|
Multi-tasking หรือ Single-tasking ดีน๊อ
สวัสดีค่ะ
ฉันเคยภูมิใจมาก ที่สามารถทำอะไรทีละหลาย ๆ อย่าง พร้อมกัน เหมือนคอมพิวเตอร์ ทำอะไรได้ พร้อมกันทีละหลายงาน (Multi-tasking)
ตัวอย่างง่าย ๆ จากอาหารเช้าหนึ่งมื้อ กาแฟ ขนมปังปิ้ง ไข่ลวก น้ำส้มคั้น
จะชงกาแฟ ก็เดินไปเสียบกาต้มน้ำร้อน ระหว่างทาง ก็เปิดทีวี เดินผ่านตู้เย็น เปิดตู้เย็นหยิบเนยออกจากตู้มาตั้งไว้ให้อ่อนตัวลง เพื่อ จะได้ทาง่ายขึ้น อ้อ เอาไข่ออกมาด้วย เอามาทำไข่ลวก งั้นก็ต้องตั้งน้ำต้มบนเตาด้วยใส่ไข่ลงไปเลย ตั้งนาฬิกาจับเวลาไว้ 5 นาที กำลังเหมาะ
เสร็จแล้วเดินไปเอาขนมปังใส่เครื่องปิ้งกดไว้ ได้เวลามันก็จะเด้งออกมาเอง ระหว่างนี้ก็เดินไปหยิบจานไว้เตรียมใส่ขนมปัง อ้อ ทานน้ำส้มคั้นด้วยดีกว่า หยิบส้มเตรียมคั้น 6 ลูกกำลังดี ได้น้ำส้ม 1 แก้วพอดี เริ่มจากหั่นส้มครึ่งลูกเตรียมไว้ก่อน ยังไม่ทันคั้นน้ำส้มเสร็จดี ปิ๊ง เสียงขนมปังที่ปิ้งไว้เสร็จแล้ว วางมือจากน้ำส้มคั้นชั่วครู่ ต้องรีบทาเนยขนมปังก่อน เนย จะได้ละลายซึมเข้าเนื้อ
เสร็จแล้ว กลับมาคั้นน้ำส้มต่อ คั้นไปได้ 3 ลูก นาฬิกาที่จับเวลาไว้สำหรับไข่ลวกก็ดัง เดินไปปิดแก๊ส ใส่ไข่ลงในน้ำเย็น ทิ้งไว้ก่อนให้อุ่นซักพัก มาคั้นน้ำส้มต่อจนเสร็จ เอาไปใส่ตู้เย็นช่องแช่แข็ง จะได้เย็นเร็ว ๆ กลับมาตอกไข่ลวกใส่แก้ว ยกไปตั้งบนโต๊ะ เสร็จแล้วก็ตามด้วยกาแฟ ตักกาแฟในถ้วย เติมน้ำร้อน เรียบร้อย ทุกอย่าง พร้อมทาน เริ่มลงมือทานได้ ทานเสร็จแล้ว น้ำส้มในช่องแช่แข็ง ก็เย็นกำลังดี เดินไปหยิบมาดื่ม เรียบร้อย กลับไปนั่งทำงานต่อ
แหม เรานี่เก่งจริง ๆ จัดสรรเวลาทุกอย่างลงตัว ไม่มีเวลาที่เสียไป โดยเปล่าประโยชน์เลย เสร็จแล้วก็รีบกิน รีบเก็บ ทุกอย่างล้างเรียบร้อย ใช้เวลาไม่เกินครึ่งชม. สำหรับอาหารมื้อเช้า หนึ่งมื้อ
ทุกอย่างเหมือนจะสมบูรณ์แบบ แต่รู้สึกว่า มันจะขาดอะไรบางอย่างไป ความสุนทรีย์ บรรยากาศแห่งความสุขจากการรับประทานมันหายไปไหน ความสุขจากการละเลียดขนมปังปิ้งกับเนยหอม ๆ ลิ้มรสกาแฟหอมกรุ่น รสชาดของไข่ลวก เหยาะเกลือนิด ๆ เป็นยังไง รสชาดหอมหวานของน้ำส้มอยู่ไหน ทั้งหลายเหล่านี้ ฉันไม่เคยสังเกต จนกระทั่งหันมาทำอะไรให้ช้าลง สนใจสิ่งที่กำลังทำอยู่ให้มากขึ้น สังเกตุว่า อะไรกำลังเกิด ขณะเคี้ยวอาหาร แต่ละคำรสชาดเป็นไง ความรู้สึกขณะทานเป็นอย่างไร
