ในระยะแรกของการปลูกสร้างสวนยางพารา เกษตรกรควรปลูกพืชคลุมดินในสวนยางเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน ป้องกันการชะล้างและพังทลายของดิน และช่วยควบคุมวัชพืช เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืช
ประโยชน์ของพืชคลุมดิน
- ควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืชทำให้ลดเวลา แรงงาน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืช -ป้องกันการชะล้างหน้าดินและลดการพังทลายของหน้าดิน - เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน - เพิ่มธาตุอาหารให้กับดินจากความสามารถในการตรึงไนโตรเจนของบักเตรีไรโซเบียมในปมรากและเศษซากพืชคลุม ซึ่งในช่วง 5 ปีแรกปริมาณธาตุอาหารที่กลับคืนดินได้ ไนโตรเจน ไร่ละ 30-56 กก. ฟอสเฟต ไร่ละ 3-4.5 กก. โปเตสเซียม ไร่ละ 14-21 กก. แมกนีเซียม ไร่ละ 2.5-4.5 กก. - ช่วยลดอุณหภูมิในดินและช่วยรักษาความชื้นในดิน -ลดการเกิดโรครากของต้นยาง
พันธุ์พืชคลุมดิน
พืชคลุมดินที่เหมาะสมกับการปลูกในสวนยาง เป็นพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ 1. คาโลโปโกเนียม เป็นพืชคลุมชนิดเถา เลื้อยไปตามผิวดิน ฝักมีขน ใบใหญ่ ดอกเล็ก สีน้ำเงินอ่อน เมล็ดเล็กแบบสีน้ำตาลอ่อน เจริญเติบโตคลุมพื้นที่ได้รวดเร็วมากจนแน่นทึบ คลุมดินได้หนา 30-60 ซม. ภายในเวลา 5-6 เดือน ออกดอกหลังจากปลูกประมาณ 3-5 เดือน เมื่อมีอายุ 18 เดือนไปแล้วก็เริ่มขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด ชอบฝนตกชุก แต่ไม่ชอบน้ำขัง ไม่ชอบร่มเงา น้ำหนัก 1 กก. มีจำนวนเมล็ดประมาณ 68,400 เมล็ด 2. เซนโตรซิมา เป็นพืชคลุมดินชนิดเถา เลื้อยไปตามผิวดินชอบเลื้อยพันขึ้นต้นไม้ ดอกใหญ่ สีม่วงอ่อน ใบเล็ก เมล็ดเล็ก แบน สีน้ำตาลอมเขียว มีลายกระ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ถั่วลาย เถาขึ้นไม่สู้ทึบในระยะแรกเจริญเติบโตช้าแต่ต่อไปจะขึ้นได้แน่นและอยู่ได้นาน รากแทงลงในดินได้ลึกแผ่ออกข้าง ๆ มาก ชอบดินค่อนข้างดี ไม่ชอบน้ำขัง ขึ้นได้ดีภายใต้ร่มเงา น้ำหนัก 1 กก. มีจำนวนเมล็ดประมาณ 39,700 เมล็ด 3. เพอราเรีย เป็นพืชคลุมดินชนิดเถา มีเถาใหญ่ ชอบเลื้อยพันต้นไม้ มีขนมาก ใบใหญ่และหนา ดอกสีม่วง เมล็ดเล็กค่อนข้างกลม สีน้ำตาลแก่ เปลือกเมล็ดแข็ง งอกช้า คลุมดินได้หนาทึบภายใน 5-6 เดือน กินปุ๋ยมาก ไม่ค่อยออกดอก ให้เมล็ดน้อย คลุมดินได้ดีเมื่ออายุ 2 ปีไปแล้ว ควบคุมวัชพืชได้ดี 4. ซีรูเลียม เป็นพืชคลุมดินชนิดลำต้นเถาเลื้อยแข็งแรง ใบสีเขียวเข้มเป็นมันค่อนข้างหนาคล้ายใบโพธิ์ แผ่นใบมีขน ดอกเป็นช่อสีม่วง เริ่มสร้างดอกในเดือนธันวาคม ลักษณะฝักแบนค่อนข้างเหลี่ยม ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร สีน้ำตาลเข้ม เมล็ดมีผิวเรียบเป็นมัน สีเขียวอ่อน จนถึงน้ำตาล และมีเมล็ดฝักละ 2-9 เมล็ด