ว่าด้วย Cultural Studies ภาคแรก
อะ จริงๆต้องไปเจอซุป (ย่อมาจาก supervisor) พรุ่งนี้ แต่ถ้าไม่เริ่มเขียนเลยเดี๋ยวจะลืม กลายเป็นว่าสัญญาไว้ แล้วไม่เขียน ผิดวิสัยนักวิชาการที่ดี
เริ่มจากตัวเองก่อน ถ้าให้อธิบายว่าเรียนอะไร ดิชั้นตอบได้หลายอย่างมาก เริ่มต้นจากชื่อดีกรี PhD in comparative literature ชื่อวิชาที่เรียนจริงๆ Translation Studies ตามทะเบียน สังกัดอยู่กับ Centre for Intercultural Studies งงมะ เวลาคนถาม ดิชั้นก็ไม่รู้ว่าจะตอบอะไร จะตอบชื่อวิชาที่เป็นชื่อดีกรี ชื่อวิชาที่ทำวิจัย หรือชื่อศูนย์ที่สังกัดอยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เนื่องมาจากความกว้างขวางเป็นทะเลของขอบเขตของคำว่า Cultural Studies นั่นเอง ถ้าใครเจอชื่อนี้ ก็ต้องสงสัยว่าอะไรเล่า คือ culture คุณเอาอะไรมาเป็น object of study ล่ะ เพราะสาขานี้ไม่เหมือนสายวิทยาศาสตร์ ถ้าคุณเรียนชีววิทยา วัตถุศึกษาของคุณก็คือสิ่งมีชีวิต ถ้าคุณเรียนคณิตศาสตร์ วัตถุศึกษาของคุณก็คือเลขและสมการ แต่ถ้าเรียน cultural studies วัตถุศึกษาก็น่าจะเป็น culture แต่ culture คืออะไรล่ะ คนก็มาถกเถียงว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แล้วเราก็เรียกหลายอย่างเป็นวัฒนธรรมมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษา วรรณคดี ปรัชญา ศิลปะ ดนตรี ฯลฯ แล้วเราจะเอามัดรวมกันเป็นวัตถุศึกษาได้อย่างไร
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ยังรู้ว่า ในโลกที่เราอยู่ มันมี กฏเกณฑ์ บางอย่าง ที่ทำให้การกระทำบางอย่างในแต่ละวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ หรือยอมรับไม่ได้ ทำไมยุคนึงถึงมีศิลปินลุกขึ้นมาบอกว่า ศิลปินสามารถสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อศิลปะได้ โดยไม่ต้องสร้างศิลปะเพื่อมารับใช้สังคมเสมอไป ทำไมยุคที่ดนตรีแจ๊ซเกิดขึ้นมาใหม่ๆถึงถูกต่อต้านว่า ไม่ถูกฉันทลักษณ์ ทำไมถึงมีปรากฏการณ์ Homophobia รังเกียจพวกรักร่วมเพศ ทำไม ทำไม และทำไม
จุดเริ่มต้นของ Cultural Studies จึงเริ่มจากการตั้งคำถามถึง กฏเกณฑ์ ในแต่ละวัฒนธรรม ว่ามีที่ไปที่มาอย่างไร มีผลกระทบต่อตัวบุคคลและสังคมอย่างไร สำหรับ object of study ไม่น่าจะเป็นปัญหาสำคัญ เพราะตัว culture หรือวัฒนธรรมเอง สามารถเป็นได้ทั้งวัตถุศึกษา และ ขอบเขต ที่อาจนับเนื่องไปถึงขอบเขตทางการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์ การกระทำ ฯลฯ ได้
ทฤษฎีที่ว่ากันว่าเป็นรากฐานของ Cultural Studies คือ แนวคิดเรื่อง sign ของ Ferdinand de Saussure นักภาษาศาสตร์ที่เสนอแนวคิดเรื่องคู่ต่าง หรือ binary opposition ซึ่งเป็นรากฐานของ semiotics Saussure เสนอว่าที่เราเข้าใจสิ่งต่างๆบนโลกเพราะมันมีความต่างกัน เช่น เราเข้าใจว่าคำว่า pen กับ pan นั้นสื่อถึงสิ่งที่ต่างกันเพราะคำหนึ่งใช้ตัว e อีกตัวใช้ตัว a เป็นต้น
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คำว่า difference หรือความต่างก็เป็นหัวใจในการวิจารณ์ของ cultural studies ก็ว่าได้ นักทฤษฏีหลายคนได้แนวคิดเรื่องคู่ต่างไปประยุกต์กับปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมต่างๆ สำนักทฤษฏีแรกๆที่มีรากฐานมาจาก Saussure คือ Structuralism หรือโครงสร้างนิยม นำโดย Roland Barthes ที่เอาแนวคิดเรื่อง sign ไปวิจารณ์ การแสดงออกในชีวิตประจำวัน ของผู้คน (อ่านต่อได้ใน Mythologies) เช่นถ้าอาจารย์ใส่สูท นักเรียนใส่แจ็กเก็ต สูทและแจ็กเก็ตก็จะกลายเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจ ผู้ที่ใส่สูท (อาจารย์) จะมีอำนาจเหนือผู้ใส่แจ็กเก็ต (นักเรียน) และทั้งสองฝ่ายจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน Barthes ก็เอาแนวคิดเรื่องคู่ต่างไปเล่นกับปรากฏการณ์อื่นๆอีกมากมาย ที่แนะนำให้อ่านคือ the world of wrestling, the writer on holiday, blind and dumb criticism, soap powders and Detergents, Wine and milk, striptease etc.