ที่เขียนมานี่ ก็ไม่ใช่อะไรหรอกค่ะ แค่อยากบอกว่า ลองหันมาทำอะไรช้าลงสักนิด แล้วเราจะพบความสุขในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ค่ะ
พญาไฟ 4 พฤษภาคม 2548
Create Date : 16 กรกฎาคม 2548 | | |
Last Update : 7 สิงหาคม 2548 2:05:33 น. |
Counter : 489 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
เจ้าหมี
พญาไฟเป็นเด็กขี้โมโหค่ะ ตอนสมัยเรียนอยู่ชั้น ม.1 เคยมีหมาอยู่ตัวหนึ่ง ชื่อเจ้าหมีค่ะ แม่เป็นคนเลี้ยง ที่หน้าผากเจ้าหมีจะเห็นเป็นรูปแฉกแบบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดอยู่ตรงกลางหน้าผาก ดูเหมือนขมวดคิ้วตลอดเวลา ประกอบกับตาเศร้า ๆ ของมันแล้ว หน้าตามันก็เลยออกมาเป็นหมาที่ดูเศร้า ๆ
แต่แทนที่พญาไฟจะเห็นว่า มันน่าสงสาร กลับเห็นว่า มันเป็นที่น่ารำคาญมากกว่า มันชอบทำท่ากลัว ๆ หงอ ๆ ค่ะ อันนี้ก็คงจะเป็นสาเหตุจากที่พญาไฟดุมันบ่อย ๆ นั่นเอง บางทีเรียกหรือบอกให้ทำอะไรมันก็ไม่ค่อยทำตาม ฉะนั้น เวลาพญาไฟอารมณ์ไม่ดี หรือเจ้าหมีทำอะไรไม่ถูกใจ พญาไฟก็จะตีมันบ่อย ๆ ว่ามันโง่บ้างหล่ะ ไม่น่ารัก ไม่สวยบ้างหล่ะ แต่ถึงแม้จะตีมันยังไง เวลาพญาไฟกลับจากโรงเรียน เจ้าหมีก็จะทำท่าแสดงอาการดีใจเสมอ เฮ้อ มาคิดตอนนี้ แล้วสมเพชตัวเอง แล้วก็เวทนาเจ้าหมีที่เกิดมาเจอกับเด็กแย่ ๆ อย่างพญาไฟ
โดยเฉพาะเมื่อมาปฏิบัติธรรม แล้วก็ยิ่งเห็นจริงว่า คนเราถ้าไม่ได้รับการสั่งสอนก็จะมีปกติไปในทางต่ำ ไม่ได้บอกว่าแม่ไม่สอนพญาไฟนะคะ เพราะแม่ก็สอนพญาไฟบ่อย ๆ ว่าอย่าตีหมา ให้รักมัน คอยเลี้ยงมัน แต่ความเป็นคนเจ้าอารมณ์ และเอา แต่ใจตัว นี่ขนาดมีแม่สอนตลอดก็ยังเอาตัวเองเป็นใหญ่ ใจคับแคบ อาจเป็น เพราะแม่รักลูกมากไป พอพญาไฟโดนแม่ดุ ก็จะทำกิริยาไม่ดี กระฟัดกระเฟียด สารพัดจะเป็นเด็กดื้อเอา แต่ใจค่ะ แล้วแม่ก็จะเงียบไป พญาไฟไม่โทษแม่หรอกค่ะ อาจจะเป็น เพราะท่านเองก็ไม่ทราบว่า จะสอนลูกอย่างไรดี ท่านก็เลยได้แต่ทำตัวเองเป็นตัวอย่างมาตลอด เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว ให้ความรักมาตลอด ต้องโทษตัวพญาไฟเองค่ะ ที่ไม่เคยมองเห็น
แต่ตอนนี้ พญาไฟอายุมากขึ้น ปฏิบัติธรรมมากขึ้น มีการพัฒนาอารมณ์มากขึ้น เืมื่อมาทบทวนดูแล้วก็เห็นว่า พญาไฟเองนี่แหล่ะที่โง่ ขนาดพูดกับคน บางครั้งคนก็ยังทำอะไรไม่ถูกใจเลย แล้วนี่เราจะไปคาดคั้นเอาอะไรกับหมา นอกจากนี้พญาไฟก็ยังเป็นคนที่ไม่รู้จักมีเมตตา นึกแล้วก็เห็นว่า ตัวเองทำผิดกับเจ้าหมีจริง ๆ เจ้าหมีตายไปนานแล้วค่ะ ขอโทษนะเจ้าหมี
