Group Blog
 
All Blogs
 

๕ ธ.ค.๕๙

๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ เป็นปีแรกที่ไม่มีการร้องเพลง สดุดีมหาราชา

และคงจะไม่ได้ยินอีกในปีค่อไป เพราะเป็นเพลงประจำพระองค์ ของในหลวงในพระบรมโกศ รัชกาลที่ ๙

ต่อไปนี้คงไม่มีใครร้องให้ผมฟังอักแล้ว ไม่มีอีกต่อไป

แต่ผมคงไม่มีวันลืมเลือน เรื้องร้องและทำนองเพลงนี้ไว้ในดวงใจนกว่าะตาย


เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ


เบื้องหลังของเพลงสดุดีมหาราชา

============ก่อนจะมาเป็นเพลง..."สดุดีมหาราชา"============

ขอนำเบื้องลึกเบื้องหลัง มาแปะกระทู้
ให้ได้ดูได้อ่านเรื่องดีๆ ซักเรื่องนะครับ

เรื่องดีๆที่ว่า...เป็นเรื่องของคนที่ทำความดี แต่ไม่ต้องการเอ่ยนาม...

(เมื่อชาติที่แล้วคงชอบปิดทองหลังพระ)

หลายๆท่านในที่นี้...หรือ แม้แต่คนไทยทั้งประเทศ คงรู้จัก
และเคยร้องเพลงนี้กันกระหึ่มก้องฟ้าเมืองไทยกันมาแล้วทุกคน

"สดุดีมหาราชา" ครับ...เพลงนี้ แทบจะกลายเป็นเพลงประจำชาติไปแล้ว

ร้องได้แม้แต่เด็กตัวน้อย ไปจนถึง ชราชน...

ก็เลยอยากจะนำเสนอถึงเบื้องลึก เบื้องหลัง ก่อนจะมาเป็นเพลงนี้
ให้ได้ทราบกัน

บางท่านก็คงได้ทราบกันมาเป็นเลาๆ บ้างแล้ว

ความจริงเรื่องนี้ ผมอยากจะเล่าให้ฟังนานแล้ว แต่เจ้าตัวผู้ริเริ่ม
ผู้ได้รับแรงบรรดาลใจ ให้เกิดมีเพลงนี้ขึ้นมา
เค้าไม่ต้องการที่จะเปิดตัว แสดงออกว่า

ที่เกิดเพลงนี้ขึ้นมา เพราะฉันเอง..!

ส่วนใหญ่คนในวงการภาพยนตร์ที่อยู่เบื้องหลัง มักจะมีความคิดกันแบบนี้

ผมเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่อยู่เบื้องหลังในวงการภาพยนตร์ไทย
ก็เลยไม่พูดถึง

อ้าว...พูดถึงเพลง แต่ไปพาดพิงถึงภาพยนตร์...ครับ..

ก็เพราะเพลงนี้เกิดจากเป็นเพลงในภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2509

"ลมหนาว"
ภาพยนตร์โดยคุณชรินทร์ นันทนาคร นั่นแหละครับตัวต้นเหตุ

เผอิญวันนี้ เรื่องนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะชน โดยคุณ "ซูม" ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก็เลยเกิดความคิดขึ้นมา
ว่าควรเผยแผ่ให้เป็นที่รู้กัน โดยทั่วไป

เรื่องราวเหล่านี้คุณ ชรินทร์ นันทนาคร เขียนไว้นานแล้ว ในหนังสือที่ระลึก
ของครู "สมาน กาญจนผลิน" แล้วก็หยุดอยู่เพียงแค่นั้น

เมื่อคุณซูมออกมาเผยแพร่ ผมก็เลยถือโอกาส ก็อปมาขยายต่อซะเลย

ขอบคุณครับคุณซูม..!!

จากคุณ : ~นายเฉิ่มศักดิ์~
เขียนเมื่อ : 21 ส.ค. 54 12:20:26
--------------------------------------------------------------------------------

ความคิดเห็นที่ 1

ผม....(ชรินทร์ นันทนาคร) ทราบข่าวการเสียชีวิตของ "น้าหมาน"
(สมาน กาญจนผลิน) จากคุณเพชรา เชาวราษฎร์ทางโทรศัพท์
ขณะทัวร์คอนเสิร์ตอยู่ที่อเมริกา กลับมาก็ได้ไปแสดงความเสียใจต่อบรรดาทายาทของน้าหมาน และได้รับการขอร้องให้เขียนเล่าถึงเบื้องหลังบท เพลงสำคญที่สุด ที่ชื่อ

"สดุดีมหาราชา"

รับปากแล้วลังเลเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมไม่เคยเอาชื่อของตัวเองเข้าไปผูกพันกับผลงานแต่งเพลง
จนกระทั่งคุณ พูลศรี เจริญพงษ์ ผู้รวบรวมข้อเขียนไว้อาลัยโทรฯ มาบอกว่าให้เขียนเถอะ เพราะความความจริงไม่ใช่เรื่องเสียหาย

ก็ขอย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2507 ผมมีโอกาสขึ้นไปดูสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ที่บ้านป่าแป๋
ที่มีน้ำพุร้อนสวยที่สุดที่เชียงใหม่ เห็นแม๊วเป๊อะของเต็มกระบุงขึ้นดอยมา
ที่ขอบกระบุงมีธง ภ.ป.ร.ผืนน้อยเสียบอยู่ ถามดูได้ความว่าซื้อมาจากในเมือง อันละ 8 บาท
จะเอาไปติดบูชาที่ประตูบ้านในวันสำคัญ้ของเจ้าพ่อหลวง

ผมมองตามธงผืนนั้นไกลออกไปในระหว่างหุบเขา และจะด้วยอะไรก็ไม่รู้ ผมนึกชื่อขึ้นมาได้ชื่อหนึ่งว่า

"สุดดีมหาราชา"

เก็บชื่อ และคิดว่าจะทำอะไรอยู่ 2 ปีจึงได้ไปพบผู้มีพระคุณท่านหนึ่งซึ่งผมนับถือเสมือน "พ่อ"

ท่านคือ พระยาศรีวิศาลวาจา

กราบเรียนถามท่านว่าถ้าเราจะแต่งเพลงรักและบูชาพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินีของเรา โดยใช้ถ้อยคำธรรมดาง่ายๆแบบชาวบ้าน
จะเป็นการมิบังควรหรือเปล่า ท่านบอกเป็นความคิดที่ดีมาก รีบไปทำได้เลย

นักประพันธ์เพลงที่ฝีมือดีมีมากมายในบ้านเรา แต่ผู้ที่จะมาสร้างทำนองเพลงอันสำคัญนี้
คงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก "น้าหมาน" หรือคุณสมาน กาญจนผลิน เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่าน
เคยบันทึกเสียงเพลงด้วยกันมา ผมทราบดีว่าคนคนนี้ "อัจฉริยะ"

ปัญหาอยู่ที่เนื้อร้อง ผมตรงไปพบ คุณสุรัฐ พุกกะเวส นักประพันธ์เพลงอาวุโส และช่วงนั้น
ท่านเป็นนายกสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงด้วย ท่านขอเวลา 2 วัน ถึงเวลาไปรับเนื้อเพลงปรากฏว่ายาวมาก
ถ้อยคำส่วนใหญ่จะเป็นราชาศัพท์ ไม่ตรงกับใจที่หวังไว้ ถึงอย่างไรก็ถือว่าได้เริ่มต้นกันแล้ว

คิดอยู่อีกนานว่าจะทำอย่างไร เผอิญได้พบกับคุณ ชาลี อินทรวิจิตร ในร้านอาหาร "สีทันดร"
ผมระบายความในใจและสิ่งที่อยากจะได้ให้เขาฟัง บอกชื่อเพลงให้เขาไปว่า "สดุดีมหาราชา"

รุ่งขึ้นรับชาลีที่บ้านหลังศาลเจ้าแซ่ซิ้ม ธนบุรี ตี 5 ครึ่งบึ่งไปบ้านน้าหมานในซอยข้างวัดเทพธิดาราม
พอเริ่มแต่งเพลง ชาลีเริ่มเกร็ง เนื้อร้องต้องมาก่อนเอาง่ายๆแบบชาวบ้านแต่ประทับใจ ผมบอก...

