All Blog
วิธีการเพิ่มเวลาให้ชีวิต
สวัสดีค่ะ ผู้เขียนตอนนี้ก็กลับมาอยู่เมืองไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ยังปรับตัวอยู่กับหลายๆเรื่องค่ะ หนึ่งในนั้นก็คือการเดินทางไปกลับที่ทำงาน ก็เลยนั่งคำนวณเล่นๆว่า เวลาในการเดินทางแต่ละวันนี่ จริงๆเราเอาไปทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนค่ะ การประหยัดเวลานี้ ไม่จำเป็นต้องประหยัดจากการเดินทางอย่างเดียว คงไม่ใช่ทุกคนที่จะย้ายงานมาใกล้บ้าน หรือย้ายบ้านมาใกล้ที่ทำงานได้ แต่เราก็ประหยัดเวลาด้วยวิธีอื่นได้ค่ะ เช่น อาจจะทำงานให้เสร็จเร็วขึ้น ให้มีประสิทธิภาพขึ้น (ดูเพิ่มเติมเรื่องการจัดเวลาได้ที่ อ่านหนังสืออย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และ จัดเวลาอย่างไรไม่ให้เครียด (ภาค ๑ และ ๒) ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่เฉพาะนักเรียนปริญญาโทและเอกค่ะ) หรือเลิกกิจกรรมบางอย่างที่อาจจะไม่จำเป็นนัก เพื่อเอาเวลามาทำในสิ่งที่สำคัญกว่าค่ะ

สมมุติว่าในหนึ่งวันคุณสามารถประหยัดเวลาได้ ๑ ชั่วโมงนะคะ

โดยเฉลี่ยเรามีวันทำงาน ๒๐ วันต่อเดือน x ๑๒ เดือน ต่อปี

ดังนั้น เราจะประหยัดเวลาได้ = ๑ x ๒๐ x ๑๒ = ๒๔๐ ชั่วโมง ต่อปี

คิดเป็นเวลาทำงาน ๘ ชั่วโมง ต่อวัน

คิดเป็นวันทำงาน ๒๔๐ / ๘ ชั่วโมงต่อวัน = ๓๐ วันทำงาน

คิดเป็นเดือนทำงาน ๓๐ / ๒๐วันทำงานต่อเดือน = ๑.๕ เดือนทำงาน

แค่คุณสามารถประหยัดเวลาได้วันละหนึ่งชั่วโมง คุณก็จะมีเวลาทำงานเพิ่มถึง ๑.๕ เดือนทำงานทีเดียวค่ะ สำหรับนักเรียนปริญญาโทหรือเอก ก็จะสามารถทำงานวิจัยได้มากขึ้น หรือเสร็จได้เร็วขึ้นถึงเดือนครึ่งต่อปี หรือคนที่ทำงานแล้ว ก็จะได้ผลงานมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เวลาที่ได้มาเพิ่ม ก็แล้วแต่ว่าคุณจะนำไปทำอะไรค่ะ อาจจะทำงานให้ได้เท่าเดิมในหนึ่งปี แต่เสร็จเร็วขึ้น ก็ได้นำเวลาที่ประหยัดมาได้นี้มาอยู่กับลูกกับครอบครัวมากขึ้น หรือนำมาดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีขึ้นค่ะ ยิ่งถ้าแต่ละวันเราประหยัดเวลาได้มากกว่าหนึ่งชั่วโมง เวลาที่เราเก็บมานี่ก็ยิ่งทวีคูณค่ะ

ก็เป็นการนั่งคำนวณเล่นๆของผู้เขียนค่ะ ใครต้องการแบ่งปันเทคนิคการประหยัดเวลาหรือมีความคิดเห็นเพิ่มเติม ก็ขอเรียนเชิญค่ะ



Create Date : 24 เมษายน 2552
Last Update : 24 เมษายน 2552 19:53:56 น.
Counter : 1905 Pageviews.