วิเคราะห์ตัวเองแล้ว เห็นว่า ตัวเองเป็นคนที่ประกอบไปด้วยทั้ง ราคะ โทสะ โมหะ ครบเครื่องเรื่องกิเลสเลยค่ะ แต่ตอนนี้เชื่อมั่นค่ะ ว่าถ้าเรามุ่งมั่นที่จะขัดเกลานิสัยเสีย ๆ เหล่านี้ออกไป อย่างน้อยคงจะขจัดได้บ้างก่อนตายนะคะ
พญาไฟ 19 มีนาคม 2548
Create Date : 16 กรกฎาคม 2548 | | |
Last Update : 7 สิงหาคม 2548 1:49:52 น. |
Counter : 456 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ข้อคิดธรรมะจากข่าว
เช้าวันนี้ดูรายการเรื่องเล่าเช้านี้ แล้วก็เกิดสะท้อนใจขึ้นมาว่า เอ้อ ชีวิตเรานี่มี แต่ความไม่สมหวังจริง ๆ ความคิดนี้เกิดจากการดูข่าว 3 รวดเกี่ยวกับเรื่องลูก
เรื่องที่หนึ่ง เด็กวัยรุ่นชาญหญิงคู่หนึ่ง ทำแท้งกันเอง เพราะตั้งท้อง แต่ไม่ต้องการมีลูก
เรื่องที่สอง ผู้หญิงคนหนึ่ง ขโมยลูกของคนอื่น เพราะไม่มีลูก แต่อยากมี และอยากให้สามีรัก
เรื่องที่สาม ผู้หญิงคนหนึ่ง ต้องเสียลูก เพราะความผิดปกติของโครโมโซมในร่างกายของลูกไม่สามารถสร้างโปรตีนไปเลี้ยงร่างกาย เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอายุไม่เกิน 20 ปี
สามเรื่องนี้บอกอะไรบ้าง มันบอกกับพญาไฟว่า ชีวิตนี้ล้วนมี แต่สิ่งไม่สมหวัง และทุกข์จริง ๆ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
เรื่องแรก ได้ในสิ่งที่ไม่ต้องการก็ทุกข์ เรื่องที่สอง ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการก็ทุกข์ และยังสร้างความทุกข์ให้คนอื่นอีก เรื่องที่สามแม้จะสมหวังได้ในสิ่งที่ต้องการ แต่ก็ต้องสูญเสียสิ่งนั้นไปก็ทุกข์ และท้ายที่สุด เราก็ต้องตายทุกคนก็ทุกข์อีก เพราะเราคิดว่า เราต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเราตายไป
ความตายจะเกิดกับเราเมื่อไหร่ก็บอกไม่ได้ เราจึงควร พร้อมที่จะตายตลอดเวลา แต่อย่าคิดฆ่าตัวตายกันเลย เพราะสุดท้ายเราก็ จะได้ตายสมใจอยู่แล้ว ไม่ต้องรีบร้อน สิ่งที่ควรรีบร้อน คือการทำความดี ขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ ก็อย่าได้เบียดเบียนกันเลย อยู่อย่างมีความสุขบนพื้นฐานของความดีกันดีกว่า อย่าปล่อยใจไปตามอารมณ์กันเลย