ชาลีเถียง ....นั่นแหละยากแล้ว

จากคุณ : ~นายเฉิ่มศักดิ์~
เขียนเมื่อ : 21 ส.ค. 54 12:30:17


ความคิดเห็นที่ 2

ชาลีก็ถามผมขึ้นมาลอยๆว่า....
"เออ ชรินทร์ ถ้าเผอิญในหลวงท่านมาในซอยนี้ แล้วเราไปเจอพระองค์ท่านเราจะทำยังไง"
ผมก็บอกไปว่า "เราคงต้องนั่ง หรือคุกเข่าพนมมือ...ขอเดชะข้าพระพุทธเจ้า....แล้วเรามีอะไรก็กราบบังคมทูลพระองค์ท่าน"

ชาลีรีบเขียนในกระดาษ

....ขอเดชะองค์พระประมุขภูมิพล มิ่งขวัญปวงชนประชาชาติไทย....

เหมือนลมเย็นพัดมาวูบหนึ่ง แล้วก็พาความวิตกกังวลที่สุมอยู่ในหัวใจผมมานานหายไปในพริบตา
ผมดึงเนื้อเพลงบรรทัดนั้นส่งให้น้าหมาน ท่านพรมนิ้วลงบนคีย์เปียโนไล่เสียง ไม่นานเลย
แล้วทำนองเพลงก็หลั่งไหลมา ครั้งเดียวก็ดีเยี่ยม เป็นทำนองที่เราท่านทั้งหลายร้องสดุดีมหาราชาจากวันนั้นถึงวันนี้

ได้บรรทัดแรกมาเราสามคนก็หายจากอาการเกร็ง...ฟ้าดินเป็นใจเราแล้ว
ก็แต่งต่อจนจบท่อน สดุดีมหาราชา...สดุดีมหาราชินี
แล้วชาลีก็พูดขึ้นอีกว่า...ต่อไปนี้เป็นท่อนจบความไพราะทั้งหลายทั้งปวงจะต้องมารวมกันอยู่ที่ตรงนี้....และนี่คือเนื้อเพลง...

...อ่าองค์พระสยมบรมราชันย์ขวัญหล้า...

อ่านบรรทัดที่หนึ่งผมก็นิ่ง ชาลีเขาอ่านสีหน้าผมออกยิ่งกว่าอ่านแบบเรียนเร็ว....ชาลีพูดเสียงดัง...

"กูตามใจมืงมา 8 บรรทัดแล้ว จะแต่งตามใจกูสักบรรทัดไม่เชียวหรือวะ...ชรินทร์"

เออ.... ก็ต้องรีบประนีประนอมขอฟังทำนองจากน้าหมานก่อน ถ้าเพราะก็คงไม่ยาก

น้าหมานอ่านเนื้อแล้วไล่คีย์เปียโน...บอกว่าทำนองจะขาดไป 2 ห้อง ต้องทำสะพานดนตรีลงมารับกับคำร้องท่อนสุดท้าย

...อ่าองค์พระสยม...แล้วท่านก็ดีดให้ฟัง

อีกครั้ง อัจฉริยะชนคนธรรมดาสำแดงฤทธิ์ทางดนตรี ดีดทีเดียวก็ไพเราะจับใจ ท่านผู้อ่านลองร้องดูเถอะครับ...

...อ่าองค์พระสยมบรมราชันย์ขวัญหล้า เปล่งบุญญาสมสง่าบารมี
ผองข้าพระพุทธเจ้า น้อมเกล้าขออัญชุลี สดุดีมหาราชา สดุดี มหาราชินี...

เพลงสดุดีมหาราชาเผยแพร่สู่ประชาชนครั้งแรก โดยบรรจุไว้ในภาพยนตร์เพลงพระราชทาน "ลมหนาว" ที่ผมสร้าง
ฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงเมื่อปี 09 เป็นตอนใกล้จบเรื่อง
มีภาพนักโทษการเมือง และพระเอกของเรื่องที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา
เดินออกจากคุกและพร้อมใจกันก้มกราบระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

ผู้คนที่เข้ามาดูภาพยนตร์ในรอบแรก ต่างลุกขึ้นยืนถวายความเคารพ คนเฝ้าประตูใหญ่ด้านข้างของเฉลิมกรุงก็เปิดประตู

ผู้คนเข้าใจว่าภาพยนตร์จบแล้ว ต่างก็กรูกันออกไปเต็มถนนเจริญกรุง

ไม่นานก็ได้เรื่อง

ตำรวจพาตัวผมไปที่โรงพักพระราชวังเพราะมีคนไปแจ้งความว่าผมเอาเพลงอะไรก็ไม่รู้มาเปิดแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี

จากคุณ : ~นายเฉิ่มศักดิ์~
เขียนเมื่อ : 21 ส.ค. 54 12:39:15


ความคิดเห็นที่ 3

อธิบายให้ตำรวจฟังยังไงก็ไม่เข้าใจ ทางโรงก็ไม่กล้าฉายหนัง ผมก็ต้องโทรถึงที่พึ่งของผม

พักใหญ่ที่พึ่งของผมท่านก็มา ตำรวจตั้งแถวกันพรึบพรับทั่วทั้งโรงพักและทุกอย่างก็จบลงด้วยรอยยิ้มและความเข้าใจ

ภาพยนตร์ก็ฉายได้ตามปกติ

จากวันนั้นถึงวันนี้ เพลง "สดุดีมหาราชา" ได้กลายเป็นเพลงของประชาชนคนไทยทั้งประเทศไปแล้ว
ถ้าสวรรค์มีจริง อัจฉริยะชนคนธรรมดา และเป็นคนดีที่พร้อมอย่างน้าหมาน ท่านคงยิ้มอย่างเป็นสุขอยู่บนนั้น.




ครับ...เป็นบันทึกเรื่องราวที่เขียนโดย
คุณชรินทร์ นันทนาคร


ต้นเหตุ...ก่อนจะเป็นเพลง..."สดุดีมหาราชา"


ผมเพียงนำมาเล่าสู่กันฟัง...!!

จากคุณ : ~นายเฉิ่มศักดิ์~
เขียนเมื่อ : 21 ส.ค. 54 12:42:48

เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙

ผู้เล่านำมาเล่าเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๔

ผมเอามาเล่าต่อในอีก ๕ ปีค่อมา พ.ศ.๒๕๕๙

น่ำตาไหลรินออกมาเงียบ ๆ ห้ามไม่หยุดครับ.




 

Create Date : 06 ธันวาคม 2559    
Last Update : 6 ธันวาคม 2559 15:37:55 น.
Counter : 2962 Pageviews.  