ในด้านจิตวิเคราะห์ Jacques Lacan ก็เอาแนวคิดเรื่องคู่ต่างไปต่อยอดความคิดของฟรอยด์ เนื่องจากทฤษฏีของ Lacan เป็นทฤษฏีที่ต้องอดทนจริงๆ ถึงจะเข้าใจได้ ประกอบกับศัพท์แสงที่ใช้เป็นศัพท์หมอซะมาก เราอาจจะงงได้ หลักๆคือ Lacan นำเอาแนวคิดเรื่องคู่ต่างมาพัฒนาเป็น signified และ signifier และพ่วงเพิ่มเอา the real ไปด้วย Lacan อธิบายว่าการสร้างอัตลักษณ์ทางจิตใจของคนเรา เกิดจากการที่คนเราผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้านสัญลักษณ์ ที่ทำให้เราพัฒนาจาก ego สัญชาตญาณดิบมาเป็นคนที่รู้จักและเข้าใจ sign ทางวัฒนธรรมต่างๆ ให้นึกถึงเด็กแรกเกิด กับคนอายุยี่สิบ เด็กแรกเกิดคือสภาพที่อยู่ใกล้ ego มากที่สุด สภาพของคนที่ไม่เคยผ่านกระบวนการ signify คือ the real พอผ่านการ signify แล้วตัวเราจะกลายเป็น signified และสิ่งที่มา signify เราเรียกว่า signifier งงมะ
ขอยกตัวอย่างที่เป็นตำนานละกัน มีรูปประกอบคือ รูป the ambassadors ของ Hans Holbein ในรูปนี้เราเห็น เวลาเรามอง เราจะมองเห็นสมดุลของภาพ มีทูตสองคน ตรงกลางมีอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ แผนที่ แผนที่ท้องฟ้า อุปกรณ์การวัด เครื่องดนตรี lute ที่สายขาด ในขณะที่เรามองภาพอยู่เรารู้สึกถึงสภาพ ปรกติ ของงานศิลปะที่กระจายความสมดุลไปทั้งภาพ แต่พอเรามามองเห็นรูปหัวกะโหลกเบี้ยวตรงด้านล่าง เราก็จะรู้สึกถึงความผิดปรกติ ประหนึ่งว่ารุปนั้น จ้องมอง (gaze) กลับมา และเราก็จะนึกถึงสิ่งที่หายไปจากภาพที่สมดุล นั่นก็คือ ความตาย กระบวนการนี้ Lacan เรียกว่า mirror stage คือการสร้างอัตลักษณ์ของตัวจากการ จ้องมอง (gaze) ผู้อื่น การสร้างอัตลักษณ์ในความหมายของ Lacan คือการ mediate ระหว่าง signified กับ signifier ให้ตัวเราเข้าสู่ระบบสัญลักษณ์หรือการเข้าใจวัฒนธรรม และห่างไกลจาก the real มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในจิต ego ของเราก็ยังปรารถนา the real นั้นอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามปฏิเสธ the real นั้นด้วย เหมือนเรากลัวความตาย แต่เราก็ชอบความตื่นเต้นเวลาที่ได้เข้าใกล้ความตาย เช่น การเล่นเครื่องเล่นหวาดเสียวในสวนสนุกอย่างรถไฟเหาะ ดิ่งเหว ฯลฯ ที่ทำให้เราเข้าใกล้ประสบการณ์เฉียดตาย ที่เราสนุกกับมันได้ ก็เพราะเรารู้ว่าเราปลอดภัย แต่เราก็ยังอยากเข้าใกล้ประสบการณ์อันตรายที่เฉียดตายอันนั้น ประหนึ่งว่าเราเข้าใกล้ the real หรือ ego ที่ไม่ผ่านกระบวนการ signify ทางวัฒนธรรมนั่นเอง
