2551 ข้าว ชาวนา ควาย
2551 ข้าว ชาวนา ควาย คันเจ้าได้ขี่ซ่าง ทั้งฮ่มเป็นพระยา
อย่าสิลืมชาวนา ผู้ขี่ควาย คอนกล้า
บทกวีสั้นๆ ทำนองอีสานพื้นบ้านบนผืนผ้าคลุมไหล่ของข้าพเจ้า
คลี่ออกหลังจากที่เคยถูกเก็บไว้มานานแล้ว
ทำให้นึกถึงวันเก่าๆ ที่เคยได้รับผ้าผืนนี้
ดูเหมือนจะเป็นเครื่องเตือนสติว่า อย่าลืมตีน ฉันนั้น
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความหมายที่แฝงอยู่คือการสำนึกในบุญคุณของ ข้าว-ชาวนา-ควาย
ต่อให้ยาจกเดินดิน หรือเจ้าพระยาขี่ช้าง ก็ต้องกิน และเติบโตด้วยข้าว จากแรงวัวควายและชาวนาเฉกกัน
วาทกรรมบทเก่า ตาสี ตาสา ยายมี ยายมา ตัวแทนชาวนาไทยแต่ครั้งโบราณกาล วนเวียนเข้ามาในห้วงคำนึง
กระดูกสันหลังของชาติ ผู้แบกผู้บริโภคข้าวทั้งประเทศ ไถ แปร ถอน แบก คอน หว่าน ดำ เก็บ เกี่ยว หมุนเวียนตามวงจรข้าวที่ถูกผูกไว้กับสภาพดิน น้ำ ฟ้า อากาศ ธรรมชาติและความเชื่อเทพยดามาทรงโปรด ปีไหนทรงพิโรธ โกรธเคือง นาแล้ง น้ำหลากชาวนาน้ำตาไหลเป็นสายเลือด ตรงกันข้ามปีไหนทรงยินดีปรีดา ฟ้าประทานชาวนายิ้มย่องหน้าผ่องใส มองเห็นรวงทอง คุ้มแรงกาย แรงใจและหยาดหยดเหงื่อ
ข้าว ชาวนา ควาย ชีวิตธรรมดา เรียบง่ายบนท้องทุ่งชนบท มีคุณค่าและความหมายในความสุขของการดำรงวิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมทว่าวาทกรรมบทใหม่ชาวนาถูกลดทอนให้เหลือเป็นเพียงทุนแรงงานทางเศรษฐกิจ(Labor Capital) ที่เป็นส่วนหนึ่งของการชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Development Indicator) ของประเทศ ชีวิตถูกนำไปผูกไว้กับตัวเลข GDP (Gross Domestic Product) ,การผันแปรและการกำหนดราคาโดยอุปสงค์และอุปทาน(Price Determination by Demand and Supply) ของตลาดข้าวทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
ชาวนาถูกเปลี่ยนเป็นแรงงานติดที่ดิน ,ควายถูกแทนที่ด้วยการพัฒนาเป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีการเกษตร(ควายเหล็ก),ส่วนควายจริงกลายสิ่งมีชีวิตที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ,วงจรข้าวแปลงไปเป็นกระบวนการที่สามารถลดระยะเวลา,แปลงพันธุกรรมข้าวได้... เป็นต้น อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่ายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจของเทพยดาได้เพียงประการเดียวเท่านั้นนี้คือวิถีชีวิตที่เรียบง่ายถูกรื้อถอน เปลี่ยนแปลง ตัดตอน ลดทอนหรืออื่นๆให้เหลือเป็นเพียงทุน(Cost) ที่แปลงจิตวิญญาณแห่งชาวนา เป็นเพียงสินค้าที่ซื้อขายได้ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและนายทุนคอยฉกฉวยซื้อขายและมอมเมา ล่อโอกาส กันอย่างสนุกสนาน
ปัจจุบันราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน สำนักข่าวทั่วโลกรายงานข่าวถึงกราฟแสดงแนวโน้มราคาข้าวของตลาดโลกไต่ระดับและเป็นแนวตั้งชันสูงขึ้นเรื่อยๆ เกือบทุกๆวันอันเนื่องมาจากความต้องการในการบริโภคข้าวที่สูงขึ้นและการกักตุนข้าวของประเทศต่างๆที่จะไม่ยอมขายหากไม่ได้ราคาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับราคาน้ำมัน,ทองคำ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่แน่ใจว่านี่คือภาพเงามายาที่สะท้อนด้านมืดหรือฝันดีที่เป็นจริงของชาวนาไทย
ตาสี ตาสา ยายมี ยายมา ในวาทกรรมบทเก่าของโลกยุคใหม่ดูเหมือนจะดีใจเหมือนปลากระดี๋ได้น้ำที่แทบชีวิตนี้ตั้งแต่รุ่นปู่ยาตายาย ไม่เคยพบไม่เคยเจอกับราคาข้าวที่สูงและสูงขึ้นเรื่อยๆแบบนี้ จนเกิดปัญหาถึงขั้นขโมยข้าวกันเลยทีเดียว นี่คือวิกฤต (Crisis) หรือโอกาส (Opportunity) ของชาวนาไทยในยุคใหม่
ชาวนาไทยได้ประโยชน์จากสภาวะราคาข้าวสูงขึ้นในครั้งนี้จริงหรือ? ดูจะเป็นประเด็นทางสังคมที่ต้องการคำตอบอยู่ในขณะนี้ ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเก่า(รวย-มีรายได้เพิ่มขึ้น) หรือยังยากจน เหน็ดเหนื่อยลำบากยากเข็ญเช่นเดิมเพียงเพราะมือที่มองไม่เห็น (visible hand) ของนายทุนใหญ่, บรรษัทข้ามชาติ (MNC-Multi national Cooperation) ประการหลังดูเหมือนจะเป็นภาพความจริงที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามนี่คือวงเวียนของทุนนิยม(Capitalism Cycle) เรื่องธรรมดาของทฤษฎีการสะสมและการหมุนเวียนของทุนที่ไม่มีวันสิ้นสุด พัฒนาการขั้นสุดท้ายที่สังคมแบบประชาธิปไตยในปัจจุบันวนเวียนอยู่และก้าวไปถึงระบบทุนนิยม รัฐบาลประชาธิปไตย ในบทบาทผู้กระจายความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ จะสามารถนำพาชาวนาไทยไขว่คว้าโอกาสบนเวทีของผลประโยชน์ในครั้งนี้ได้หรือใหม่? หรือเป็นเพียงความหวังลมลมแล้งแล้งของชาวนาไทยเฉกเช่นเดียวกับข้าวคอยฝนดังเดิม
คำนิยามศัพท์(Terminology)
ซ่าง (คำนาม,อีสาน) = ช้าง
ฮ่ม(คำกริยา,อีสาน) = การนำเอาผ้ามาคลุม หรือพันตามร่างกายเช่น ฮ่มไหล่ คือการคลุมผ้าบริเวณไหล่
คอน(คำกริยา) = การแบก, หาม
ตีน(คำนาม,คำโบราณ) = อวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่ติดดินที่สุด คำสุภาพเรียกว่า เท้า
ตาสี ตาสา ยายมี ยายมา(คำนาม)=ชาวนาไทยในยุคดั้งเดิม ปัจจุบันอาจเป็น นายแบงค์ นายมาร์ค น้องกิ๊บ น้องเชอรี่
ควายเหล็ก(คำนาม) =ควายที่ถูกพัฒนาพันธุกรรมด้วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นเหล็ก หรือโลหะอื่น (Transformer) สามารถใช้ในการทำงานได้มากกว่าการไถนา
ปลากระดี๋ได้น้ำ (คำกริยา) = อาการแสดงความดีใจแบบสุดๆ เต็มที่ เป็นอาการเช่นเดียวกันกับ ได้ทองเท่าหนวดกุ้งสะดุ้งจนเรือนไหว
ผู้เรียบเรียง
กลินท์ นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ (การปกครอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
,แรงบันดาลใจจากบทกวีบนผ้าคลุมไหล่และสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลก
6/04/2551.12.28 นาที
Create Date : 20 มิถุนายน 2552 | | |
Last Update : 20 มิถุนายน 2552 12:54:13 น. |
Counter : 326 Pageviews. |
| |
|
|
|