7 comment
อ่านหนังสืออย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
การอ่านหนังสือนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงกันไม่ได้เลยนะคะ ตั้งแต่เด็กจนจบปริญญาตรี ต่างคนก็ต้องเคยชินกับการท่องตำราอ่านหนังสือสอบกันมาทั้งนั้น หรือบางคนเรียนปริญญาโทหรือเอก ก็ต้องมาอ่านบทความวิชาการ (journal papers) และตำราต่างประเทศอีก สำหรับคนที่ทำงานแล้ว ก็ต้องเรียนรู้งาน อ่านตำราใหม่ๆ และรับข้อมูลใหม่ๆตลอดเวลา ดูเหมือนว่าเราจะหนีการอ่านไปไม่ได้เลยค่ะ เคยเป็นไหมคะที่รู้สึกว่าอยากให้มีเวลาเยอะกว่านี้ เพื่อจะได้อ่านหนังสือสอบให้ทัน จะได้อ่านเปเปอร์ให้ได้เยอะๆ สำหรับด้านวิชาการอย่างนี้ถึงแม้จะเป็นสาขาที่เราถนัดและเลือกเรียนมา แต่บางทีก็ยากที่จะบังคับใจตัวเองให้อ่านได้ เพราะกิจกรรมอย่างอื่นอาจจะสนุกกว่า จริงไหมคะ ส่วนคนที่ชอบอ่านหนังสือทั้งนิยายและเรื่อง non-fiction หรืออยากอ่านข่าวติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ก็รู้สึกว่าอยากอ่านให้ได้เยอะๆ สำหรับอันนี้ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่การไม่อยากอ่าน แต่เป็นเพราะหาเวลาได้ไม่พอมากกว่า

ผู้เขียนเองก็มีปัญหามาแล้วทั้งสองแบบ ทั้งหนังสือที่ไม่อยากอ่านแต่ก็ต้องอ่านสอบ และหนังสือที่อยากอ่านแต่หาเวลาอ่านไม่ได้สักที จึงรวบรวมเทคนิคการอ่านหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพที่คิดว่าพอจะแก้ปัญหาเหล่านี้ไปได้บ้างมานำเสนอ โดยแยกเป็นประเภทหนังสือ ดังนี้ค่ะ

หนังสือวิชาการ


๑. สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างแรกที่ต้องมีคือ การหัดให้ตัวเองมีวินัย (discipline) ให้ได้ค่ะ คือ ถ้าเราวางแผนว่าจะอ่านหนังสือให้ได้เท่านี้สำหรับวันนี้ เราก็ต้องทำให้ได้ วิธีฝึกเริ่มแรกให้กำหนดง่ายๆก่อนว่าวันนี้เราจะอ่านตำราแค่ ๑ บท หรือ ๑๐ หน้า เป็นต้น แค่นี้พอค่ะ เอาแค่นี้ให้ได้ ถ้าอ่านจบเร็วก็ไปเล่น ไปทำอย่างอื่นต่อเลยค่ะ ฝึกเอาไว้ว่าเราต้องเคารพกฎของตัวเอง ทีนี้พอได้แล้ว วันต่อๆไปก็ค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้นตามสมควร แล้วก็ต้องอ่านให้ได้ตามเป้าค่ะ เมื่อเราทำงานได้ตามเป้าแล้วในแต่ละครั้ง ก็อย่าลืมให้รางวัลตัวเองด้วยทุกครั้งค่ะ อันนี้แม้จะดูไม่สำคัญ แต่มันจะเป็นแรงผลักดันที่ดี และก่อให้เกิดนิสัยว่าเราต้องทำงานก่อนจึงจะเล่นได้ ต้องรับผิดชอบในงานตัวเองก่อน ประมาณนั้นค่ะ โดยรางวัลก็อาจจะเป็นอะไรง่ายๆ เช่น ได้ดูละครหนึ่งเรื่องตอนกลางคืน ได้ทานขนมเจ้าประจำ อะไรเป็นต้นค่ะ