วิทยุกระจายเสีบงและโทรทัศน์ของทหาร

เล่าความหลัง

วิทยุการะจายเสียงและโทรทัศน์ของทหาร

“ วชิรพักตร์ “

ในช่วงเวลาก่อนที่ทหารสื่อสารจะครบรอบ ๘๑ ปี ได้มีข่าวการถึงแก่กรรมของนายทหารสื่อสาร สองท่าน ซึ่งในอดีตบุคคลทั้งสองนี้เป็นผู้ที่มีความสำคัญยิ่ง ของเหล่าทหารสื่อสาร และกรมการทหารสื่อสาร แม้ว่าท่านจะได้พ้นจากกรมการทหารสื่อสาร ไปหลายสิบปีแล้วก็ตาม ผลงานที่ท่านทิ้งไว้ให้เหล่าทหารสื่อสารนั้น ก็ยังคงเจริญงอกงามอยู่จนถึงปัจจุบัน ท่านคือ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง และ พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์

เมื่อ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง เริ่มเข้ารับราชการในกรมจเรทหารสื่อสาร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ นั้น ผมยังไม่ได้เข้ามาอยู่ในรั้วสีม่วง มุมสะพานแดงแห่งนี้ ท่านเป็นผู้เริ่มกิจการวิทยุกระจายเสียงของกรมจเรทหารสื่อสาร ซึ่งเป็นสถานีที่สามของประเทศไทย รองจากกรมไปรษณีย์โทรเลข และกรมประชาสัมพันธ์

สถานีวิทยุ จส.๑ ที่มีท่านเป็นผู้ดำเนินการแต่ผู้เดียว ทั้งการปรับปรุงเครื่องส่ง ทั้งการจัดรายการออกอากาศ และเป็นโฆษกด้วยทุกวัน เสียงของท่านจึงดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองไม่ขาดสาย จนได้รับสมญาว่า โฆษกเสียงเสน่ห์

ผมเคยเข้าชมรายการสดของท่านซึ่งจัดขึ้นที่ชั้นบน ของอาคารพิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสารในปัจจุบัน ชื่อรายการอะไรก็จำไม่ได้ โดยมี คุณบุญส่ง หักฤทธิ์ศึก และ คุณ.บุญเลิศ เสมาชัย ขณะนั้นยังเป็นนายทหารประทวนทั้งคู่เป็นผู้ช่วย กับมี พลทหาร สุกิตต์ มหาชานันท์ เป็นผู้ตีฆ้องโหม่งเปิด รายการ ซึ่งรายการที่ว่านี้ได้ออกอากาศทางสถานีวิทยุ จส.๑ และได้มีผู้สนใจติดตามชมและฟังเป็นอันมาก จนต้องขยับขยายไปจัดรายการสดที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง และที่อื่น ๆ นอกสถานที่หลายครั้ง รายการที่เด่นดังมากก็คือรายการต้อนรับวีรบุรุษ ยศร้อยตรี จากกองทหารไทยในสงครามเกาหลี ซึ่งผมจำชื่อไม่ได้และภายหลังท่านก็ได้เป็นนายพล


พอถึง พ.ศ.๒๕๐๐ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี หรือ ททท.ช่อง ๔ ได้เปิดมาแล้ว ๒ ปี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ตั้งสถานีโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ททบ.ช่อง ๗ ขึ้น พันเอก การุณ เก่งระดมยิง ก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งเครื่องส่ง จนเปิดสถานีได้ในวันกองทัพบก ๒๕ มกราคม ๒๕๐๑ และรับหน้าที่ดำเนินรายการแต่เพียงผู้เดียวอีกตามเคย

ถึง พ.ศ.๒๕๐๒ พลจัตวา สุภชัย สุรวรรธนะ รองเจ้ากรมการทหารสื่อสารในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๗ และมีการจัดแบ่งการทำงานออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง จึงเป็นหัวหน้าฝ่ายเทคนิคเพียงตำแหน่งเดียว และให้ พันเอก ถาวร ช่วยประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการ โรงเรียนทหารสื่อสาร ศูนย์การทหารสื่อสาร เป็น หัวหน้าฝ่ายจัดรายการ ท่านผู้นี้ได้เริ่มปรับปรุงห้องส่ง แสง เสียง ฉาก และเชิญผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในด้านภาพยนตร์ และละคร รวมทั้งศิลปินที่มีชื่อเสียง มาร่วมมือกันจัดรายการสาระและบันเทิง ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง จนทำให้สถานีมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้ชม ทัดเทียมกับสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง ๔ ซึ่งได้ดำเนิน กิจการมาก่อนถึง ๓ ปี

บุคคลที่ได้ช่วยงานด้านจัดรายการเป็นอย่างมากคือ พันตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ประจำกองการภาพ กรมการทหารสื่อสาร ได้ทรงร่วมงานกับหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ ในการปรับปรุงครั้งนี้ อย่างเต็มที่ โดยที่ทรงเป็นผู้ชำนาญการนิพนธ์ บทละครและภาพยนตร์ ซึ่งได้สร้างผลงานอันมีชื่อเสียงไว้มากมาย

ถึงเดือน สิงหาคม ๒๕๐๕ สายอากาศของสถานีขัดข้อง ต้องหยุดออกอากาศเป็นเวลา ๗ วัน ฝ่ายเทคนิคได้ตรวจพบข้อบกพร่องแล้ว หัวหน้าฝ่ายเทคนิคจึงต้องเดินทางไปซื้ออุปกรณ์ที่ เสียหายจากต่างประเทศ ไปกลับในสองวัน และปีนเสาอากาศสูง ๓๐๐ ฟุตขึ้นไปแก้ไขด้วยตนเอง จนสำเร็จเรียบร้อย ออกอากาศได้เป็นปกติ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการได้ทรงเล่าเรื่องจากความทรงจำไว้ในหนังสือที่ระลึก ททบ.ครบรอบ ๓๔ ปี ว่า

วันหนึ่ง พ.อ.ม.จ.มุรธาภิเศก รองเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ทรงเรียกข้าพเจ้าไปพบ ขณะที่ข้าพเจ้ารับราชการกองการภาพ กรมการทหารสื่อสาร มีรับสั่งว่า ขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนตัวผู้จัดรายการสถานี โทรทัศน์ ช่อง ๗ (ขาวดำ) จาก พ.อ.การุณ เก่งระดมยิง เป็น พ.อ.ถาวร ช่วยประสิทธิ์ เนื่องจาก พ.อ.ถาวร เป็นนายทหารมาตรฐานของกรมการทหารสื่อสาร คงจะไม่มีประสบการณ์ในด้านการบันเทิง จึงอยากให้ข้าพเจ้าไปช่วยรายการที่สถานีโทรทัศน์ ช่อง ๗ (ขาวดำ)

ข้าพเจ้าได้ไปพบ พ.อ.ถาวร ตามคำสั่ง คุณถาวรมองหน้าข้าพเจ้าแล้วบอกกล่าวว่า ขณะนี้ทางสถานีฯกำลังต้องการปรับปรุงรายการ ที่ดูยังล้าหลังอยู่ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ สถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่ในครั้งนั้น มีอยู่สองสถานีคือ สถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ ช่อง ๔ และของเรา สถานีทดลองของทหารบกช่อง ๗ (ขาวดำ) ว่าข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างไร ที่จะปรับปรุงให้ดีทัดเทียมเขา

