หนัง เพลงที่ฟัง หนังสือที่อ่าน และการเมืองด้วยครับ
Group Blog
 
All Blogs
 

ภาพยนตร์ในดวงใจ ของ สมัคร สุนทรเวช

หลายเดือนก่อนจัดหนังสือเข้ากล่อง มีนิตยสารเล่มหนึ่งตกลงมาตรงหน้า

ผมเองตั้งแต่ติดตามการเมืองมา พอจะพูดได้ว่า ผมมีทัศนคติทางการเมืองที่ไม่ตรงกับคุณ สมัคร สุนทรเวช หลายๆเรื่อง กระทั่งอาจจะพูดได้ว่าไม่เคยเห็นด้วยในแนวคิดทางการเมือง และวิธีการเล่นการเมืองของคุณสมัครเลยแม้แต่ครั้งเดียว

แต่มนุษย์เราไม่ได้มีเพียงด้านเดียว นอกเหนือจากความเป็นนักการเมืองนั้น มีหลายๆอย่างที่ผมนับถือคุณสมัคร

ผมชอบความเป้นคนที่ค่อนข้างกันเองของคุณสมัคร มีนักการเมืองระดับรัฐมนตรีไม่กี่คนหรอกครับ ที่ขับรถเองเสมอ เดิมดุ่มๆเข้าตลาดซื้อผักซื้อปลาทำกับข้าวกินเอง

และผมก็เชื่ออย่างจริงใจว่าการนั่งกินข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ตามข้างทางอย่างไม่ยุ่งยากเป็นบุคลิกจริงๆของท่าน ไม่ใช่การสร้างภาพ

มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบตรงกับคุณสมัครคือการชมภาพยนตร์

นิตยสาร Cinemag ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2541 มีบทสัมภาษณ์คุณ สมัคร สุนทรเวช ถึง 10 ภาพยนตร์ (กว่าๆ) ในดวงใจ

ในนั้นคุณสมัครเล่าว่าเป็นนักดูหนังตัวยง ดูหนังครั้งแรก ปี 2485 ที่โรงหนังบุศยพรรณ และ โรงหนังปีนัง ค่าดูครั้งแรก 3 บาท ต่อมาสมัยนักเรียนดู โคลีเซียม โรงเฉลิมเขต กับ พระขโนงเธียเตอร์

คุณสมัครบอกว่าภาพยนตร์ให้คุณค่ากับท่านมาก ในทักษะภาษาอังกฤษ (ต่อไปนี้ตัวเข้มคือคำพูดคุณสมัคร)

"สมัยผมหนุ่มๆ มีดาราชื่อ ดิ๊ก คลาร์ก หัวล้านเหม่งเลย เห็นแล้วนึกถึงท่านองคมนตรี สิทธิ เศวตศิลา ถ้าท่านไม่มีผมเลย ก็จะหน้าเหมือน ดิ๊ก คลาร์กเนี่ย"

คุณสมัครชอบอ่านหนังสือหนังตั้งแต่เด็กวัยรุ่น ตอนนั้นอ่าน โฟโต้เพลย์ กับ สกรีนเพลย์ (เป็นนิตยสารนอก) ของไทยชอบอ่าน ตุ๊กตาทอง (เคยเขียนจดหมายไปลงด้วย)

ภาพยนตร์ในดวงใจกับความเห็นสั้นๆ

1. How the West Was Won (1962) หนังรวมดาราสมัยนั้นเกือบทุกคน เช่น Carroll Baker, Walter Brennan, Henry Fonda, Carolyn Jones, Gregory Peck, George Peppard, Robert Preston, Debbie Reynolds, James Stewart, John Wayne, Richard Widmark. Spencer Tracy.

"เป็นหนังที่ผมชอบ ยังเอ่ยถึงเสมอ ยังแสวงหาไม่ได้เลย หนังเรื่องนี้ยิ่งใหญ่จริงๆ ดารา 50 คน ตอนมาฉายชื่อ พิชิตตะวันตก และมีเพลงแปลงเป็นภาษาไทยด้วย"



2. The Longest Day หนังรวมดาราอีกเรื่อง - John Wayne Henry Fonda Robert Mitchum Sean Connery Curd Jürgens Richard Burton Peter Lawford Rod Steiger rina Demick Gert Fröb Edmond O'Brien Kenneth More

"ที่ประทับใจเพราะเป้นบันทึกประวัติการขึ้นบกของพันธมิตร คือมันวันเดียวแท้ๆเลย"

3. Gone with the Wind (1939) หนังอมตะนิรันทร์กาล กำกับโดย Victor Fleming นำแสดง Clark Gable, Vivien Leigh, Leslie Howard, and Olivia de Havilland

"เป็นหนังใหญ่อีกเรื่องที่โบราณมาก ผมมีแผ่นเรื่องนี้ (น่าจะเป้นเลเซอร์ดิส) ดูแล้ว 2-3 รอบ ดูยุคสมัยแล้วต้องนับว่ายิ่งใหญ่สำหรับตรงนั้น"

4 - 5 - 6 เป็นหนังรุ่นเก่าเหมือนกันคือ South Pacific (1958) My Fair Lady (1964) และ 80 วันรอบโลก

ทั้ง 6 เรื่อง ผมดูแล้ว 4 มีเรื่องที่ 4 กับ 1 ไม่เคยดูครับ ซึ่งก็เป็นหนังที่ตรงกับวัยของคุณสมัครดี คงเป็นความทรงจำครั้งได้ดูหนังในชีวิตวัยเยาว์วัยรุ่นของท่าน ซึ่งผมเฉยๆเกือบทุกเรื่อง (ยกเว้น เรื่องที่ 2) เพราะเป็นหนังทีมันล้างพลาญเงินทองเกินเหตุสำหรับผม

ส่วนหนังยุคใหม่ ที่คุณสมัครยกให้ว่าชื่นชอบ และผมเห็นว่าน่าสนใจคือ

7. A Time to Kill (1996) กำกับโดย Joel Schumacher จะว่าเป็นหนังรวมดาราก็ได้ แต่เป็นดาราระดับกลางๆ และเน้นขายฝีมือการแสดง Sandra Bullock, Matthew McConaughey, Samuel L. Jackson, Kiefer Sutherland, Donald Sutherland, and Kevin Spacey.

