจิ๋ม
เพราะฉะนั้น การ์ตูนของจุ๋มจิ๋มในยุค พ.ศ. 2530 เป็นต้นไป จึงพยายามที่จะกลมกลืนกับงานของนักเขียนขายหัวเราะรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระในหนังสือหนูจ๋าถึง 75% ของเล่ม ด้วยการเปลี่ยนสไตล์ภาพและลายมือให้ดูน่ารักและร่วมสมัยมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่ากลมกลืนกับงานของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี -- เพราะฉะนั้นเวลาช่วงตอบจดหมายในหนังสือหนูจ๋า เขาจะตอบคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวกับคุณแทบทุกอย่าง ยกเว้นเรื่องเดียวคือ "เรื่องอายุ" ที่เค้าจะตอบเฉไฉแบบ "อายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข" บ้าง "ผมเป็นคนขี้ลืม" บ้าง รวมไปถึงเวลาที่แฟนหนังสือจะส่งจดหมายมาขอรูปถ่าย เขาก็จะให้เฉพาะรูปรวมนักเขียนคนอื่นๆเท่านั้น ยกเว้นรูปตัวเอง (คุณจุ๋มจิ๋มในขณะนั้นอายุประมาณ 50-60 ปี ในขณะที่นักเขียนรุ่นใหม่จะอายุเพียงแค่ 20-30 กว่าๆเท่านั้น)
ซึ่งถ้าใครอยากจะรู้จักตัวตนของคุณจุ๋มจิ๋มมากยิ่งขึ้น แนะนำให้ซื้อหนังสือการ์ตูน "หนูจ๋า" เล่มเก่าๆมาอ่าน แล้วเปิดคอลัมน์ตอบจดหมายในหน้าหลังๆ จะได้เห็นอีกด้านหนึ่งของเขาที่ลงไปตอบคำถามกับแฟนหนังสืออย่างสนุกสนาน ไม่ใช่บทสัมภาษณ์ที่ค่อนข้างจริงจังแบบในเล่มนี้ แน่นอนว่ามันอาจจะมีบางคำถามจากแฟนหนังสือที่ชอบถามอะไรเหมือนๆกัน และบางคำถามที่คุณจุ๋มจิ๋มมักจะตอบกวน (ตอบหลีกเลี่ยง) คนอ่านอยู่เป็นประจำจนคนอ่านแทบจะไม่ได้อะไรกลับไป แต่คุณจุ๋มจิ๋มก็มักจะตอบคำถามกับแฟนหนังสือด้วยสำนวนการเขียนที่ดูเป็นมิตร สุภาพ และเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน -- คนที่เป็นแฟนหนังสือของคุณจุ๋มจิ๋มเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เชื่อว่าตรงช่วงนี้น่าจะเป็นอะไรที่สามารถหยิบมาอ่านได้เพลินอย่างแน่นอน (มีหลายช่วงมากๆที่แฟนหนังสือจะถามกันเข้ามาว่า ทำไมถึงมาทำอาชีพนักเขียนการ์ตูน แล้วเขาก็มักจะตอบกลับไปว่า "เพราะเป็นนายกไม่ได้ ก็เลยมาเขียนการ์ตูนแทน" โคตรฮา) บทสัมภาษณ์พิเศษกับคุณจุ๋มจิ๋ม
ส่วนข้อเสียในเล่มถือว่ามีค่อนข้างน้อย อย่างเช่นในฝั่งของทีมงานที่ดูจะมีปัญหาในเรื่องของการคัดเลือกกับจัดเรียงแก๊กนิดๆหน่อยๆ ก็เลยทำให้ตอนอ่านในช่วงครึ่งแรกรู้สึกติดขัดในระดับหนึ่ง อย่างเช่นในช่วงที่เป็นแก๊กหมาเอากระดูกไปฝากธนาคาร แต่อีกหน้าคือถอนกระดูกออก คำถามคือจะใส่มาสองแก๊กที่คล้ายกันเพื่อ? -- แล้วก็แก๊กหมาเอากระดูกไปทิ้งถังขยะ แล้วบ่นว่ามนุษย์ทิ้งขยะไม่เป็นที่ คำถามคือ หมาบ้านไหนเจอของอร่อยแล้วเอาไปทิ้งกัน? -- เข้าใจว่าจะหาแก๊กที่ลงตัวจริงๆในสโคป 58 ปี มันใหญ่เกินตัว แต่ถ้าอันไหนมันดูแปลก ก็ไม่ต้องใส่มาก็ได้มั้ง (ครับ)
แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะสามารถคัดเลือกแก๊กตลกให้ถูกใจทุกคน รวมไปถึงมีแฟนหนังสือบางกลุ่มได้ส่งจดหมายมาขอต้นฉบับมากมาย จนสำนักพิมพ์ต้องห้ามคุณจุ๋มจิ๋มอย่างเด็ดขาด เพราะไม่งั้นจะไม่มีเหลือไว้ทำรวมเล่มในอนาคต (อันนี้ก็เอามาจากคอลัมน์ตอบจดหมายเหมือนกัน) -- "ขายหัวเราะ CLASSIC SERIES : จุ๋มจิ๋ม" ก็เลยถูกทำขึ้นเพื่อให้นักอ่านที่สนใจ กระหายอยากที่จะซื้อหนังสือหนูจ๋าเล่มเก่าๆมาอ่าน (ซึ่งความสนุกและความเพี้ยน จริงๆมันก็ไม่ค่อยต่างกันซักเท่าไหร่) -- หลายคนอาจจะคิดว่ามีแค่ "มหาสนุกกับขายหัวเราะ" ที่เป็นหนังสือการ์ตูนแก๊กรวมนักเขียนที่ต้องสะสม แต่จริงๆแล้วยังมีหนังสือ "เบบี้กับหนูจ๋า" ที่เป็นหนังสือรวมนักเขียนเหมือนกัน แต่จะออกเป็นรายเดือน -- ซึ่งสองเล่มหลัง เราจะได้อ่านเรื่องสั้น 20 หน้าจบจากนักเขียนที่คุณไม่คิดว่าจะเคยทำมาก่อนด้วย อย่างเช่น พี่โย่ง พี่บัฟ พี่น็อต พี่สัญ พี่อ๋อน ฯลฯ (พูดง่ายๆก็คือมาจากพวกรุ่น 3 ที่เข้ามาทำงานกับขายหัวเราะในช่วง พ.ศ. 2535 นั่นแหละ ซึ่งรายละเอียดที่เหลือ เดี๋ยวจะมาเขียนให้อ่านกันแบบเต็มๆในอนาคต) -- แล้วก็มีผลงานจากทางบ้านซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกนิยายภาพลายเส้นเข้มๆ เคยอ่านเจอเล่มหนึ่งที่เป็นการ์ตูนสยองขวัญ แล้วในเรื่องมีฉากฆ่ากันอย่างโหดมากๆ แบบเถาวัลย์กระชากเหยื่อทั้งหัวจนคอขาดติดกระดูกสันหลัง มันโหดจัดๆจนรู้สึกว่านี่เป็นการ์ตูนสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างที่เค้าว่ากันตรงไหนฟะ? หนังสือการ์ตูน หนูจ๋า ปีที่ 21 พ.ศ. 2537 (ทั้งสองเล่ม)
แต่ส่วนตัว ผมมองว่ามันทำออกมาได้ค่อนข้างดีในแง่ของการฉายภาพรวมการทำงานตลอด 58 ปีของจุ๋มจิ๋ม ซึ่งเอาจริงๆมันก็ไม่ต้องตกแต่งอะไรมาก เพราะแก๊กของคุณจุ๋มจิ๋มมันโดดเด่นอยู่แล้ว -- แต่ก็อาจจะตกม้าตายซักนิดนึงตรงมุกเพลงคาราโอเกะ ที่ดูจะดิ้นรนในการคิดมุกใส่ลงไปซักหน่อยจนออกมาดูฝืน เหมือนคุณจุ๋มจิ๋มมือไม่ถึงในการทำอะไรแบบนี้ แต่โดยรวมก็ถือว่าทำออกมาได้โอเคมากๆ และทีมงานเองก็ทำกันออกมาได้ดีที่สุดแล้วกับการคัดเลือกแก๊กเด็ดๆจากต้นฉบับจำนวนมหาศาล (แม้จะรู้สึกเล็กๆว่ายังดีกว่านี้ได้อีก) -- สรุปคือจะซื้อมาอ่านทั้งเล่มก็ถือว่าคุ้มอยู่ดีครับ (สรุป 9/10)
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564)
Create Date : 11 มีนาคม 2567 |
|
2 comments |
Last Update : 6 พฤษภาคม 2567 19:49:35 น. |
Counter : 1601 Pageviews. |
|
|
|