และผู้ที่ทำให้ความต่างเป็นสิ่งที่ชัดเจน ถกเถียงกันมากที่สุดคงไม่พ้น Derrida ที่นำเอาความคิดของ Barthes และ Lacan มาต่อยอดอีกที Derrida ปฏิเสธเรื่อง stable essence ของ Barthes และ Lacan โดยให้เหตุผลว่าความต่างนั้นอยู่ที่ความเลื่อนไหล deferral และความไม่เหมือน difference ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า stable essence หรือ centre ซึ่งใน Lacan ก็คือความเชื่อเรื่อง the real ที่ไม่สามารถจะ deconstruct ต่อไปได้อีก และนี่ก็เป็นที่มาของคำพูดอันลือลั่นของ Derrida ที่ว่า Il ny a pas de hors-texte หรือ theres nothing outside the text นั่นเอง
คำพูดนี้ของ Derrida สำคัญตรงไหน สำคัญตรงที่ทำให้เราเข้าใจ representation มากขึ้น Derrida เสนอว่า เราไม่สามารถจะเข้าใจประสบการณ์อะไรโดยไม่ผ่านภาษาไม่ได้เลย ภาษาคือสิ่งที่สร้าง representation ของวัฒนธรรม เช่น ต้นไม้ ถ้าไม่มีคำว่าต้นไม้ เราก็จะไม่มีวันรู้ว่าต้นไม้คืออะไร และเรารู้ว่าต้นไม้คือต้นไม้เพราะมันไม่ใช่ หิน ดินสอ ปากกา น้ำ ฯลฯ เพราะความต่างของมัน
(ขอจบ Derrida ไว้แค่นี้นะคะ ถ้าพูดมากกว่านี้อาจตายคาคอมได้) Michel Foucault จับเอาแนวคิด representation นี้มาต่อยอดสร้างวิธีคิดแบบ Discourse หรือวาทกรรม วาทกรรมก็คือ กลุ่มภาพแทน หรือ representation ของสิ่งต่างๆ เช่นภาพแทนของผู้หญิงในยุควิคตอเรียน ภาพแทนของเกย์ในวรรณคดีอังกฤษต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ภาพแทนของทาสผิวดำในอเมริกา ฯลฯ ที่เราสามารถหยิบจับภาพแทนอันนั้นมารวบรวม แล้ววิเคราะห์ว่าภาพแทนเหล่านั้นมีผลต่อสังคมอย่างไร งานที่โด่งดังของ Foucault คือ History of sexuality ที่ Foucault ไปศึกษาภาพแทนของ sex ในประวัติศาสตร์ สมมติฐานก็คือ อยู่ดีๆ sex ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม แต่มีการประดิษฐ์ การสร้างกฏเกณฑ์บางอย่าง ที่ทำให้ sex เป็นสิ่งสกปรก ให้ผู้หญิงที่ต้องการเซ็กส์ถูก label ว่าเป็นฮิสทีเรีย ฯลฯ โดยผ่านวาทกรรมทางศาสนา สังคม จารีตประเพณี ฯลฯ ที่ทำให้วาทกรรมเรื่องต้องห้ามทางเพศเป็นความคิดที่ valid ในประวัติศาสตร์
และจาก Foucault เราก็ได้เห็นการศึกษาวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมาก ตัวอย่างคือ Edward Said เจ้าของทฤษฏี Orientalism ที่บอกว่า ตะวันออกไม่มีอยู่จริง ตะวันออกเป็นภาพที่ตะวันตกสร้างขึ้นเท่านั้น Said ใช้แนวคิดเรื่องวาทกรรมมาอธิบายการสร้างภาพ ความเชื่อ มายาคติ ของตะวันออก ว่า ตะวันตกนั้นต้องการความเหนือกว่า