"ผมชอบมากหนังพวกขึ้นศาล การสอบสวน หนังเรื่องนี้ถือว่าอยู่ในสารบบ"

สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้มีแง่มุมของการต่อต้านเรื่องเหยียดผิวด้วย และความยุติธรรมที่มันมาช้าไปก็ต้องใช้การแก้แค้นส่วนตัว ทำนองนี้ ไม่ได้เน้นเรื่องศาลแต่อย่างใด



8.The Postman (1997) กำกับและแสดงนำโดย Kevin Costner และมี Will Patton, Larenz Tate, Olivia Williams, James Russo ร่วมแสดง หนังถูกตำหนิในทุกๆทางว่าห่วยจนแม้แต่จะดูเอาสนุกก็ยังไม่ได้

"เป็นหนังที่ถือว่ามีเหตุมีผลกว่าไอ้หนังออสเตเรีย mad max นั้นเสียอีก คือเรื่องราวมันเป้นไปได้ หนังยาว 3 ชม. ไม่ใช่แบบ mad max มันบ้า มันไกลเกินเหตุ"

สำหรับผมแล้ว มันเรื่องนี้ก็พอใช้นะ มันถูกด่าเกินความเป็นจริงไปหน่อย คงเป็นเพราะลงทุนแยะ แต่ยังไง ผมก็ว่า Mad max สองภาคแรกดีกว่า ส่วนภาคที่สาม พอๆกับเรื่องนี้

9. Primary Colors (1998) หนังการเมืองที่พูดถึงกรณีอื้อฉาวของ บิล คลินตัน กันตรงๆ ได้ John Travolta มาเล่น แถม Emma Thompson, Billy Bob Thornton, Kathy Bates

"ถือว่าคนทำเขามีความกล้าหาญ นี่ขนาด ปธน.อยู่ในตำแหน่งนะ โอ๊ย ไอ้ จอนห์ ทราโวตร้า นี่มันลอกแบบ คลินตัน มาเลย ถ้ามันย้อมผมขาวอีกสักหน่อยนี่ ใช่เลย แต่ตัวผู้หญิงมันแข็งไปหน่อย ตัวใหญ่ไปหน่อย ตบหน้าผัวมันเรื่อย น่าจะเอาตัวเล็กๆเหมือน ฮิลลารี่ หน่อย"

แต่ผมว่า แอมม่า ธอมสัน เล่นดีนะ หนังก็สนุกพอใช้ได้ แต่ทีมการแสดงดีมากๆ

10 - 11 - 12 เซตหนังสุดมัน ระเบิดภูเขาเผากระท่อม - Armageddon (1998) Con Air (1997) Deep Impact (1998)

"หนังบู๊ แอ๊คชั่นเลือดพล่าน ผมก็ดูแยะ อย่างไอ้หนังขนนักโทษ นั้นน่ะ หรือ Armageddon ก็ดี ถือว่าอยู่ในความทรงจำ"

สำหรับผมแล้ว ก็ชอบเหมือนกัน แต่ก็แค่ชอบเท่านั้น หนังมันส์แบบหายบ้าทั้งสามเรื่องเลยครับ ดูได้สนุกจริงๆ แต่ดูจบแล้วลืมไปเลยนะครับ ไม่มีอะไรต้องจำ

จริงๆ คุณสมัครพูดแทรกมาอีกหลายเรื่องนะ ท่านบอกว่า ชอบดูหนังทุกๆเรื่องของ เอ็ดดี้ เมอร์ฟี่ร์ (ตลกดีว่างั้น) และหนังที่สร้างจากนิยายสืบสวนของ อาการ์ธา คินสกี้ ด้วย

ดูๆไปแล้ว จะเห็นว่าหนังที่คุณสมัครชอบจะไม่เป็นเอกภาพ มันมีทั้งหนังอีฟิคยุคเก่า หนังตลก หนังดราม่า หนังแอ๊คชั่น ปนกันไปหมด แต่อย่างหนึ่งซึ่งชัดเจนในนั้นคือ คุณสมัคร สุนทรเวช ชอบดูหนังที่ให้ความบันเทิงเป็นหลัก

หนังที่ไม่ชอบ (นอกดวงใจ) คุณสมัครบอกว่า

ไม่ชอบหนังแนว The X-Files เพราะ "สกัลลี่ไม่น่ารัก ไอ้พระเอกก็แข็งทื่อ ไม่น่าเอามาสร้างเป็นหนังใหญ่ อยู่ในจอทีวีนั้นแหละ ดีแล้ว"

ผมชอบนะ แต่ดูจากแนวคิดทางการเมืองแล้ว หนังแบบทฤษฎีสมคบคิดว่ารัฐบาลเป็นซาตานแบบนี้ คงไม่เข้าทางคุณสมัครแน่ๆ



ไม่ชอบ Titanic (1997) เอาเสียเลย

"เป็นการบ้าเกินเหตุ ปลุกระดมกันเกินเหตุ ได้เงินก็เป็นเรื่องบังเอิญ ผมบอกตรงๆว่า นางเอกเรื่องนี้ไม่เห็นจะน่ารักตรงไหนเลย แล้วไอ้ ดิคาปริโอเนี่ย ทำไมถึงชอบกัน มันปลุกระดมให้ชอบกันหรืออย่างไร พระเอกหน้าตาดีๆ มีแยะมากมาย แหม้ ผมไม่เข้าใจเลย หน้าตาอย่างงี้ ทำผมอย่างงี้ โอ๊ย โฆษณาแท้ๆเลย หนังเรื่องนี้"

มาสรุปกันตรง - คำสัมภาษณ์นี้แหละครับ ที่ผมชอบและนับถือคุณสมัครมาก เพราะมันตรงกับแนวคิดทางการเมืองของคุณสมัครกับผมซึ่งอยู่ตรงกันข้ามอย่างไม่น่าเชื่อ

คือไม่ได้ชอบ หรือ เห็นด้วยกับคุณสมัครเลยนะครับ ตรงกันข้าม ผมกลับเห็นว่า ไทตานิค เป็นหนังที่ดีเยี่ยมทุกประการ เคต วิสเลต ถึงจะอวบไปหน่อยแต่ก็สวยดีจะตาย ส่วนเจ้าลีโอก็แสดงอย่างดี มีแววเลยว่าจะดังระเบิด หน้าตาก็พอจะชมเชยว่าหล่อเหลาได้

แต่ถึงไม่เห้นด้วย แต่ผมก็นับถือคุณสมัครมากๆ ที่ให้ความเห็นต่อหนังเรื่อง ไทตานิค แบบนั้น

คิดดูสิครับ ตอนนั้นคนทั้งบ้านทั้งเมืองเขาอินไทตานิคกับเจ้าลีโอขนาดไหน เรียกว่าโคตรฟีเวอร์เลยก็ว่าได้ แต่คุณสมัครแกไม่ชอบ แกก็บอกตรงๆว่าแกไม่ชอบ แถมยังด่าให้ฟังอีกต่างหาก ชนิดไม่กลัวเสียคะแนนเสียงเลยแม้แต่นิดเดียว

ซึ่งหลายๆครั้งจุดยืนทางการเมืองคุณสมัครก็เหมือนการไม่ชอบหนังเรื่องไทตานิค หรือการเลือกหนังในดวงใจนี่แหละครับ

เรื่อง the postman เขาด่ากันว่าห่วยทั้งบ้านทั้งเมือง คุณสมัครแกชอบแกก็บอกว่าชอบ หนังขายกันเห็นๆอย่าง Armageddon (1998) Con Air (1997) แกก็ไม่สนใครจะว่าชอบของตลาด ไม่อาร์ตเสียเลย แต่ถ้าไม่ชอบเสียอย่าง ถึงใครๆจะคลั่งไคลขนาดไหน อย่าง Titanic แกก็ไม่เอาด้วย และกล้าด่าให้ฟังกันเห็นๆ

พูดง่ายๆก็คือ ถึงแม้ว่าจุดยืนทั้งทางการเมืองและรสนิยมการชมภาพยนตร์ (บางเรื่อง) ของคุณสมัครจะอยู่คนละจุดกับผมอย่างสิ้นเชิง แต่ผมก็นับถือความเป็นคนจริงที่มีจุดยืนที่มั่นคงของคุณสมัคร ความที่ปากที่ตรงกับใจ ไม่สนใจใครจะว่ายังไงก็ตาม

ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีสมัครก็สิ้นบุญไปแล้ว เรื่องราวต่างๆก็คงถูกพูดถึงต่อไป จะในแง่ใดก็ตาม แต่ผมก็เห็นว่าบางแง่มุม ทัศนคติการแสดงจุดยืนของท่านก็ยังน่านับถืออยู่มากครับ มากกว่านักการเมืองประเภทไหลตามน้ำบางคน

BLOGER ตัวเล็กๆ ขอแสดงความนับถือในความเป็นตัวของตัวเองของท่านเป็นครั้งสุดท้ายครับ......