มองตามสถานการณ์ สถานีของเรายังด้อยกว่าเขามาก ประการแรกสถานีกองทัพบกยังอยู่ในฐานะทดลอง ได้รับงบประมาณที่เรียกว่าปัดเศษ ส่วนสถานีของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นสถานีมาตรฐานมีงบประมาณเป็นที่แน่นอน จึงสามารถใช้เงินจ้างเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะฝ่ายจัดรายการ ได้อย่างไม่จำกัด ฝ่ายของกองทัพบกใช้ เจ้าพนักงานที่เป็นทหาร ส่วนใหญ่เป็นนายทหารชั้นประทวน ผิดกันไกลกับชองเขาที่มีสาว ๆ หน้าแฉล้มอย่าง อารีย์ นักดนตรี ซึ่งมีความงามลือเลื่องเป็นโฆษก ในขณะของเรามีแต่โฆษกชาย ที่จัดว่าเป็นเอกคือ พ.ต.บัลลังก์ ขมะสุนทร ซึ่งยืมตัวมาจากกรมแผนที่ทหารบก

คณะบริหารของ พ.อ.ถาวร มีอยู่สามคนด้วยกัน คือคุณถาวรหนึ่ง คุณบัลลังก์เป็นสอง และข้าพเจ้าเป็นสาม เราแบ่งหน้าที่กันทำ คือคุณถาวรเป็นหัวหน้าบริหารงาน ควบคุมรายการมโนสาเร่ เช่นรายการสัมมนานักสืบ ฯลฯ ส่วนคุณบัลลังก์ควบคุมรายการข่าว และเป็นโฆษกประจำสถานี ส่วนข้าพเจ้านั้นได้รับหน้าที่ควบคุมรายการบันเทิง อันเป็นเรื่องใหญ่น่าหนักใจ เพราะรายการบันเทิงเป็นรายการใหญ่ ที่จะต้องสร้างความนิยมให้กับสถานี

ตามปกติในสมัยนั้น แต่ละสถานีจะออกอากาศตั้งแต่เวลา หนึ่งหรือสองทุ่ม โดยมีรายการข่าว รายการสารคดี ฯลฯ ปิดท้ายด้วยรายการใหญ่ คือรายการละครซึ่งแสดงสด ๆ บนเวทีในห้องถ่าย สมัยนั้นยังไม่มีการ อัดเทปล่วงหน้า หากไม่มีละครก็ใช้ภาพยนตร์แทน

การจัดรายการละครต้องลงทุนลงแรงสูงเพื่อล่อตาคนดู โดยเฉพาะบริษัทการค้าที่อุปถัมภ์รายการ พูดสั้น ๆ ก็คือการให้เงินเพื่อสถานีจะทรงชีวิตอยู่ได้ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ รุดหน้าสถานีกองทัพบก แทบมองไม่เห็นหลัง ประการแรกเขามีโฆษกหน้าแฉล้มหลายคน แวดล้อมผู้จัดรายการ (คุณจำนง รังสิกุล) ส่วนของเรานอกจาก โฆษกเอกคุณบัลลังก์ เราก็มีแต่นายสิบสาวเช่น คุณรำไพ ปรีเปรม และคนอื่นอีก

วันหนึ่งคุณถาวรหัวหน้าฝ่ายจัดรายการก็ประกาศลั่น...จะลั่นกลองรบ โดยจัดรายการสุดท้าย(ละคร)ให้ดัง โดยมอบหน้าที่ให้ข้าพเจ้าจัดละครใหญ่ ที่ไม่ต้องใช้เงินมากนักสักเรื่อง เอาให้ดังทีเดียว เป็นเรื่องหนักใจข้าพเจ้าไม่ใช่น้อย เพราะการจัดละครใหญ่ จำเป็นต้องมีเงินใหญ่ด้วย ข้าพเจ้าคิดไปคิดมา เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาก็ลงมือเขียนละคร(ใหญ่) ขึ้นเรื่องหนึ่งโดยอาศัยเรื่องของ ยาขอบ ชื่อ เป็นไทยต้องสู้ ชื่อเหมาะดี แต่ฐานะของเราไม่ดี อย่างไรก็ตามเมื่อคุณถาวรประกาศลั่นกลองรบ ข้าพเจ้าก็จะต้องเป็นคนตีกลองให้ดัง

เรื่องนี้ต้องใช้คนแสดงมากนับเป็นสิบ ได้มอบบทนางเอกสาวจีนให้ สุพรรณ บูรณพิมพ์ ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นนางเอกในเรื่อง และไปชวน ประกอบ ไชยพิพัฒน์ ตัวพระรามชื่อดัง(สมัยนั้น) มาเป็นพระเอก ส่วนตัวประกอบอื่น ๆ เลือกคัดมาจากพวกเราในสถานีเช่น ศรีนวล แก้วบัวสาย นักพากย์ประจำสถานี รำไพ ปรีเปรม คนสวย(ที่สุดของเรา) เป็นน้องสาวนางเอก ส่วนตัวละครอื่น ๆ เก็บตกเอาจากนายทหารนายสิบในสถานี (เพราะไม่มีเงินจะจ้างตัวประกอบอาชีพ) เรื่องเครื่องแต่งกายก็เป็นปัญหา เพราะละครเรื่องนี้เป็นเรื่องในยุคที่คนไทยยังอยู่น่านเจ้าติดกับเมืองจีน การแต่งกายเต็มไปด้วนสีสรรค์ เคราะห์ดีอีกที่เจ้าของงิ้วคณะหนึ่ง ที่เป็นเพื่อนรักใคร่ของข้าพเจ้า รับอุปถัมภ์เครื่องแต่งกาย(งิ้ว)ทั้งหมด และยังให้คนมาช่วยแต่งกาย แต่งหน้า ตัวละครให้เป็นงิ้วอีกด้วย

การฝึกซ้อมทำกันอย่างเคร่งเครียด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างหน้าใหม่หมด ละครในคืนนั้นต้องระดมสรรพกำลัง ไม่ว่าจะเป็นนายทหาร นายสิบ แม้แต่ภารโรง ก็ต้องเข้าฉากเป็นตัวประกอบ ผู้ที่เข้ามาติดต่อสถานีในคืนนั้นต้องแปลกใจเป็นอันมาก เพราะอยู่ ๆ ก็พบนายทหารเวร นายสิบเวร กลายสภาพเป็นตัวงิ้วแทนเครื่องแบบ นับว่าสนุกดี

หลังจากความสำเร็จในละครเรื่อง เป็นไทยต้องสู้ แล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องรับภาระอันหนักโดยมีหน้าที่ต้องเขียนเรื่อง และจัดละครรายการสุดท้าย เดือนละเรื่องสองเรื่องเป็นประจำ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ (ขาวดำ) ก็ลืมหน้าอ้าปาก ต่อสู้กับสถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ ช่อง ๔ ได้

ท่านได้เล่าว่ามีละครอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งได้เชิญ พ.อ.ถาวร ช่วยประสิทธิ์ กับ พ.ต.บัลลังก์ ขมะสุนทร เป็นผู้แสดงเอก ท่านทั้งสองเกี่ยงว่า

เมื่อข้าพเจ้าเกณฑ์พวกท่านแสดง ทำไมข้าพเจ้าจึงไม่แสดงเสียเอง ? ข้าพเจ้าจึงต้องเข้าร่วมแสดง แต่ไม่ได้เป็นนายพล หากเป็นพลทหารให้ชื่อว่า พลทหารขาว ทหารคนใช้ของท่านนายพล นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา คณะละคร อ.ถ.บ. (อนุสร, ถาวร, บัลลังก์) ก็เกิดขึ้นและเป็นเจ้าของรายการละครที่ข้าพเจ้าจัดขึ้น

ท่านยังจำได้ว่าบทละครที่ท่านเขียนให้แสดงในสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๗ (ขาวดำ) รวมทั้งสิ้นถึง ๒๔ เรื่อง