อยากชวนเพื่อน ๆ ให้มานั่งสมาธิ เป็นการฝึกใจ สะสมพลังจิต สร้างภูมิต้านทานมลภาวะทางใจ การสร้างภูมิต้านทานนี้เหมาะสำหรับทุกคน มิได้มีไว้เฉพาะ แต่ผู้มีทุกข์เท่านั้น แต่เหมาะกับทุกคนที่เห็นทุกข์ ต้องการพ้นทุกข์ ทุกเพศทุกวัย ใครที่ขณะนี้โชคดียังไม่ประสบเหตุให้เกิดทุกข์ แต่ถ้าเห็นทุกข์ และเข้าใจทุกข์ล่วงหน้า มีภูมิคุ้มกันแล้ว ทุกข์จะมาหาเราเมื่อไหร่ ก็ พร้อมเสมอ
ใจที่ถูกฝึกแล้ว จะสร้างสรรสิ่งดี ๆ ได้ ใจที่ถูกฝึกแล้ว จะรู้ว่า สิ่งใดควรละเว้น หลีกเลี่ยง ไม่ทำ ใจที่ถูกฝึกแล้ว จะรับมือกับทุกข์ได้
ตรงตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ว่า
ทำดี ละเว้นชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว
พญาไฟ 16 กุมภาพันธ์ 2548
Create Date : 16 กรกฎาคม 2548 | | |
Last Update : 7 สิงหาคม 2548 1:20:56 น. |
Counter : 589 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
โยคะ เครื่องมือเพื่อการปฏิบัติธรรม
สวัสดีค่ะ
ช่วงนี้รู้สึกว่า สิ่งดี ๆ ปรากฎในชีวิตบ่อย ๆ ค่ะ เช่น ใจดีขึ้น ใจเย็นขึ้น ยิ้มง่ายขึ้น อารมณ์ดี เริ่มทำอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น เมื่อวันก่อนก็เริ่มไปรำไม้พลอง วันนี้ก็ไปเรียนโยคะมาค่ะ สงบสุขจริง ๆ ค่ะ โอ้ ดิฉันอยากให้โลกมี แต่สันติสุขฮ่ะ World Peace !!!
ไปเข้าร่วมอบรมแล้วรู้สึกชอบมาก ๆ เลยค่ะ มีคำตอบให้กับตัวเองว่า โยคะเป็นเครื่องมืออย่างดีสำหรับฝึกร่างกายให้มีสภาพที่เหมาะแก่การนั่งสมาธิ ค่ะ ครูผู้ฝึกบอกว่า เป้าหมายสูงสุด คือ อาสนะชัย ซึ่งหมายถึงการที่ร่างกายเราสามารถนั่งทำสมาธิด้วยท่าใดท่าหนึ่งได้ติดต่อกัน 3 ชม. ขึ้นไป โดยไม่ปวดเมื่อย (ความปวดเมื่อยนี่เป็นปัญหาหลักในการนั่งสมาธิของพญาไฟเลยค่ะ)
ตอนนี้จะขอบังอาจเล่าสิ่งที่ได้เรียนมาจากการเรียน โยคะ มาแค่ 1 วัน (อีกแล้วเจ้าค่ะ บังอาจอีกแล้ว) ก็พอได้เจออะไรดี ๆ ก็อยากเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังนะคะ
แก่นของโยคะ คือ 1) การรวมกายใจ 2) สร้างความสมดุล 3) พัฒนาจิต เพื่อยกระดับจิต ค่ะ