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2552    
Last Update : 2 ธันวาคม 2552 13:33:32 น.
Counter : 2505 Pageviews.  

The Wrestler - ละครชีวิต

ภาพยนตร์เรื่อง The Wrestler ทำให้ผมเปลี่ยนทัศนคติในทางลบที่มีให้กับกีฬาและคนคนหนึ่งให้หายไปอย่างสิ้นเชิง

อย่างแรกคือกีฬามวยปล้ำและอย่างที่สองคือดาราภาพยนตร์ที่ชื่อ Mickey Rourke



กีฬามวยปล้ำถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน ตัวมันเองและตัวผู้เล่นไม่เคยได้รับความนิยมอย่างบ้าคลั่งในประเทศอื่นนอกจาก อเมริกาและญี่ปุ่น แม้กระนั้นในเมืองไทยของเราก็มีกลุ่มหนึ่งที่กีฬาประเภทนี้เป็นที่ชื่นชอบ ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆชั้นประถม มีรายการทีวีนำเอามวยปล้ำญี่ปุ่นมาฉายโชว์ทุกสัปดาห์ และผมก็เคยนั่งดูหลายครั้ง

จำได้คนเดียวคือนักมวยปล้ำชื่อ ดัม มัสสึโมโตะ โด่งดังเอามากๆ ก่อนที่ความนิยมมวยปล้ำจะลดลงเหลือแค่เฉพาะกลุ่มเช่นเคย - สาเหตุที่ผมเลิกดูมวยปล้ำเพราะไปหลงไหลกีฬาฟุตบอลแทน แต่ที่สำคัญคือได้รับข้อมูลจากญาติรุ่นพี่คนหนึ่งว่าไอ้ที่สู้กันอยู่บนเวทีนั้น มันไม่ใช่สู้กันจริงๆ แต่มันเป็นการแสดงทั้งนั้น

ตอนนั้นยังเด็กเลยรู้สึกว่าถูกหลอกและเลิกดูไป ตอนหลังๆเลยไม่ได้สนใจกีฬาชนิดนี้เลย

Mickey Rourke เป็นนักแสดงที่ผมไม่ชอบเท่าไร เพราะผมรู้สึกไปเองว่าเขาแสดงหนังไม่เก่ง มีแต่วางมาดแบบแมนๆเท่ห์ๆ และยังมีเรื่องราวนอกจอที่พอได้ยินแล้วก็รู้สึกแปลกๆ (เช่น เคยหนีกองถ่ายไปชกมวยหาลำไพ่พิเศษเป็นต้น)



The Wrestler - เป็นชื่อเรื่องที่หมายถึงนักมวยปล้ำและนักแสดงนำที่ชื่อ มิคกี้ โรท ไม่ได้มีส่วนทำให้ผมอยากดูหนังเรื่องนี้เลย แต่ชื่อผู้กำกับ Darren Aronofsky ต่างหากที่ทำให้ผมซื้อมันมาดู

Darren Aronofsky ที่ผมไม่เคยผิดหวังในฝีมือกำกับภาพยนตร์ เขาทำให้ทึ่งมากๆ อย่างที่ผมเคยเขียนถึงงานของเขาเรื่อง PI แล้ว ยังทำให้หลอนแบบใจขาดใน Requiem for a Dream และงงจนบอกใครไม่ได้ใน The Fountain และในหนังนักมวยปล้ำนี้ก็ทำเอาผมน้ำตาซึมในบทสรุปซีนสุดท้าย

หนังพูดถึง Randy "The Ram" Robinson นักมวยปล้ำชื่อดังในยุค 80 ในยุคปัจจุบันที่เขากลายเป็นชายวัยกลางคนต้นๆ 50 ที่ตอนนี้ไม่มีงานอื่นทำ ไม่มีบ้าน หย่ากับภรรยา มีลูกสาวที่เขาไม่เคยพบหน้ามานาน ถ้าหากเขาไม่มีงานขึ้นแสดงมวยปล้ำก็ไม่มีเงินจ่ายค่าห้องเช่าโทรมๆ บางครั้งต้องไปรับจ๊อบยกของที่ซุปเปอร์มาเก็ดที่เพื่อนเป็นผู้จัดการอยู่

ที่ทำให้ผมทึ่งคือหนังแสดงถึงเบื้องหลังของกีฬามวยปล้ำนี้อย่างละเอียดยี่ถิบ พวกเขาเป็นเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ถึงในทางการตลาดจะแบ่งฝ่ายเป็น 2 ข้างคือกลุ่มธรรมมะและกลุ่มอธรรม (คือพวกชอบเล่นโกง รุมสองหรือเอาเก้าอี้มาตีแบบนี้) แต่จริงๆแล้วทุกๆอย่างมีการจัดเตรียมเอาไว้ ว่าใครจะเล่นแบบไหน จะใช้อะไรตี และใครจะเป้นผู้ชนะ

แต่ที่ผู้กำกับบอกให้เข้าใจ (ทั้งๆที่น่าจะคิดเองได้มานานแล้ว) คือถึงมันเป็นการแสดง แต่ก็ใช่ว่าผู้เล่นจะไม่เจ็บปวด !!!!


ไม่ว่าชีวิตข้างหลังจะเจ็บปวดแค่ไหน แต่เมื่อเดินออกจากห้องแต่งตัวพวกเขาก็ต้องทำตัวฮึกเหิมเอาใจแฟนๆ จะเป็นแผ่นไม้ก็ดี แผ่นเหล็กก็ดี เมื่อแฟนๆยื่นให้ก็ต้องเอามาตีหัวตีท้อง ต้องยืนอย่างสง่าบนเวที แม้ว่าเบื้องหลังที่ยืนในสังคมอื่นๆพวกเขาแทบจะไม่มี

แต่ละซีนหนังตอกย้ำถึงความเจ็บปวด ทั้งๆที่เป็นการแสดง บรรดานักมวยปล้ำต้องออกกำลังกายอย่างหนักในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายและผิวหนังแข็งแกร่ง / พวกเขาต้องซ่อนใบมีดโกนเพื่อไว้กรีดตามเนื้อตัวให้เลือดออกสมจริง / ต้องชกกันจริงๆเพื่อให้หน้าแดง / บางโชว์ก็ต้องเอาถาดบ้าง แม๊คยิงกระดาษบ้าง มายิงตามเนื้อตัว / กระทั้งเอาลวดหนามมาตีกัน เพื่อเพิ่มความมันส์สะใจแก่ผู้ชม