ในปีต่อมา พันเอก การุณก็ได้เริ่มจัดรายการ ป็อปท็อป บันไดดารา และ๒๐ คำถาม ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ททบ.ช่อง ๗ ติดต่อกันไปเป็นเวลานับสิบปี และมีลูกศิษย์ในด้านการดำเนินรายการโทรทัศน์หลายคน ซึ่งในปัจจุบันได้เป็นนายพลหญิง และ สมาชิกวุฒิสภา เป็นนักแสดง เป็นพิธีกร ก็มี

แต่ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง ผู้เริ่มเปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เป็นคนแรกนั้น ได้ย้ายไปรับราชการทาง กองบัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๕ สุดท้ายเป็นผู้อำนวยการ กองวิทยุกระจายเสียง กองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) ในอัตราพันเอกพิเศษ

และได้ลาออกจากราชการ ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ประมาณ ๑ ปี หลังจากที่ได้พ้นราชการทหารแล้ว ก็ป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองแตก และรักษาตัวอยู่นานจนอาการดีขึ้นบรรดาคณะศิษย์สามารถจัดงานวันเกิดครบ ๗๒ ปี เมื่อ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๒ และครบ ๘๔ ปี เมื่อ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ สุดท้ายได้ถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๗ อายุ ๘๕ ปีเศษ

ส่วนคณะ อ.ถ.บ.นั้น เมื่อองค์ผู้ทรงก่อตั้งได้ย้ายไปรับราชการ นอกกรมการทหารสื่อสารแล้ว ก็เลิกรากันไป ผู้ร่วมงานนั้น พลโท บัลลังก์ ขมะสุนทร ต่อมาได้เป็น เจ้ากรมแผนที่ทหาร เกษียณอายุราชการ พ.ศ.๒๕๒๗ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการ ทรงเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ทรงได้รับพระราชทานยศ พลโท เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ และสิ้นพระชนม์เมื่อ ๒ มกราคม ๒๕๔๑ พระชนมายุประมาณ ๘๓ พรรษา

พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์ เข้ารับราชการครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ในตำแหน่ง สำรองราชการ กองบังคับการทหารสื่อสาร มณฑลทหารบกที่ ๒ และได้เข้าร่วมในการปฏิบัติราชการสงครามอินโดจีน จนถึงสงครามมหาเอเซียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตลอดระยะเวลา ๕ ปี

หลังสงครามได้เข้ารับราชการในกรมการทหารสื่อสาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ ตำแหน่งสุดท้าย รองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารสื่อสาร กรมการทหารสื่อสาร พ.ศ.๒๕๑๙ ถึง พ.ศ.๒๕๒๐

เป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบก เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ ปฏิบัติหน้าที่นี้จนถึง พ.ศ.๒๕๑๙ ตำแหน่งสุดท้ายเป็น รองผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พ.ศ.๒๕๒๐ แล้วไปเป็นผู้ชำนาญการกองทัพบก

เกษียณอายุราชการ พ.ศ.๒๕๒๔ และได้เขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับเบื้องหลังของโทรทัศน์ไว้มากมาย จนอายุประมาณ ๘๒ ปีเศษ ก็ได้รับรางวัล นราธิป เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ ถึงแก่กรรมเมื่อ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ อายุ ๘๔ ปีเศษ

ภารกิจหลักของทหารสื่อสารนั้น เดิมก็มีเพียงการนำสาร ทัศนสัญญาณ โทรศัพท์ โทรเลข และวิทยุในทางยุทธวิธีเท่านั้น ต่อมากองทัพบกจึงได้เพิ่มภารกิจด้านวิทยุกระจายเสียง และ วิทยุโทรทัศน์ ขึ้นในกรมการทหารสื่อสาร

ดังนั้น พันเอก การุณ เก่งระดมยิง ผู้ปฏิบัติภารกิจทั้งสองนี้เป็นคนแรก ในเหล่าทหารสื่อสาร

และ พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายจัดรายการ คนแรกของสถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบก และได้ปฏิบัติงานอยู่ยาวนานเกือบ ๒๐ ปี

จึงสมควรที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ของทหารสื่อสาร อย่างแท้จริง.

#############




 

Create Date : 02 พฤศจิกายน 2559    
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2559 13:41:58 น.
Counter : 1853 Pageviews.  

เมื่อผมถูกสัมภาษณ์

ผู้เฒ่าเล่าอดีต

เมื่อผมถูกสัมภาษณ์

เจียวต้าย

เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ หลังจากที่ผมได้เขียนหนังสือสัพเพเหระ มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ ถึงพ.ศ.๒๕๕๑ ครบ ๖๐ ปี จึงได้หยุดเขียน เพราะอายุ ๘๓ ปีแล้ว ก็ได้รับโทรศัพท์ จากนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยบอกว่า ผมได้รับการเสนอชื่อ ให้ได้รับรางวัล “นราธิป” ซึ่งจะทำพิธีมอบรางวัลในเดือน มกราคม ๒๕๕๗ ผมงงไปครู่หนึ่ง เพราะไม่ทราบว่า สมาคมทราบว่าผมเป็นนักเขียนกะเขาด้วย และได้ทราบภายหลังว่า มีผู้เสนอชื่อจากการเรียบเรียง สามก๊กฉบับลิ่วล้อ จากต้นฉบับของท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในนามปากกา “เล่าเซี่ยงชุน”

แล้วผมก็รอหนังสือที่จะได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่ก่อนหน้านั้น ในวันหนึ่งก็ได้มีนักข่าวสาว มาสัมภาษณ์ผมที่บ้าน เพื่อจะนำไปเขียนลงในวารสาร ปากไก่ ของสมาคมฯ ฉบับพิเศษในงานวันมอบรางวัล

ซึ่งมีข้อความบางตอน ดังนี้

นักข่าวถาม เล่าเรื่องวัยเด็กให้ฟังนะคะ

ตอบ ส่วนใหญ่ประวัติของผมเขียนเล่าไว้หลายหนแล้ว มันอยู่ในหลาย ๆ แห่ง ไม่รวมกันถ้าถามก็ตอบว่า เกิดวัน ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะแม เทียบกับปฏิทินร้อยปี ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๓ แต่พอขึ้นทะเบียนมันเป็น ๑๙ มีนาคม ๒๔๗๔ บังเอิญ พ.ศ.เปลี่ยนเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ มันหายไปสามเดือน คือ มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เขามาขึ้น พ.ศ.๒๔๘๔ เลย ฉะนั้นเวลาที่ผมจะครบเกษียณอายุ มันก็ก็ต้องเพิ่มไปอีกหนึ่งปี เพิ่มแต่ พ.ศ.เวลาไม่ได้เพิ่ม

ผมเกิดที่กระบี่เพราะคุณพ่อเป็นชาวสวน คงจะมีความรู้เยอะ ท่านไปเป็นศึกษาธิการจังหวัด ผมก็เกิดที่นั่น แต่อยู่ได้ไม่กี่ปี ก็ถึงเวลาที่เขาดุลข้าราชการออก สมัยรัชกาลที่ ๗ เขาเรียกว่าดุลยภาพข้าราชการเพื่อลดงบประมาณ ก็เลยกลับมาอยู่สวนฝั่งธนบุรี ตอนนั้นผมอายุไม่ถึงสามขวบ พอสี่ขวบคุณแม่แยกออกมาจากคุณพ่อ มาอยู่กับคุณตา ที่ถนนราชดำเนินนอก ข้างโรงเรียนนายร้อย อยู่ที่นั่นจนจบชั้นมัธยมปีที่ ๑ จากโรงเรียนดำเนินศึกษา จึงย้ายมาอยู่ที่ สวนอ้อย หน้าวชิรพยาบาล เจอสงครามพอดี รายละเอียดอยู่ในหนังสือเรื่อง ชีวิตระหว่างสงคราม

มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ ถึง พ.ศ.๒๔๘๙ สอบ ม.๖ ตก ก็ลาออกจากโรงเรียน เพราะไม่มีค่าเล่าเรียน มาขายขนม แล้วก็เขียนหนังสือ ความคิดที่จะเขียนหนังสือก็คืออยากจะหารายได้เพิ่ม คิดว่าตนเองทำได้ เริ่มส่งเรื่องให้หนังสือพิมพ์ วาสารทั้งเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายสามเดือน รายล็อตเตอรี่ ส่งทุกที่ก็ได้รับการตอบรับบ้าง ลงตะกร้าบ้าง แต่ลงตะกร้าเป็นส่วนมาก ถึง พ.ศ.๒๔๙๑ จึงได้ลงเรื่องแรก ที่หนังสือพิมพ์โบว์แดง ของคุณ สันต์ เทวรักษ์ นักประพันธ์เอก เป็นบรรณาธิการ

นักข่าว จำชื่อเรื่องได้ไหมคะ

ตอบ ชื่อ “สุภาพบุรุษของจิตรา” นามปากกา “เพทาย” ตั้งใจว่าจะเขียนหนังสือไปจนหมดแรง ทีนี้เหตุการณ์มันเปลี่ยนไป ชีวิตช่วงเขียนหนังสือมีสามตอน ตอนแรกคือก่อนเข้ารับราชการ เขียนเพราะอยากเขียนได้ลงพิมพ์พอสมควร แต่ไม่มีชื่อเสียง ประการใด และไม่ได้ค่าตอบแทนด้วย พอเริ่มรับราชการเป็นทหารเกณฑ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ คุณแม่เสียชีวิตแล้ว ฝึกทหารอยู่ปีหนึ่ง พอปีสองก็เป็นนักเรียนนายสิบ นักเรียนนายสิบหนึ่งปี ก็ได้เป็นนายสิบที่ กรมการทหารสื่อสาร เป็นเหล่าทหารสื่อสาร รับราชการอยู่ประมาณเกือบสี่สิบปี ตอนต้นไปเจอว่าหน่วยนี้ มีนิตยสารประจำหน่วย ชื่อ นิตยสาร ทหารสื่อสาร ทีนี้เมื่อเราอยากจะเป็นนักเขียน ได้เวทีที่มันอยู่ตรงนี้เอง ก็เขียนส่งไป ก็ได้ลงพิมพ์เสมอ

นักข่าว ตอนนั้นเขียนแนวไหนคะ

ตอบ ความจริงผมต้องการเขียนเรื่องสั้น แต่เขามีความต้องการต้นฉบับมาก ผมก็เขียน บทกลอน สารคดี เล่าเรื่องที่เป็นสาระก็มี เป็นเรื่องขำขันก็มี มันอยากจะเขียน มันก็พยายามฝึกฝน ไม่มีว่างเลย ได้ลงก็ไม่ได้ค่าตอบแทนตามเคย เพราะมันเป็นราชการ ต่อมาเขาเชิญเข้าไปประจำกองบรรณาธิการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ทำงานเป็นเสมียน แล้วก็ทำงานในกองบรรณาธิการด้วย ช่วยเขาคัดเลือกเรื่อง ช่วยพิมพ์ ช่วยตรวจปรู๊ฟ งานแบบนี้ทำอยู่หลายปี จนถึง พ.ศ.๒๕๓๐ ก็ได้เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ เพราะทหารใช้คนตามตำแหน่ง มันเลื่อนขึ้นมาถึงตำแหน่งนั้นจะต้องเป็นนั่น เมื่อเป็นหัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ เขาบอกว่าต้องเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารทหารสื่อสารด้วย ก็เลยทำงานแทนตัวบรรณาธิการทั้งหมด

นักข่าว ตำแหน่งทางทหารตอนนั้นเป็นยศอะไรคะ

ตอบ ยศที่ว่ามานี้ ผมเขียนหนังสือตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานเป็นนายสิบ จนกระทั่งเกษียณอายุ เป็นนายทหารเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ ถึง พ.ศ.๒๕๑๘ ยังเป็นนายร้อย ประจำกองกำลังพล กรมการทหารสื่อสาร พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นนายพัน มาเป็นหัวหน้าแผนก ก็เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ทำอยู่จนถึง ถึง พ.ศ.๒๕๓๕ ก็ครบเกษียณพอดี แต่ก่อนเกษียณได้ยศ พันเอก เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ โดยไม่ได้นึกฝัน

นักข่าว แล้วนามปากกามาจากไหนคะ

ตอบ นามปากกาที่ใช้ในนิตยสารทหารสื่อสาร เริ่มตั้งแต่”เพทาย”และมีเพิ่มอีกมากแยกตามประเภทของหนังสือที่เขียน พอจะเกษียณอายุ บำนาญพอใช้เพราะเป็นพันเอกแล้ว ความอยากเขียนหนังสือยังมีอยู่ ก็นึกว่าไม่มีอะไรดีกว่าการเขียนหนังสือ ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร เราเคยเขียนมามากแล้ว มีประสบการมากขึ้น รู้จักชีวิตมากขึ้น ก็เขียนเรื่องสั้น ชุดฉากชีวิต บ้าง เรื่องอื่น ๆ นามปากกาอื่นอีกบ้าง แต่อะไรที่มันจะเขียนได้นานเท่าสามก๊ก และเคยติดใจวิธีเขียนเรื่องของตัวละคร ฉบับวนิพก แบบท่าน”ยาขอบ” จึงลงมืออ่านอย่างละเอียด

ผมไปเปิดอ่านสามก๊กฉบับของ ท่านเจ้าพระยาหลายสิบเที่ยว อ่านแล้วเจอชื่อตัวละครที่ชอบใจ ก็พลิกหาอ่านต่อไปจนเจอชื่อนี้อีก จนกว่าจะตายไป หรือหายไป ก็กะว่าจะเอาตัวละครตัวนี้มาเล่าให้คนอ่านสนใจ โดยเฉพาะตัวละครที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครจำได้ แต่ก็ปรากฏว่าว่าตัวละครพันธุ์อย่างนั้นมันก็มีไม่มาก ก็เอามาเขียนใหม่เรียบเรียงใหม่ ไม่ลอกใคร ไม่เลียนใคร แล้วจะใช้นามปากกาอะไร “เพทาย”มันนุ่มนิ่มเกินไป สมัยหนุ่มผมชอบกินเหล้าตบตูด และเหล้าเซี่ยงชุน ป้ายแดงของบางยี่ขัน เป็นหนึ่งในจำนวนเหล้าที่ใช้บ่อย เอาเหล้า มาเปลี่ยนเป็น เล่าเซี่ยงชุน พอจะนับญาติกับ เล่าปี่ ที่เป็นพระเอกได้ “เล่าเซี่ยงชุน”จึงถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔ แล้วก็แพร่หลายอยู่ในหนังสือของเหล่าต่าง ๆ ในกองทัพบกหลายฉบับ ตั้งแต่บัดนั้น และมายุติลงเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ ครบ ๖๐ ปี ของการเขียนหนังสือ