ครูบอกว่าเป็นแก่นที่เมื่อเราปฏิบัติโยคะ ไม่ว่า จะเป็นโยคะสายใดก็ตาม โยคะที่แตกออกไปหลายสาย ก็ต่างกัน แต่เพียงวิธีการเรียนการสอนค่ะ แต่ทั้งนี้หากเข้าใจแก่นแล้ว ไม่ว่า จะเรียนตามสายไหน ก็จะสามารถดูแลร่างกายไม่ให้บาดเจ็บจากการฝึกโยคะได้ค่ะ การจัดทำท่าต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า อาสนะ นั้น จัดเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้สามารถบรรลุถึงแก่นของโยคะค่ะ หากใครได้โหลดเอกสาร โยคะ การฝึกทำทุกวัน ตามหลักสูตรของสถาบันไกวัลยธรรม ประเทศอินเดีย โดยโครงการเผยแพร่โยคะ เพื่อสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน สนับสนุน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส ไปอ่านแล้ว (พญาไฟทำลิงค์ไว้ให้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ค่ะ) ให้พลิกไปดูในหน้าสุดท้ายเลยนะคะ จะเห็นว่า อาสนะ นั้น เป็น 1 ใน 8 ขั้นตอนของโยคะค่ะ เรียกว่า อัษฎางค์โยคะ หรือ มรรค 8 ของโยคะ
หลักสำคัญในการทำโยคะ ง่าย ๆ ค่ะ คือ 1) ทำแล้วต้องรู้สึกสบาย 2) ทำแล้วนิ่ง 3) ใช้แรงน้อย ไม่ฝืนตัวเอง และ 4) มีสติรับรู้ค่ะ
นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวก็จะยึดกระดูกสันหลังเป็นแนวหลักค่ะ จะเคลื่อนไปใน 4 ลักษณะ คือ 1) ก้มตัวไปข้างหน้า 2) แอ่นตัวไปข้างหลัง 3) บิดตัว และ 4) เอียงตัวไปด้านข้าง นี่ คือ 4 ลักษณะสำหรับผู้ฝึกหัดใหม่ และเป็นพื้นฐานค่ะ
เมื่อมีการเคลื่อนไหว ก็ จะต้องมีสติรับรู้คอยตรวจสอบร่างกายตลอดว่า กระดูกสันหลังนั้นอยู่ในแนวตรง ไม่โค้งงอ เมื่อก้มตัวไปข้างหน้า หลังนั้นต้องตรง ส่วนที่พับงอ จะอยู่ในส่วนของเอวเท่านั้นค่ะ แอ่นไปข้างหลัง บิดตัว และเอียงตัวก็เช่นเดียวกัน เมื่อผู้ฝึกสามารถฝึกจนคล่องชำนาญแล้ว ก็สามารถพัฒนาเข้าสู่ระดับสูงต่อไป ก็จะเพิ่มอีก 2 อย่าง คือ 5) กลับหัว และ 6) ยืดกระดูกสันหลัง
ระดับการยืด ยก บิด เอียง จะมากน้อยแค่ไหนนั้น ให้วัดจากความรู้สึกของตัวเองค่ะ ทำแค่ไหนแล้วรู้สึกสบายที่สุด ก็เอาแค่นั้นพอค่ะ ยืดหลักไว้ว่า ให้กระดูกสันหลังตั้งตรงค่ะ ทำแล้วให้หยุดค้างท่านั้น จะนานแค่ไหนก็ตามที่ร่างกายรับได้อีกเช่นกันค่ะ อาจจะเริ่มจาก 2-3 วินาที แต่พอพัฒนาไปได้ อยู่ได้นานมากขึ้น ก็จึงค่อย ๆ พัฒนาต่อไป ไม่ต้องใช้แรงมากเลยค่ะ พึงระลึกอยู่เสมอว่า อย่าทำร้ายร่างกายด้วยการฝืน เราอาจเห็นคนที่ฝึกโยคะมานาน ทำท่าต่าง ๆ ดูแล้วสวยงาน เราอยากทำให้ดูสวยงามอย่างนั้นบ้าง แต่ร่างกายเรายังรับไม่ได้ ก็ต้องไม่ฝืนเด็ดขาดต้องค่อยเป็นค่อยไปนะคะ
ประเภทของอาสนะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มค่ะ คือ 1) อาสนะ เพื่อการผ่อนคลาย ได้แก่ ท่าศพ ท่าจรเข้ 2) อาสนะ เพื่อการสร้างสมดุล ได้แก่ ท่างู ท่าตั๊กแตน ท่าคันไถครึ่งตัว ท่าเหยียดหลัง ท่าคีม ท่าสัญลักษณ์แห่งโยคะ หรือเรียกว่า โยคะมุทรา ท่าบิดสันหลัง ท่ากงล้อ และ 3) อาสนะ เพื่อสมาธิ ได้แก่ ท่านั่งเพชร ท่าทั้งหมดนี้ เป็น 11 ท่าพื้นฐาน ที่พญาไฟเรียนในการอบรมครั้งนี้ค่ะ
เมื่อหยุดนิ่งอยู่ในท่าใดแล้ว ก็ให้สำรวจร่างกายดูว่า เรามีการเกร็งร่างกายในส่วนที่ไม่จำเป็นหรือเปล่า หากเราเกร็งอยู่ ก็ให้ผ่อนคลายซะ เช่น ท่า งู เมื่อยกศีรษะ ไหล่ และทรวงอก ค้างนิ่งไว้แล้ว ให้ตรวจดูว่า เราเกร็งที่ขา หรือไม่ ไหล่ยกเกร็งหรือเปล่า ใบหน้าเกร็ง คิ้วขมวดหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้นค่ะ หรืออย่างท่า ตั้กแตน จะเป็นการนอนคว่ำหน้า ยกขาขึ้น หากมีการการขาสั่น นั่นแสดงว่า เรายกขาเกินระดับที่ร่างกายเราทนได้ ก็ให้ลดขาลง เมื่อสามารถยกค้างได้นิ่งแล้ว ให้สำรวจดูว่า หลัง ไหล่ ใบหน้า หรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่ไม่มีหน้าที่ในท่านี้ มีการเกร็งตัวหรือไม่ ถ้ามีก็คลายซะ รายละเอียดของ แต่ละท่า มีอธิบายอยู่ในคู่มือแล้วค่ะ
การทานอาหารตามแนวของโยคะ จะเน้นที่การที่ร่างกายสามารถย่อยอาหารได้หมด นั่นหมายถึง ถ้าท้องคุณไม่ พร้อมที่จะย่อยอาหาร อาหารที่ทานไปนั้นก็เปรียบเสมือนเป็นยาพิษต่อร่างกายค่ะ เวลาทานอาหาร ก็ให้คำนึงง่าย ๆ คือ แบ่งกระเพาะออกเป็น 4 ส่วน ใช้พื้นที่ 2 ส่วนสำหรับอาหารที่เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นชิ้น เป็นอัน ใช้พื้นที่ 1 ส่วนสำหรับสิ่งที่เป็นน้ำ และเหลือพื้นที่ไว้อีก 1 ส่วน สำหรับเป็นที่ว่างให้ร่างกายได้ใช้ในการย่อย เพื่อให้ย่อยได้สะดวก และมีประสิทธิภาพ ค่ะ
วันนี้ นอกจากจะเรียนเรื่องอาสนะแล้ว ยังได้เรียนพื้นฐานเรื่อง ปราณยามะ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทคนิค ในมรรค 8 ของโยคะ ค่ะ เป็นการฝึกกำหนด ควบคุมลมหายใจ การฝึกเรื่องนี้ ควรจะมีครูสอนค่ะ เพราะถ้าทำผิดพลาดอาจทำให้ถึงกับเสียสติได้นะคะ ครูบอกไว้ พญาไฟจะไม่เล่าให้ฟังในที่นี้ดีกว่าค่ะ ใครสนในก็ติดต่ออาจารย์โยคะนะคะ