และเมื่อถึงวันหนึ่ง หลายๆคนที่หมดสภาพในการแสดงบนเวที บางคนขาพิการ / แขนพิการ / มีอาการทางสมอง / หรือกระทั้งเป็นโรคหัวใจ สิ่งที่พอจะหาเงินยาไส้ได้ก็คือไปนั่งในชมรมและจัดวันให้บรรดาแฟนพันธ์แท้ (ที่มีน้อยมากบางคนมีเหลือแฟนๆแค่ 2-3 คน) เข้าพบเพื่อถ่ายรูป แจกลายเซ็น ขายวีดีโอ เลี้ยงชีพไปวันวัน



Darren Aronofsky กำกับดีมากครับ บทภาพยนตร์ก็มีเหตุมีผล แต่ที่เด่นที่สุดคือภาคการแสดง มาริสา โทเม และ ราเชล วู๊ด แสดงได้ดีตามบทนักแสดงเปลื้องผ้าและลูกสาวของแรนดี้ กำลังใจเพียงสองอย่างของเขา แต่ที่เด็ดที่สุดคือ มิคกี้ โรท ที่ไม่ได้ทำงานหลายปีจนลืม - แสดงได้อย่างเข้าถึงบทจริงๆ ชนิดที่ผมต้องหยิบเอาหนังเก่าๆที่เขาเล่นที่มีเก็บไว้มาดูใหม่ เพราะคิดว่าที่ผ่านมาประเมินเขาต่ำเกินไป

และคราวหนังออกฉายเมื่อปีที่แล้วหนังก็ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ ได้เข้าชิงรางวัลใหญ่ๆมากมาย โดยเฉพาะโรท ที่ตอนรับแสดงเขาไม่ได้ค่าตัวสักบาท - อารอนอฟสกี้ บอกว่าโรทว่า "คุณจะไม่ได้ค่าตัว แต่จะได้เข้าชิงออสก้าร์" - และมันก็เป็นไปตามนั้น โรทได้เข้าชิงไปแพ้ ณอน เพนท์ แต่เขาได้ลูกโลกทองคำมาปลอบใจ และการกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งในแวดวงมายา


ดูภาพยนตร์แล้วก็ย้อนมาดูตัวเอง - ในสังคมทุกวันนี้เราก็ต้องแสดงกันในแต่ละบทบาทของชีวิต ผมมาทบทวนดูแม้แต่ตัวผมเองก็เถอะ ชีวิตเราหลายๆอย่างเลือกไม่ได้ เมื่อจำเป็นจะต้องทำ ก็ต้องร้องรำไปให้เข้ากับเพลงที่มันบรรเลงอยู่ ไปขัดขืนมันเข้าก็ย่อมจะโดนด่าว่า ทุกๆคนย่อมมีและย่อมจะได้แสดงในแต่ละบทบาท ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความรัก / การงานอาชีพ / ครอบครัว / ญาติพี่น้อง - บางครั้งเราต้องสวมบทบาทนักแสดงออกไปในสังคม

คนที่เปรียบเทียบได้คมคายที่สุดที่ผมเคยอ่านเห็นจะเป็น อ.คึกฤทธิ์ ในหนังสือสี่แผ่นดิน ที่บอกประมาณว่า "ชีวิตเราก็เหมือนเวทีละคร คนเล่นก็เล่นไป พวกปี่พาทย์ก็บรรเลงเพลงไป หากใครเล่นใครรำได้เข้าจังหวะ คนๆนั้นก็จะมีคนชม" (อันนี้ผมพิมพ์จากความจำนะ ไม่ถูกเป๊ะหรอก)

รูปแบบของหนังถึงจะฉีกไปจากเรื่องเดิมๆของเขา แต่ประเด็นหลักก็เหมือนกันคือเขาพยายามนำคนดูไปในโลกที่หลายๆคนมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นโลกของนักคณิตศาสตร์ใน PI หรือพวกเด็กติดยาใน Requiem for a Dream

ในขณะที่โลกของนักมวยปล้ำ ที่บนเวทีกับชีวิตจริงจะแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน แรนนี่ในสภาพที่เกือบจะสิ้นหวังสุดๆ ยังมีแรงใจเล็กๆในโลกของเขา คือนักเต้นโชว์อย่าง แคสสิดี้ (Marisa Tomei) และลูกสาวเพียงคนเดียวของเขา สเตฟานนี่ (Evan Rachel Wood) ที่เขาอยากให้เธอให้โอกาสเขาอีกครั้งที่ทิ้งเธอไป



ด้วยความช่วยเหลือของ แคสสิตี้ แรนนี่สามารถทำให้สเตฟานนี่ยกโทษให้เขาได้ เขาพาเธอไปกินอาหารก่อนจะเดินเล่นกันริมชายหาด พ่อกับลูกได้ปรับความเข้าใจ

แต่ชีวิตมันก็ไม่ง่ายขนาดนั้น ถึงวันหนึ่งแรนนี่ก็เล่นไม่เข้าจังหวะ และทำให้ทุกอย่างมันล่มสลายอย่างไม่น่าจะเป็น

อารอนอฟสกี้ ย้ำถึงการแสดงในโลกจริงของแทบทุกตัวละคร แรนดี้บนเวทีมวยปล้ำ / แคสสิตี้บนเวทีโชว์ในบาร์ / สเตฟานี่ในฐานะเลสเบี้ยน แต่ละคนต่างก็ต้องเล่นบทบาทของตัวเองให้ดีที่สุด

แรนดี้ก็เหมือนกับหลายคน เขายึดติดการแสดงบนเวทีมวยปล้ำและนำมันมาผูกพันกับชีวิตจนขาดการควบคุมจนดูเหมือนทุกๆอย่างของเขามันล้มเหลว - และแม้กระทั่งถึงจุดๆหนึ่งแล้ว แรนดี้ ก็ยังเลือกจะไปยืน"แสดง"บนเวที แม้รู้ว่าตัวเองคงจะไม่มีโอกาสเดินลงมาแล้วก็ตาม.....

และหลังจากดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว มันทำให้ผมดูกีฬามวยปล้ำได้อย่างตาสว่างมากขึ้น (และทำให้รู้ตัวเองก็มีอคติแบบไม่ค่อยดีเท่าไรในบางเรื่อง) หนังออกเป็นแผ่นแล้ว หามาชมกันให้ได้นะครับ




 

Create Date : 04 สิงหาคม 2552    
Last Update : 4 สิงหาคม 2552 9:33:26 น.
Counter : 1339 Pageviews.  