แต่ถ้าคุณต้องการความเหนือกว่า คุณก็ต้องสร้างคู่ต่างที่ด้อยกว่า ประหนึ่งเราจะไม่เข้าใจว่าแสงคืออะไร ถ้าเราอยู่ในโลกที่ไม่มีความมืด ตะวันตกจะอยู่ดีๆเหนือกว่าไม่ได้ ถ้าไม่มีคู่ต่างให้เปรียบเทียบ ตะวันตกจึงต้องสร้างตะวันออกมาให้เป็นคู่ต่าง ถ้าตะวันตกเหนือกว่า ก็แปลว่าตะวันออกด้อย กว่า Said ก็ศึกษาโดยดูจากนวนิยาย บันทึกการเดินทาง กฏหมายที่อังกฤษและฝรั่งเศสใช้ปกครองอาณานิคม ที่มันสะท้อนว่าตะวันตกพัฒนาภาพแทน หรือ representation ของตะวันออกอย่างไร เช่น Flaubert นักเขียนชาวฝรั่งเศสยุคศตวรรษที่ 19 ได้เดินทางไปอียิปต์ แล้วเขียนเล่าเรื่องราวพิสวาทระหว่างเขากับนางระบำในราชสำนักที่ชื่อ Kushuk Hanem ซึ่ง Flaubert ได้บรรยายความงาม ความเร่าร้อน ของสตรีอียิปต์ผู้นี้ที่พร้อมจะมีสัมพันธ์กับเขาได้โดยไม่มีข้อห้ามมาก ภาพของ Kushuk Hanem ได้กลายมาเป็นภาพแทนของตะวันออก ว่าเป็นดินแดนที่ไม่เคร่งครัดเรื่องเพศ ผู้คนไม่มีศีลธรรมอย่างตะวันตก เป็นต้น ทฤษฎีของ Said ได้ก่อให้เกิดกระแส Postcolonial studies หรือการศึกษาวัฒนธรรมภายหลังยุคอาณานิคม ที่ยึดหลักที่ตะวันตกแบ่งแยกตะวันออกเป็นคู่ต่าง ไม่ว่าจะเป็น The west/the rest, us/them, civilized/backward
จะเห็นได้ว่า theme ของ Cultural Studies คือความต่าง อาจเรียกได้ว่า literary studies นั้นเป็นสาขาวิชาแรกที่จับเอาแนวคิดเรื่องคู่ต่างนี้มาศึกษาวรรณคดี ภายหลัง พวกทฤษฎีเหล่านี้เกิดไปต้องตาต้องใจนักวิชาการสาขาอื่นเข้า เลยเป็นที่นิยม นักวิชาการรัฐศาสตร์จะนิยม Foucault เป็นส่วนใหญ่ นักวรรณคดีจะศึกษาวรรณคดีโดยใช้ทฤษฏีเหล่านี้โดยมีวรรณคดีเป็นวัตถุศึกษา รวมไปถึง gender studies, film studies และที่กำลังมาแรงคือ translation studies (ที่ดิชั้นเรียนอยู่นั่นแล) ต่างก็จัดว่าเป็น สาขา หนึ่งของ cultural studies ก็ได้ แต่ translation studies อาจนับได้ว่าเป็น intercultural studies เพราะคาบเกี่ยวกับสองภาษาขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมากกว่าหนึ่งวัฒนธรรม
ขอจบภาคแรกไว้เท่านี้ ภาคต่อไปจะมาต่อเรื่อง Cultural Studies ในแง่มุมที่เกี่ยวกับสังคม ซึ่งจะโยงไปถึงพวก Marxist อย่าง Althusser, Gramsci, Adorno และขวัญใจคนใหม่ของเรา Bourdieu
โปรดติดตามภาคต่อไป © ขอสงวนข้อความในบล็อกนี้ ไม่อนุญาตให้เอาไปเผยแพร่โดยไม่มีการอ้างอิงหรือได้รับอนุญาต
Create Date : 09 ตุลาคม 2550 |
| |
|
Last Update : 15 ตุลาคม 2550 0:41:32 น. |
| |
Counter : 4711 Pageviews. |
| |
|
|