โยคะนี้มีประวัติมายาวนานซัก 5000 ปีแล้วค่ะ ก่อนพุทธศาสนาค่ะ มีประโยคหนึ่งที่ครูบอกไว้ค่ะ โยคะ จิตตะ วรึติ นิโรธ หมายถึง โยคะเป็นไป เพื่อการดับของจิต ฝึกแล้วจิตสงบเป็นสมาธินั่นเอง หลังจากอบรมโยคะแล้วพญาไฟก็เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์เลยค่ะว่า โยคะ เนี่ย เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้เรานั่งสมาธิได้นาน เจ็งสุด ๆ
คงจำกันได้นะคะ พระพุทธเจ้าสมณโคดมนี้ก็มีอาจารย์เป็นฤษี 2 ท่าน คือ อาฬารดาบส และ อุททกดาบส ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านนี้ก็ได้เสียชีวิตก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ พระพุทธเจ้าท่านก็คง จะได้เรียนแนวทางการนั่งสมาธิมาจากอาจารย์สองท่านนี้มา แต่หลังจากที่ศึกษาปฏิบัติแล้วเห็นว่ายังไม่สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ดังนั้นเป้าหมายของ การปฏิบัติธรรมตามแนวพุทธศาสนา จึงมิได้อยู่แค่เพียงการนั่งสมาธิ หาก แต่จะต้องมี การปฏิบัติวิปัสนาด้วย ดำเนินตามมรรค 8 เพื่อเป็นการกำจัดเอากิเลสที่สะสมมาเนิ่นนาน หรือที่เรียกว่า อาสวะ ออกไป (อาสวะนะคะ เป็นคนละคำกับอาสนะ นะคะ)
บางคนบรรลุเป้าหมายสูงสุดของโยคะ ได้รับความสุขจากโยคะ ปฏิบัติจนเกิดฌาน อาจจะเกิดอาการติดสุขจากฌานนั้น อันนี้ หลวงพี่บอกว่า เป็นความสุขแบบหินทับหญ้าค่ะ ยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ยังไม่ใช่ความสุขที่ผู้ปฏิบัติธรรมพึงปรารถนา เพราะความสุขแบบนี้ยังมีการเสื่อมสลายหายไปได้ คือ ผู้ปฏิบัติมีความสุขสงบจริงจากการนั่งสมาธิ แต่ว่า หากไม่ได้มีการกำจัดกิเลสออกไป เมื่อออกจากสมาธิหรือฌานแล้ว มาดำเนินชีวิตประจำวัน เจอกับกิเลสอีก ก็ยังประสบกับความทุกข์อีก อยู่ดี เหมือนกับ หินที่ทับหญ้าอยู่ ก็อาจจะดูเหมือนว่า ไม่มีหญ้า แต่พอยกหินออก หญ้าก็เจริญเติบโตใหม่ อย่างนี้เรียกว่ายังไม่บรรลุเป้าหมายตามหลักพุทธศาสนา
จากนี้ไป พญาไฟก็ตั้งใจว่า จะต้องจัดเวลาตอนเช้าสำหรับฝึกโยคะ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้การฝึกทำสมาธิ ซึ่งเป็นพื้นฐานของ การปฏิบัติธรรม เป็นไปได้ง่ายขึ้นค่ะ
พญาไฟ 6 พฤศจิกายน 2547
ผู้ใดสนใจศึกษาโยคะ ติดต่อไปที่ สถาบันโยคะ เพื่อสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน หมายเลขโทรศัพท์ 02-278-2056 ได้เลยค่ะ
Create Date : 16 กรกฎาคม 2548 | | |
Last Update : 27 กรกฎาคม 2548 18:13:29 น. |
Counter : 761 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|