ขึ้นได้ดีในสภาพร่มเงามาก ช่วงแรกจะเจริญเติบโตช้า แต่ต่อไปสามารถเจริญเติบโตและคลุมพื้นที่ได้หนาแน่นภายใน 4-6 เดือน และคงทนกว่าพืชคลุมชนิดอื่น ๆ ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี โดยเฉพาะในท้องที่ที่มีสภาพแห้งแล้งและมีปรากฎการณ์ฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้นบ่อย จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้มาก จึงแนะนำให้เกษตรกรในแหล่งปลูกยางใหม่ ปลูกซีรูเลียมเป็นพืชคลุมในสวนยาง แม้การเจริญเติบโตระยะแรกสู้วัชพืชไม่ได้ แต่คลุมดินได้หนาทึบในปีที่ 2 มีเมล็ดประมาณ 28,000 เมล็ดต่อกิโลกรัม ซึ่งซีรูเลียม 1 ไร่ สามารถให้ผลผลิตถึง 15-35 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
วิธีการปลูกพืชคลุมดิน
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกคือ ต้นฤดูฝน เพื่อให้พืชคลุมเจริญเติบโต และเถามีความแข็งแรงเพียงพอก่อนเข้าฤดูแล้ง สำหรับวิธีการปลูก การปลูกพืชคลุมดินชนิดซีรูเลียม -ปลูกแบบหว่าน ห่างจากแถวยาง 2 เมตร เหมาะกับสวนที่โล่งเตียนและเตรียมพื้นที่อย่างดี -ปลูกแบบเป็นแถว ปลูกห่างกัน 2 เมตร 3 แถว เหมาะกับสวนที่ปลูกพืชแซม และสวนที่อยู่บนที่ลาดเท -ปลูกแบบเป็นหลุม ระยะ 30 x 100 ซม. จำนวน 5 แถว เหมาะสำหรับสวนที่มีวัชพืชไม่หนาแน่น ข้อควรปฏิบัติในฤดูแล้ง ควรทำแนวป้องกันไฟกว้าง 8 เมตร รอบ ๆ สวนและตลบเถาพืชคลุมในระหว่างแถวยางให้ห่างจากต้นยางประมาณ 1 เมตร
การเตรียมเมล็ดพืชคลุม
ใช้เมล็ดพืชคลุม อัตราไร่ละ 1 กก. เนื่องจากเมล็ดพืชคลุมมีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง ทำให้น้ำซึมผ่านเข้าไปในเมล็ดยาก จึงควรกระตุ้นให้เมล็ดงอกดีขึ้น โดยนำไปแช่ในน้ำเย็นหรือน้ำอุ่น (น้ำเดือด:น้ำเย็น อัตรา 2:1 ) นาน 12 ชั่วโมง จากนั้นคลุกเมล็ดพืชคลุมดินกับปุ๋ยหินฟอสเฟตในอัตราส่วน 1.5 เท่า ของน้ำหนักเมล็ดกอนนำไปปลูกในระหว่างแถวยาง
การเตรียมเมล็ดพืชคลุม
ผสมเมล็ดพืชคลุม คาโลโปโกเนียม : เซนโตรซิมา : เพอราเรีย อัตรา 5 : 4 : 1 หรือ 2 : 2 : 1 หรือ 1 : 1 : 1 ใช้เมล็ดพืชคลุมผสม อัตราไร่ละ 1 กก. แช่เมล็ดในน้ำเย็นหรือน้ำอุ่น (น้ำเดือด : น้ำเย็น อัตรา 2 : 1) นาน 12 ชม. ผสมปุ๋ยหินฟอสเฟตในอัตราส่วน 1.5 เท่าของน้ำหนักเมล็ด คลุกเมล็ดพืชคลุมก่อนปลูก
การบำรุงรักษาพืชคลุม
เพื่อให้พืชคลุมเจริญเติบโตได้หนาแน่น คลุมพื้นที่และควบคุมวัชพืชได้เร็วขึ้น ควรควบคุมวัชพืชและกำจัดวัชพืชก่อนปลูกโดยการไถพรวน ใช้สารเคมีฉีดพ่นซึ่งมีทั้งสารเคมีประเภทก่อนวัชพืชงอกและประเภทหลังวัชพืชงอก ใช้วิธีทางกายภาพ เช่น ให้แรงงานขุด หรือใช้วิธีผสมผสานระหว่างวิธีทางกายภาพและใช้สารเคมี นอกจากนี้ควรใส่ปุ๋ยหินฟอสเฟต (0-3-0.25% โดยปริมาณ) เพื่อให้พืชคลุมเจริญเติบโตได้เร็ว แข็งแรง และเพิ่มปริมาณเศษซากทำให้ต้นยางเจริญเติบโตได้ดีขึ้น