Be Kind Rewind - กรอเทป กรอความทรงจำ

คิดว่าเพื่อนๆบล๊อคหลายๆคนในที่นี้คงทันกับยุคม้วนวีดีโอก่อนที่ปัจจุบันมันจะสูญพันธ์ไปแล้ว

ในบล๊อคนี้คงมีเพื่อนหลายๆคนได้เล่าข่าวสารเรื่องการต่อต้านการพัฒนาปรับปรุงอาคารสถานชุมชนในหลายๆแห่ง ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการทุบหรือทำลายตึกเก่าๆ เพื่อสร้างใหม่หรือขยายถนนก็แล้วแต่ ซึ่งแน่นอนว่ามุมมองของรัฐ(ที่อาจมีกลุ่มทุนสนับสนุน) ย่อมต้องขัดแย้งกับตัวสมาชิกชุมชนที่อยากจะรักษาวิถีดั้งเดิมเอาไว้

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่มีแค่ในประเทศไทย มันมีทั่วโลกในยุคทุนนิยมนี้ที่มักจะเอาผลประโยชน์ (ของใครก็ไม่รู้) ที่จะได้รับมาอ้าง



Be Kind Rewind - เป็นหนังที่พูดถึง เจอร์รี่ (JACK BLACK) และ ไมค์ (Daf mos) ทั้งสองเป็นเพื่อนซี้กัน ไมค์เป็นลูกเลี้ยงของ เฟลทเชอร์ (Danny Glover) เรื่องเกิดขึ้นในเมืองเล็กๆชื่อ Passaic รัฐ New Jersey เจอร์รี่เป็นคนค่อนข้างบ้าๆ เขาอาศัยอยู่ในรถบ้านใกล้โรงผลิตกระแสไฟฟ้า (ซึ่งเขาเชื่อว่าจะทำให้เขาตายผ่อนส่ง เนื่องจากคลื่นไมโครเวฟ) ส่วนไมค์กับเฟลทเชอร์อยู่ในตึกเก่าๆ ที่ทำธุรกิจร้านวิดีโอที่มีชื่อว่า Be Kind Rewind และปัจจุบันธุรกิจของพวกเขาก็แย่เต็มทน

ไมค์ชอบฟังและศรัทธาเรื่องราวเก่แก่ของตึกนี้จากเฟลทเชอร์ โดยเฉพาะเรื่องที่ว่า Fats Waller นักดนตรีแจ๊ซชื่อดังยุค 30 เกิดที่เมืองนี้ และบนตึกนี้ที่เขาอาศัยอยู่

ต่อมา อบจ.ของเมืองแจ้งให้ เฟลทเชอร์ทราบว่าพวกเขาต้องทำการปรับปรุงตึกใหม่ใหสวยงาม ไม่งั้นเมืองจะเสียภูมิทัศน์ ถ้าเฟลทเชอร์ทำไม่ได้ ก็จะต้องยอมรับเงินค่าชดเชยและย้ายออกไป ยอมให้เทศบาลทุบตึกทิ้งและสร้างใหม่

ผมชอบตั้งแต่เห็นชื่อหนัง มันทำให้ผมนึกถึงตอนเด็กๆ Be Kind Rewind มันแปลได้ว่า"ช่วยกรุณากรอเทปกลับก่อนส่งคืนด้วยครับ"

ผมจำได้ว่าในยุควีดีโอน่ะเมื่อแรกๆ เขาไม่กรอเทปกลับให้ เวลาป๋าเช่าหนังจีนชุดมาหลายๆม้วน หน้าที่ผมคือต้องเอามันกรอเทปกลับให้ครบทุกม้วน (เวลาดูต่อม้วนใหม่จะได้ไม่ต้องรอ - ป๋าบอก) ต่อมามันจะมีเครื่องกรอเทปอัตโนมัติมาขายป๋าก็ซื้อมาไว้ ช่วงหลังๆแม้ร้านเช่าวีดีโอเขาจะกรอมาให้ ผมก็ต้องกรออยู่ดีเพราะบางทีไม่ได้เช่าเอง อาเจ๊ก อาแป๊ะ อาโกว อาอี้ อาอะไรต่อมิอะไรญาติๆ เช่ามาดูจบก็เอามาทิ้งให้ป๋ากับผมดูต่อ ผมต้องจัดการกรอเทปรอให้เรียบร้อย (ไม่งั้นป๋าไม่ให้ดูด้วย อิอิ)

แต่แน่นอน เวลามันก็ทำให้หลายๆอย่างเปลี่ยนไป ทุกวันนี้ผมหาร้านเช่าวีดีโอไม่เจอแล้ว ม้วนหนังที่ผมสะสมไว้เป็นร้อยๆม้วนก็กองฝุ่นจับอยู่ในตู้ ดูๆก็อดสงสารมันไม่ได้เลยไม่ยอมเอาไปทิ้งซะที

เช่นเดียวกับไมค์และเฟลทเชอร์ ธุรกิจพวกเขาย่ำแย่ จนต้องเอากล่องไอติมบ้าง ขนมลูกอมบ้างมาขายพอเลี้ยงตัว "ผู้คนเขาไปเช่าร้านแบบ Blockbuster DVD rental chains กันหมดแล้ว" เฟลทเชอร์พูดอย่างท้อใจ ก่อนจะจากไปปรึกษาญาติๆราวอาทิตย์หนึ่งและทิ้งร้านไว้ให้ไมค์ดูแลและย้ำนักหนาว่า "อย่าให้ไอ้เจอรี่มายุ่ง"



ผลก็คือเจอรี่มายุ่งและทำให้เทปทั้งหมดถูกลบทิ้ง(ด้วยเหตุผลที่บ้าบอคอแตกมากๆ หาดูเอาเองละกันนะครับ) ประกอบกับขาประจำเดนตายม้วนวีดีโออย่าง Miss Falewicz (Mia Farrow) อยากดูเรื่อง "บริษัทกำจัดผี" ไมค์กับเจอรี่จึงแก้ปัญหาง่ายๆ โดยการถ่ายทำมันเองเสียเลย !!!!!




ช่วงกลางเรื่องจึงเป็นช่วงที่สนุกสนานมากที่สุด พวกเขาไม่เพียงแต่เอาตัวรอดได้ กลับสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆที่สนใจในลูกบ้าแบบนี้ พวกเขาไม่มีเงิน ไม่มีสถานที่ ไม่มีชุด ไม่มีอะไรทั้งนั้น การสร้างหนังเลียนแบบจึงเต็มไปมุขฮาๆ บ้าๆบอๆ ในแนวของ แจ๊ค แบล็ค แต่ขณะเดียวกันก้อแอบแฝงการถลิวหาอดีตไว้อย่างลึกๆเช่นกัน

ผมเองตอนเด็กประถมก็เคยขอป๋าซื้อเสื้อคลุมแบบ เสี่ยวหม่า ในหนังเรื่องโหด เลว ดี แถมยังแอบเอาปืนเหน็บในปกเสื้อแบบเฮียโจว นึกถึงตอนโตยังเสียดายไม่มีรูปเก็บไว้


แฟนๆมาขอให้พวกเขาก๊อปหนังอย่าง Ghostbusters / Robocop / The Lion King / Rush Hour / King kong / 2001 space odessy ฯลฯ ส่วนใหญ่ให้ทุนเล็กๆน้อยๆ บางคนร่วมแสดงเอง เฟลทเชอร์กลับมาก็ดีใจ พวกเขาลงแรงจนเกือบจะได้เงินครบตามที่เทศบาลกำหนดให้ซ่อมแซมตึก

แต่ทุกอย่างก็จบลงเมื่อ บรรษัทยักษ์ใหญ่สตูดิโอรู้จึงส่งทนายความมาจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะตามกฎหมายทำไม่ได้ พวกเขาเสียเงินทั้งหมดและเทปที่ถ่ายไว้ถูกเอาไปทำลายจนเกลี้ยง

พร้อมกันกับอีกไม่กี่วัน เทศบาลจะส่งคนมาทำลายตึกนี้เสีย

หนังเสียดสีระบบทุนนิยม ในเรื่องของงบการถ่ายทำที่แม้จะทำแค่เล็กๆ บ้านๆ แต่หากผู้ทำมีความสุขแล้ว ก็ย่อมจะสนุกกว่าหนังฟอร์มยักษ์ทุนหนา และความบ้าภาพลักษณ์ของผู้บริหารบ้านเมืองจนลืมนึกถึงจิตวิญญาณของบรรดาผู้อาศัย...