มีเพื่อนของลูกชายมาเจอเข้า บอกลุงเรื่องนี้ขายได้ เขาก็เอาไปตั้งใจจะพิมพ์ที่ สำนักพิมพ์ยาดอง ที่เขาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย แต่ไม่สำเร็จ ไม่ทราบเพราะอะไร ก็โอนไปให้สำนักพิมพ์ คณาธร ท่านเจ้าของก็มัวแต่เขียนหนังสืออยู่ต่างจังหวัด ก็ไม่สำเร็จอีก ผมก็พยายามเสนอไปอีกหลายแห่ง ก็เงียบ จนมาถึงสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ก็ได้รับการพิมพ์ โดยผมตรวจปรู๊ฟเองทั้งหมด เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑ ห่างจากวันเริ่มต้น ๕๐ ปี ตั้งหน้าเขียนหนังสือมาห้าสิบปีได้พิมพ์เป็นเล่มแรก ดีใจจะตายอยู่แล้ว สมเหตุสมผลแล้ว ตัวเราอายุ ๖๗ ปี มีหนังสือเป็นอนุสรณ์เล่มหนึ่ง ก็ดีใจมากแล้ว ได้ค่าเรื่องตามมาตรฐานสากลด้วย ชื่อผมมันใหม่เอี่ยม แล้วท่านก็ให้ค่าเรื่องเท่ากับคนอื่น มันก็มากพอดู สามก๊กลิ่วล้อ ๓ เล่ม ๆละ ๓๐๐๐ ฉบับ แต่ก็คงขายอยู่เป็นสิบปีละมัง

ใช้”เล่าเซี่ยงชุน”เขียนสามก๊กแล้ว ก็ยึดเป็นอาชีพ พร้อมด้วยนามปากกาอื่น ๆ “เพทาย”ก็ไปกับเขาด้วย ที่เขียนหนังสือได้จดไว้ “เพทาย”เขียนเรื่องสั้นชุด ฉากชีวิต “เทพารักษ์”เขียนสารคดี “พ.สมานคุรุกรรม” อันเป็นนามของท่านบิดา เขียนเกี่ยวกับเรื่องอดีต “วชิรพักตร์” เรื่องความหลังที่เป็นทหาร “ปภัสสร” ซึ่งเป็นฉายาเมื่อบวช เขียนบทกลอน ทั้งหมดได้เขียนอยู่ตลอดเวลาหลังเกษียณอายุ ๒๐ กว่าปี

นักข่าว จากวันที่เริ่มเขียนจนถึงวันนี้มีรวมเล่มนอกจากสามก๊กมีอีกไหมคะ

ตอบ มีอยู่ ๗ ชื่อ เป็นจำนวนหนังสือ ๙ เล่ม นิยายอิงพงศาวดารจีนทั้งนั้น

นักข่าว แล้วที่ลงใน ต่วยตูน ล่ะคะ

ตอบ ได้ลงพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๗ ครบทั้งห้านามปากกา เฉพาะ ปกิณกะสามก๊ก ของ”เล่าเซี่ยงชุน” ประมาณ ๒๐ ตอน ลูกชายเขาขอเอาไปไว้ในห้องสมุดของโรงงานน้ำตาล สระบุรี ต่อมาสำนักพิมพ์ เคล็ดไทย พิมพ์รวมเล่ม ก็มาขอให้ท่านต่วย เขียนคำนิยมให้ด้วย

นักข่าว มีเรื่องอยากเล่าฝากถึงเด็กรุ่นหลังอย่างพวกหนู หรือรุ่นต่อ ๆ ไหมคะ

ตอบ อันนี้ผมเล่าไว้ใน พันทิป เยอะ หลายครั้งที่ผมบอกว่า ชีวิตของผมมันเป็นตัวอย่าง จะเป็นนักเขียนต้องอดทน ธรรมะที่ยึดถือก็คือ ขันติ โสรจจะ ไม่อยากเด่นอยากดังกับใคร เขียนหนังสือส่งเขาไป ไม่ติดต่อมาก็ไม่เป็นไร ไม่พิมพ์ก็ไม่โกรธ ได้ค่าเรื่องเท่าไรยังไง ไม่เกี่ยง อดทนอย่างเดียว ที่ถามว่าอยากเป็นนักเขียนจะต้องเริ่มต้นยังไง คุณก็เขียนซิ วันหนึ่ง ๆ ออกไปตลาด เดินช็อปปิ้ง เห็นอะไร ก็กลับมาเขียนเล่าให้ตนเองอ่าน ก็เริ่มจากตรงนี้

สุดท้ายนักข่าวไม่ได้ถาม แต่ผมขอบอกท่านผู้อ่านว่า ที่ผมเอาเรื่องนี้มาเล่า ก็เพราะคิดว่าจำเป็นจะต้องลาจากวงการนักเขียนไปแล้ว เพราะอายุ ๘๕ ปี และเป็นโรคสมองเสื่อมหมอกำลังรักษาอยู่ สิ่งที่เป็นบำเหน็จของ”เจียวต้าย”และ ”เล่าเซี่ยงชุน” ก็คือได้รับการยกย่องจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ให้ได้รับรางวัล”นราธิป” เมื่อปีที่แล้ว

จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่า ผมก็เป็นนักเขียนคนหนึ่ง ของประเทศไทยด้วย

ซึ่งผมขอบคุณและจะจดจำไว้ เช่นเดียวกับความกรุณาที่ได้รับจาก ต่วยตูน และท่าน บก.ต่วย มาในอดีต จนชั่วชีวิต.

##########




 

Create Date : 01 กันยายน 2558    
Last Update : 1 กันยายน 2558 16:10:10 น.
Counter : 1095 Pageviews.  

คุ้ยของเก่า

ผู้เฒ่าเล่าอดีต ๒๗ ม.ค.๕๗

คุ้ยของเก่า

เมื่อเวลาของการเขียนหนังสือ ผ่านมากว่า ๖๐ ปี อายุของผู้เขียน
ก็มาถึง ๘๓ ปี
สมรรถภาพของร่างกาย ก็เสื่อมไปทุกภาค แม้ว่าได้เดินทางมาถึงจุดหมาย
ปลายทาง สมความปรารถนาแล้วก็ตาม

เปรียบเหมือนนักมวยที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศ กีฬามวยแห่งประเทศไทยแล้ว อายุก็มากกว่านักมวยรุ่นเดียวกันแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมหยุด

คงยึดอาชีพชกมวยต่อไป จนวันหนึ่งหมดแรง หัวใจจะวายบนเวที นั่นแหละ จึงจะยอมรับเสียงโห่จากคนดู แล้วลาจากอาชีพชกมวย ไปขายลูกชิ้นปิ้งแทน

ผู้เฒ่าก็เป็นแบบนี้ แต่งานที่รักนั้นไม่หนักหนาสาหึัส อย่างอาชีพมวยที่ยกมา
เป็นตัวอย่าง
แม้ตั้งใจจะเลิกเขียนตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๑ แต่ก็หยุดไม่ลง มีเรื่องให้คิดให้เขียน
ได้อีก แม้จะนาน ๆ เรื่องหนึ่ง

แต่คราวนี้คงเป็นการเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่มากกว่า

เพราะเรื่องเก่านั้นก็คืออดีต ที่จะให้ผู้เฒ่าเก็บเอามาเล่าใหม่เหมือนกัน

มันก็เหมือนการขุดกรุเพื่อหาของเก่า หรือการคุ้ยเขี่ยกองขยะ เพื่อว่า
จะเจอขยะบางชิ้นที่เอาไปทำประโยชน์ได้บ้าง เท่านั้น

ดังนั้น ถ้าท่านผู้ใดยังจำเค้าโครงได้ ก็โปรดให้อภัยด้วยก็แล้วกัน
ผู้เฒ่าจะได้มีอายุยืนด้วยสุขภาพที่พอช่วยตนเองได้ ไม่เอาแต่นอนอย่างเดียว

ขอขอบคุณเพื่อน ๆ ที่เคยให้กำลังใจในงานของผู้เฒ่ามาในอดีต
และเห็นอกเห็นใจในสังสารปัจจุบันของผู้เฒ่า ด้วยใจจริง.