สุดท้าย ไมค์เสนอเฟลทเชอร์ว่าเขาจะไปประท้วงเทศบาล เพราะครั้งหนึ่ง ตำนานอย่าง แฟท วอร์เลอร์ เคยเกิดที่นี่ ตึกนี้ย่อมเป็นที่สำคัญทางประวัติศาตร์ดนตรี แต่เฟลทเชอร์ท้อแท้จนหลุดปากไปว่า "ฉันแค่หลอกแก ไม่มีใครรู้ว่าวอร์เลอร์เกิดที่ไหน ฉันแค่อยากให้ตึกนี้มันสำคัญกับแก"

ไมค์ไม่ยอมแพ้ เขาและเจอรี่รวมทั้งเพื่อนๆในชุมชนตกลงจะสร้างหนังโฮมวีดีโออีกครั้ง และจะสร้างโดยไม่ก๊อปใคร พวกเขาจะสร้างสารคดีของ แฟท วอร์เลอร์ (ไมค์แสดงเป็นวอร์เลอร์) กับความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น Passaic นี้

ผมชื่นชมและอยู่ข้างกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นทุกๆแห่งทั่วโลก ในโลกปัจจุบันที่เน้นความสะดวกสบาย หรือความสวยงามแบบฉาบฉวยเพื่อประโคมผลงานของรัฐ หรือสร้างความสวยงามแบบกลวงๆหลอกนักท่องเที่ยว ทำผังเมืองใหม่ ทำให้บ้านเรือนหรือตึกๆเก่าแก่ถูกทำลายไปมากมาย ไม่นับที่เต็มใจขายเองเอาเงินก็แยะแล้ว แต่คนที่ไม่ยอมแก่อำนาจเงิน และอยากรักษาแบบบ้าน แปลงเมืองแบบเดิมๆไว้ ก็ควรจะมีพื้นที่ให้พวกเขาบ้าง



หนังเขียนบทและกำกับโดย มิเชล กอดรี้ ที่เคยคว้ารางวัลออสการ์จากบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่อง Eternal Sunshine of the Spotless Mind มาแล้ว

หนังทำได้ดีมากๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทำให้หนังที่แนวน่าจะรันทดกลายเป็นหนังตลกแบบฮาได้ขนาดนี้ (โดยเฉพาะช่วงกลางๆเรื่อง) หนังสนุกมากเลยครับ ภาคการแสดงก็ทำได้ดีทุกคน โดยเฉพาะตาอ้วน แจ๊ค แบล๊ค บ้าได้ใจ ส่วนแดนนี่ โกลเวอร์ที่หายไปตั้งนานก็เล่นดีเหมือนเดิม

ผมดูจากแผ่นดีวีดี (แย่นะ ไม่มีวีดีโอให้ดูแล้ว) คงจะมีตามแผงเช่าเร็วๆนี้ ลองหาดูนะครับ ย้ำอีกทีว่าหนังสนุกจริงๆ

หนังทับซ้อนหลายๆอย่างด้วยกัน ม้วนวีดีโอกับร้านเช่าสุดท้ายในท้องถิ่นที่ถูกแทนที่ด้วยร้านดีวีดีหรูหรา ตึกเก่าๆที่เทศบาลอยากเอาคอมแพล็คใหม่ๆมาแทนที่ โลกนี้ต้องเดินไปข้างหน้า แต่ว่าคนที่ไม่อยากเดินไปล่ะ...

สารคดีของพวกเขาเกือบจะไม่ได้ฉาย วันสุดท้ายก่อนจะทุบตึกแค่หนึ่งชั่วโมง และเป็นซีนที่ดีมากๆ สารคดีที่พวกเขาทำ อาจจะตลกหรือห่วยในสายตาหลายๆคน (รวมทั้งผมด้วย เพราะมันจงใจมากๆให้ออกมาหลุดๆ) แต่ที่สัมพัศได้อย่างแน่นอนคือความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่อยากจะอนุรักษ์ตึกนี้ไว้ให้ถึงที่สุด ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งก็ตาม

แน่นอนว่าความเจริญต้องมี แต่ผมก็อยากให้มันเดินไปด้วยกันได้กับอะไรก็ตามที่มันมีคุณค่าทางจิตใจของชุมชน




 

Create Date : 11 มิถุนายน 2552    
Last Update : 11 มิถุนายน 2552 13:18:53 น.
Counter : 2204 Pageviews.  

ราโชมอน - การอภิปรายภายใต้วังวน

เหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเดือนเมษายนนี้ ทำให้ผมคิดถึงหนังคลาสลิกเรื่องหนึ่งของ คุโรซาวา อากิรา

หนังชื่อ ราโชมอน ที่ออกฉายมาเกือบจะหกสิบปีแล้ว



เรื่องเล่าอย่างย่อที่สุดคือ ในวันที่พายุฝนตกอย่างหนัก ได้มีคนสามคนคือ คนตัดฟืน พระ และคนรับใช้ได้เข้าไปหลบฝน ณ ประตูราโชมอน ตามชื่อหนัง ทั้งสามได้ถกเถียงกันถึงคดีการไต่สวนคดีฆาตกรรมรายหนึ่ง ที่ได้เกิดขึ้นวันก่อน

เหตุการณ์ที่สาถารณชนรับรู้คือ มีซามูไรกับภรรยาได้เดินทางไปในป่า เจอโจร โจรและซามูไรต่อสู้กันและซามูไรเสียชีวิต และโจรป่าได้มีข่มขืนภรรยาของซามูไร

แต่เมื่อการไต่สวน คำให้การของ โจรป่า / หญิงสาว / และซามูไร (ที่ให้การผ่านคนทรงวิญญาณ) กลับไปคนละทิศละทาง



เรื่องราวจากปากคำของภรรยาซามูไรบอกว่า หล่อนเป็นฆาตกรฆ่าสามีเสียเอง เพราะเมื่อซามูไรแพ้โจรและนางถูกข่มขืน เขากลับทำท่าทางรังเกียจเหยียดหยามเธอ

เรื่องราวจากคนทรงวิญญาณกลับกล่าวว่า ตัวซามูไรเองนั่นแหละที่ฆ่าตัวตายอย่างสมศักดิ์ศรีเพื่อล้างอายที่พ่ายแพ้และเสียภรรยาที่ทำท่าจะสมยอมกับโจรป่า

โจรป่ากลับบอกว่าเขาแลซามูไรสู้กันอย่างยุติธรรมและเขาเป็นผู้ชนะ และสังหารซามูไรได้ ส่วนภรรยาของซามูไรก็ยิมยอมเป็นของเขาเอง

หนังเรื่องนี้ได้รับการยกย่องอย่างสูง คุโรซาวะ อากิรา เขียนบทร่วมกับ ฮาชิโมโตะ ชิโนบุ เรื่องเป็นนิยายเดิมโดย อาคุตางาวะ ริวโนสุเกะ