##########




 

Create Date : 27 เมษายน 2558    
Last Update : 27 เมษายน 2558 16:21:24 น.
Counter : 773 Pageviews.  

ผู้เฒ่าเล่าอดีต(๒๕) ชื่อดีเป็นศรีแก่ตัว

ผู้เฒ่าเล่าอดีต(๒๕)

ชื่อดีเป็นศรีแก่ตัว

เคยเล่าไว้แล้วเรื่องหนึ่ง ว่าชื่อของบุคคลโดยเฉพาะเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ต้องระวังอย่าให้ไปซ้ำ หรือแปลความหมายแล้ว กลายเป็นคำอัปมงคลไปเสีย อย่างเมื่อไม่นานมานี้ มีคนคิดจะเปลี่ยนชื่อสัตว์ ตัวที่เป็นญาติกับตะกวด เป็นชื่อที่ไพเราะว่า วรนุช ทำให้เป็นที่กระทบกระเทือนแก่สุภาพสตรีที่ใช้ชื่อนี้มาก่อน เป็นอย่างยิ่ง

เราเองก็เคยมีข้อขลุกขลักเกี่ยวกับชื่อ ที่ใช้เขียนหนังสือ หรือที่เรียกว่า นามปากกา หรือในทางอินเตอร์เนตเรียกว่า ล็อกอิน อยู่บ้างเหมือนกัน

เมื่อสมัยยังรับราชการ และประจำอยู่ในกองบรรณาธิการนิตยสารของหน่วย มีนักเขียนไม่พอ ต้องเขียนเองเพิ่มไปทุกฉบับ จะใช้นามปากกาเดียวก็ดูจะซ้ำซากอยู่ จึงต้องเปลี่ยนนามปากกา ไปแต่ละประเภท เช่น เรื่องสั้น ใช้ “เพทาย” สารคดีใช้ “พัชรรัตต์” บันทึกของคนเดินเท้าใช้ “เทพารักษ์” วรรณคดีไทยใช้ ฑ.มณฑา และเรื่องธรรมะใช้ “ปภัสสร” เป็นต้น เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว เรียบเรียงพงศาวดารจีน ก็ใช้ “เล่าเซี่ยงชุน” ให้ฟังดูเป็นคนแซ่เล่า ญาติกับเล่าปี่ ซึ่งเป็นตัวเอก

นามปากกานี้ เกิดไปถูกใจท่านบรรณาธิการนิตยสารรายปักษ์ ที่มีชื่อเป็นการ์ตูน มีคำขวัญว่า นิตยสารเพื่อ สาระ หรรษา การ์ตูน และร้อยกรอง มีนโยบายว่า การเมืองไม่ยุ่ง การมุ้งไม่เกี่ยว ฮาลูกเดียว ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนเป็น พอคเก็ตแมกาซีน สาระ+ หรรษา

ท่านฟังสำเนียงแล้วชวนระลึกถึง สุราเซี่ยงชุน ป้ายแดง ของโรงงานสุราบางยี่ขัน เพราะท่านเป็นนักดี่มมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ รุ่นเดียวกัน เลยรับเรื่อง ปกิณกะสามก๊ก ไปลงพิมพ์ตั้งหลายตอน จนสามารถรวมเล่มเป็นพ็อคเก็ตบุคส์ได้ ขนาดกำลังเหมาะมือ โดยที่ท่านยังกรุณาเขียนคำนิยมให้อีกด้วย

แต่เมื่อถึงเรื่องประเภทสารคดี ที่ใช้นามปากกา “เทพารักษ์” “วชิรพักตร์” หรือ พ.สมานคุรุกรรม ท่านกลับถามว่า จะใช้ยศชื่อจริงไม่ได้หรือ เพราะนักเขียนอาวุโสของสำนักนี้ ส่วนใหญ่ที่เป็นข้าราชการบำนาญ มักจะใช้ยศชื่อและนามสกุลจริงทั้งนั้น เราก็แก้ตัวว่าท่านผู้อาวุโสเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่ผู้โตทั้งนั้น เช่น อดีตอธิบดี อดีตปลัดกระทรวง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อดีตประธานรัฐสภา อดีตอัศวินแหวนเพ็ชร หรืออย่างต่ำก็ อดีตนายอำเภอ เป็นต้น

แม้แต่ท่านที่เป็นทหาร ต่างก็มียศนายพลทั้งสิ้น ส่วนใหญ่จบจากโรงเรียนนายร้อยเท็คนิค นายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ นายเรืออากาศ บางท่านผ่านศึกเกาหลี เวียตนาม อดีตนักรบนิรนาม ไม่มีท่านไหนเป็นนายสิบเสมียน เหมือนอย่างเราเลย ใช้ชื่อจริงก็ไม่มีใครรู้จัก เหมือนนามปากกานั่นแหละ เคราะห์ดีที่ท่านยอมเชื่อ และพิมพ์เรื่องให้อีกหลายชิ้น เป็นเวลาทั้งหมดร่วมเจ็ดปี

ต่างกับวารสารอีกฉบับหนึ่ง ชื่อเป็นฝรั่ง เราใช้ชื่อจริงก็ลงให้หลายชิ้น พอใช้นามปากกา “เล่าเซี่ยงชุน” ก็ขอให้ใช้ชื่อจริงเหมือนกัน พอเราไม่ยอมเปลี่ยนก็งดไม่พิมพ์ให้เลย เวรกรรมแท้แท้

ไม่เหมือนเวปพันทิป เมื่อสมัครสมาชิก ใช้ล็อกอิน “เล่านั้ง” “เล่าเหลา” ก็ไม่ได้เพราะมีคนใช้แล้ว พอดีนึกขึ้นมาได้ว่า “เจียวต้าย” คงไม่มีใครเตยได้ยินแน่ จึงผ่าน และอยู่มาจนขึ้นปีที่แปดแล้ว ก็ยังไม่เคยเห็นชื่อที่เขาว่าซ้ำเลย

“เจียวต้าย” เป็นชื่อกลุ่มเพื่อนที่เราได้รวบรวมมาตั้งแต่เมื่อสี่สิบปีก่อนโน้น ด้วยความคิดผิดที่นึกว่าหมายถึง”เพื่อนสนิท” คบกันมาจนล้มหายตายจากไปทีละคนสองคน จนเหลือแต่เราคนเดียว จึงได้รู้ความหมายที่แท้จริงว่าคือ ผู้ต้อนรับ หรือ รีเซฟชั่น นี่เอง แต่ก็ไม่ได้วิตกทุกข์ร้อนอะไร มีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่น ไปตามกรรมเท่านั้น

แต่ก็ทำให้ชื่อนี้ปรากฏอยู่ในสายตา ของสมาชิกพันทิป เพิ่มขึ้นอีกตั้งหลายล้านคน และจะคงอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน กว่าจะมีอุกาบาตวิ่งมาชนจนโลกแตก

ขอขอบคุณ”พันทิป” ไว้ ณ ที่นี้ด้วย.


###########




 

Create Date : 19 กันยายน 2555    
Last Update : 19 กันยายน 2555 7:44:33 น.
Counter : 1486 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.