คำถามที่ อากิรา ถามผู้ชมทุกคนคือ จิตใจของมนุษย์ย่อมมีความเข้าข้างตัวเอง (หรือพวกพ้อง) เป็นพื้นฐานอยู่แล้วใช่หรือไม่

นับตั้งแต่วันสงกรานต์เป็นต้นมา เกิดอะไรมากมายในสังคมไทย

ภาพที่เราทุกๆคนเห็น เป็นเช่นเดียวกับต่างชาติ คือมีคนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมากระทำการเผารถ ทุบบ้าน ยิงมัสยิด บุกโรงแรมและสถานที่ราชการ มีทหารและตำรวจเข้าจัดการ มีภาพทหารยิงปืน มีคนถูกยิง มีคนบาดเจ็บนับร้อย และผู้เสียชีวิต 2 ราย

แต่ผมดูอภิปรายในสภาไทยมาจนถึงตอนนี้ ก็มีแต่คำอธิบายความในแบบของหนังเรื่อง ราโชมอน

คือในความจริงชุดเดียวกัน ทุกๆฝ่ายต่างสามารถหาจุดมาพูดได้ว่า "ฝ่ายของข้าเท่านั้นที่ทำถูก อีกฝ่ายหนึ่งช่างเป็นคนเลวทรามต่ำช้าสิ้นดี"

ในตอนท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ พระถึงกลับหลั่งน้ำตาและบอกว่า อาตมา สิ้นหวังในมวลมนุษย์จริงๆ

เช่นเดียวกับการฆาตกรรมและชำเราหญิงสาวใน ราโชมอน "ความจริง" ที่สาธารณชนต้องการทราบ ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนทั้งสามในเรื่อง

"ความจริง"ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรานี้ ก็เช่นกัน ผมเชื่อว่าเอาเข้าจริงๆ มีคนไม่เกินสิบคนยี่สิบคนเท่านั้นที่รู้ดีว่า จริงๆแล้ว มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย

แต่คำพูดของตัวละครทั้งสามในราโชมอน และตัวละครนักการเมืองไทยทั้งหมด ก็เหมือนกันอย่างน่าใจหาย

คือไม่มีใครยอมรับผิด ไม่มียอมรับว่าตนคือผู้แพ้ มีแต่การโทษฝ่ายตรงกันข้าม และยกย่องตัวเองว่าคือผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องการเหตุการณ์

ก็ไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงไม่มีข้อสงสัยว่ามันคือภาพยนตร์ระดับคลาสลิก อมตะนิรันต์กาลเรื่องหนึ่ง

เพราะจะกี่สิบปีผ่านไป มนุษย์เราก็ไม่เปลี่ยนเลยจริงๆ...........

ปล. เพื่อนแบร์ ขอหนังคุโรซาวา อากิรา เลยจัดให้ตามคำขอจ้า...





 

Create Date : 23 เมษายน 2552    
Last Update : 23 เมษายน 2552 14:35:23 น.
Counter : 1955 Pageviews.  

Local Hero - วีรบุรุษแห่งหมู่บ้าน

ผมเชื่อเสมอว่าโลกนี้ไม่มีอะไร ขาดล้วน ดำล้วน - เมื่อวานเมื่อผมได้พูดคุย (และด่า)กับเพื่อนเรื่องบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งที่จะขยายตัวไปขุดกลางทะเล ตอนขับรถกลับบ้าน ผมนึกถึงหนังเรื่องหนึ่งขึ้นมา

Local Hero เป็นหนังเล็กๆเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก หนังมีเรื่องย่อว่า บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่คือ Knox Oil and Gas ได้พบว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลแห่งหนึ่งในประเทศสกีอตแลนน์มีน้ำมันอยู่ จึงได้ส่งตัวแทนบริษัทสองคนเพื่อไปเจรจาซื้อที่กับชาวบ้าน



ซึ่งถ้าฟังเพียงแค่นี้ก็อาจคิดต่อไปถึงหนังเรื่องการต่อต้านของชาวบ้านหรือการบังคับข่มขู่ของผู้ร่ำรวย กระทั่งการรุกรานธรรมชาติ- แต่หนังเรื่องนี้กลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไป

หนังมองโลกตามความเป็นจริง เมื่อมีคนมาเสนอด้วยเงินแพงๆชาวบ้านทุกคนจึงตาลุกและพร้อมจะขายกันอย่างเต็มใจ (แต่ทำเป็นเล่นตัวกันตามคำสั่งผู้นำหมู่บ้าน / หวังโก่งราคา) และเจ้าหน้าที่จากเคน๊อซก็คือคนธรรมดาๆที่มาทำหน้าที่ตามหน้าที่ อย่างไรก็ตามหนังก็วิจารณ์การรุกคืบของระบบทุนนิยมและวิถีชาวบ้านอย่างคมคาย

นาย แม็ค แม๊คอินไทร์ - Mac MacIntyre (Peter Riegert) ผู้รับหน้าที่เดินทางไปสก๊อต (ด้วยเหตุผลของเจ้านายที่ว่าชื่อเขามีคำว่าแม๊ค คงจะมีเชื้อสายสกีอตปะปนบ้าง) และ แดนนี่ โอลล์เซ่น (Peter Capaldi) เจ้าหน้าประสานงานที่อังกฤษ เดินทางไปที่นั้นและพวกเขาก็พบกับวิถีชาวบ้านที่เรียบง่าย ซื่อๆและมีน้ำใจ (ทันทีที่เขาเปรยว่าอยากได้เหรียญ 10 เซ็นหยอดตู้โทรศัพท์ ทุกคนในบาร์ต่างพากันควักให้จนเกินพอ)

กระแสรักษ์โลก - โลกร้อน ในทุกวันนี้ดูเหมือนบริษัทน้ำมันใหญ่ๆต่างกลายเป็นผู้ร้ายไปตามๆกัน - แต่ประธานบริษัทน้ำมันแห่งนี้ เฟลิกซ์ ฮูเปอร์Felix Happer ( เล่นโดยดารารุ่นเก๋า Burt Lancaster) กลับเป็นคนที่แปลกๆ เขาหลับในที่ประชุมบ่อยๆ และเมื่อรู้ว่าบริษัทจะส่งคนไปซื้อที่ดินในแถบชายฝั่งสก๊อตเขาก็เรียก แม๊ค เขาไปหาและขอร้องให้แม๊คมองไปบนฟ้ายามค่ำคืนเพื่อค้นหากลุ่มดาวบางอย่างที่เขาเฝ้าศึกษามานาน "ดูไปบนท้องฟ้า และหมั่นโทรหาฉัน" เขาขอร้องแม๊ค

ผมเองเอียงๆซ้ายแต่ก็เชื่อว่าเราไม่ควรตัดสินใครจากสภาพที่เขาสังกัด ในบรรดานายทุนทั้งหลายก็ยังมีคนดีๆและอยากช่วยสังคมอยู่ไม่น้อย

หนังมีหลายๆฉากที่ผมประทับใจ โรงแรมเล็กๆเงียบสงบที่แทบไม่มีใครมาพัก / การเลี้ยงประจำปีที่ลุงขี้เมาแกขึ้นไปร้องเพลงเสียงเพี้ยนๆ / ชาวบ้านแอบย่องๆไปประชุมกันที่โบส์ถเพื่อไม่ให้แม๊ครู้ / แม๊คกับโอลล์เซ่นช่วยกันดูแลกระต่ายที่เขาทำขาหัก / เด็กวัยรุ่นที่เดินตามแม๊คเป็นพรวน / ชาวบ้านขอลายเซ็นไว้เป็นที่ระลึกเพราะไม่เคยเห็นคนอเมริกัน / เอาเข้าไปนานๆ ทั้งแม๊คและโอลล์เซ่นต่างก็ชักชอบชีวิตแบบนี้ไม่น้อย โอลล์เซ่นเองก็ไปปิ๊งมาร์ริน่าสาวนักสำรวจที่ไม่ต็มใจมาเตรียมพื้นที่สร้างฐานน้ำมันคนหนึ่งอีกต่างหาก

เวลาผ่านไปจนชาวบ้านทั้งหมดได้ข้อสรุปที่พอใจและต้องการจะขาย แม๊คเองก็เริ่มสับสนตนเองว่าที่ทำๆอยู่นี่จะดีจริงเหรอเปล่า - แต่ทุกอย่างก็เดินหน้าไปไม่ได้เพราะเฒ่าเบน เจ้าของกระท่อมริมชายหาดแกไม่ยอมขาย จนแม๊คต้องไปเจรจาด้วยตนเองที่บ้าน ( ซึ่งไม่มีประตู เข้าออกทางหน้าต่าง!!! ) ของลุงแก - "เราจะไปเจรจายังไงกับคนที่บ้านก็ไม่มีประตูละนี่"แม๊คบ่นอย่างอ่อนใจ

หนังบอกตรงๆว่าระบบทุนนิยมทำให้ชาวบ้านทั้งๆที่วีถีเดิมๆมันสวยงาม เรียบง่าย และเปี่ยมน้ำใจอยู่แล้ว มีความทะเยอทะยานอยากไปในที่อื่นๆที่เจริญกว่าหรืออยากได้เงินทองมาใช้ในสินค้าที่โฆษณาต่างๆ แต่หนังหยุดให้เราคิดแค่นั้น ถ้าใครอยู่ในเมืองใหญ่แล้วเจอวิถีแบบนั้น ก็คงปลงๆว่าไม่น่าขายที่ ขายชุมชน - แต่อย่าลืมว่าคนที่ไม่เคยมีเงิน เขาก็ย่อมอยากได้เงินมาใช้จ่ายในสิ่งที่เขาไม่เคยได้รับ

คิดดู - วิถีชนบทที่เปลี่ยนไปก็เพราะโดนเอาเงินมาทุ่ม แต่พวกเขา(ส่วนใหญ่)ก็เต็มใจรับใช่หรือไม่? เพราะอะไร ?

หนังใช้สัญลักษณ์อีกอย่างคือทุกๆระยะ จะมีเสียงบิดรถมอร์เตอร์ไซด์ดังลั่นท่ามกลางหมู่บ้านที่เงียบสงบ "เจ้าหนูนั่นไปซื้อรถมาก็ซิ่งใหญ่"ชาวบ้านคนหนึ่งบ่น - เป็นเชิงบอกว่าหมู่บ้านกำลังถูกรุกรานจากสิ่งแปลกปลอมไปทุกวัน (และเริ่มจากคนในไปเอามาด้วย)

Local Hero ตามชื่อหนังคงจะเป็นเฒ่าเบน เขาไม่ใช่วีรบุรุษนักต่อสู้แบบถือโทรโข่งด่าพวกนายทุน /จัดตั้งคนไปเดินประท้วง /ไปถือป้ายยืนด่าตามที่ต่างๆ - เฒ่าเบนแค่นั่งจิบชาอยู่หน้าบ้านและบอกว่าไม่ขาย - กระทั้งแม๊คเอารูปชายหาดสวยๆทั่วโลก (อย่างฮาวาย) ไปให้เลือกบอกว่าอยากได้ที่ไหนก็บอกจะซื้อให้และแถมเงินให้อีก 750000 ปอนน์ แกกลับตอบง่ายๆว่า - "หาดทรายที่ผมนั่งอยู่ทุกวันนี้ มันก็สวยงามมากพออยู่แล้ว โดยเฉพาะยามค่ำคืน" ทำให้แม๊คได้คิดอะไรขึ้นมา

ใช่ๆแล้ว ทุกๆคืนแม๊คจะมองบนท้องฟ้าและเขาจะเห็นประกายอะไรบางอย่าง มันสวยงามขึ้นทุกคืนและเขาก็รายงานฮูเปอร์มาโดยตลอด

ผมรักทุกอย่างในหนังเรื่องนี้ดูเป็นสิบๆรอบแล้ว ภาพ / การแสดง / บทสนทนา / ความหมาย / และที่ชอบที่สุดคือดนตรีประกอบ ที่ทั้งหมดประพันธ์โดย มาร์ค นอฟเลอร์ Mark Knopfler แห่งวงร๊อค Dire Straits ที่แต่งเพลงประกอบได้ความหมายสุดๆ โดยเฉพาะธีมที่ใช้เครื่องสายแบบไอริช และบทสรุปของหนังเรื่องนี้ในเพลงบรรเลงชื่อ Going Home

ฟิลลิกซ์ ฮูเปอร์เดินทางมาถึงหมู่บ้านเล็กๆนี้หลังจากแม๊ครายงานถึงประกายและกลุ่มดาวที่เขาเห็น ฮูเปอร์กับเฒ่าเบนนั่งคุยกันที่ในบ้านเฒ่าเบนทั้งวัน - ก่อนที่หนังจะจบลงจากการตัดสินใจที่ดีที่สุดเท่าที่คนๆหนึ่งจะใช้อำนาจเงินเขาตัดสินใจอะไรบางอย่างได้

หนังปิดฉากพร้อมกับเพลงนี้ที่เอามาฝาก เพลง Going Home เป็นเพลงที่ผมชอบมากที่สุดเพลงหนึ่ง หนังใช้ชื่อเพลงในหลายความหมาย ตอนต้นเรื่อง ฮูเปอร์ (ซึ่งเข้าใจว่าแม๊คเป็นสก๊อต) บอกแม๊คว่า "น่าดีใจนะ ที่ได้กลับบ้าน" เขาทำสีหน้าแปลกๆ(เพราะไม่ใช่บ้านเขา) - ท้ายเรื่องเมื่อชาวบ้านมารุมส่งแม๊คมีคนหนึ่งบอกว่า"จะกลับบ้านแล้วหรือ" แม๊คก็ทำสีหน้าแบบเดียวกัน - จนเมื่อเขากลับมาถึงคอนโดหรูหราเพลงนี้ก็ดังขึ้น ในขณะที่แม๊คยืนมองออกไปหน้าต่างอย่างเหม่อๆ

ผมก็พอเข้าใจเลยล่ะว่า"บ้าน"ในใจของแม๊คจริงๆในตอนหนังจบ มันควรจะเป็นที่ไหน............

Get this widget | Track details | eSnips Social DNA




 

Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2551 23:21:48 น.
Counter : 1131 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

mr.cozy
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Is everybody in? Is everybody in?
The ceremony is about to begin
Friends' blogs
[Add mr.cozy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.