๒. เมื่อเรามีวินัย และเคารพการวางแผนของตัวเองแล้ว ต่อไปก็ต้องวางแผนการอ่านหนังสือค่ะ การวางแผนที่ดีนั้นสำคัญมาก เพราะทำให้เราเดินไปถูกทิศทาง การวางแผนไม่ถือเป็นการเสียเวลา แต่เป็นการประหยัดเวลาในระยะยาว เพราะไม่ต้องไปเสียเวลาเดินผิดทางค่ะ การวางแผนการอ่านก็อาจจะกำหนดว่าวันนี้ต้องอ่านบทนี้ บทนั้น วันต่อไปอ่านให้ได้เท่าไร ถ้าวันเสาร์อาทิตย์มีเวลามากเพราะไม่ต้องเดินทาง ก็อาจจะกำหนดให้อ่านได้มากขึ้น อย่างไรก็อย่าลืมกำหนดเวลาพักด้วยค่ะ (ดูเพิ่มเติมเรื่องการพัก ในข้อ ๖)

ขอยกตัวอย่างเทคนิคที่เคยใช้เวลามีสอบตอนสมัยยังเป็นนักเรียน สมมุติว่ามีตารางสอบออกมาดังนี้

วันที่หก เช้า สอบวิชา A บ่ายสอบวิชา B
วันที่เจ็ด เช้าสอบวิชา C บ่ายสอบวิชา D
วันที่แปด บ่ายสอบวิชา E

ผู้เขียนก็จะจัดตารางการอ่านหนังสือของแต่ละวิชาโดยเรียงลำดับ ดังนี้ ค่ะ

สมมุติว่ามีเวลาอ่านทบทวนสองรอบ และอ่านได้วันละสองวิชา
วันที่หนึ่ง ก็จะอ่านวิชารอบแรก คือ E และ D วันที่สองอ่านวิชา C และ B วันที่สาม อ่านวิชา รอบแรก คือ A และรอบสองคือ วิชา E วันที่สี่ อ่านรอบที่สองของวิชา D และ C และวันที่ห้าก็อ่านรอบที่สอง คือ B กับ A เพราะวันที่หกจะสอบสองวิชานี้แล้ว พอสอบเสร็จก็จะมีเวลาอ่านทบทวนวิชา D กับ C ที่จะสอบในวันที่เจ็ด ส่วนพอสอบวันที่เจ็ดเสร็จก็จะได้ทบทวนวิชาสุดท้ายของวันถัดไป คือ วิชา E ค่ะ
สรุปง่ายๆก็คือ ผู้เขียนจะจัดตารางให้อ่านหนังสือย้อนลำดับกับตารางสอบ เพื่อวิชาแรกที่ต้องสอบเราจะได้อ่านเสร็จรอบสองหมาดๆก่อนวันสอบเลยค่ะ

๓. ที่สำคัญอีกอย่างในการวางแผนคือ อย่าคิดว่าตัวเองเป็น superman คือ สามารถอ่านหนังสือได้เยอะเกินกำลังภายในเวลาอันสั้น อย่าวางตารางการอ่านให้แน่นเกินไป เพราะนอกจากจะทำไม่ได้ตามแผนอยู่แล้ว ยังทำให้ตัวเองเครียดเพราะแผนนั้นโดยไม่จำเป็นด้วยค่ะ แรกๆอาจจะกะความสามารถตัวเองยากหน่อย หรือการอ่านตำราภาษาอังกฤษกับภาษาไทยก็ใช้ระยะเวลาการอ่านไม่เท่ากัน ก็ใช้เก็บสถิติจากการอ่านในรอบแรกๆค่ะ เช่น การอ่านภาษาอังกฤษหนึ่งหน้า เราใช้เวลา ๑๐ นาที เราก็จะประมาณถูกว่าต้องใช้เวลาเท่าไร จึงจะอ่านจบบทหรือจบวิชา เป็นต้นค่ะ

๔. หาที่อ่านที่สงบเงียบ และนั่งสบาย ส่วนบรรยากาศก็แล้วแต่คนชอบ บางคนชอบอ่านที่บ้าน ในห้องสมุด ในสวนมีต้นไม้เขียวๆ หรือในร้านกาแฟ เป็นต้นค่ะ หรือบางทีเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆค่ะ ตัวผู้เขียนเองชอบให้เป็นที่เงียบจริงๆ ไม่อยู่ใกล้ทีวี หรือสิ่งต่างๆที่ทำให้เราเสียสมาธิ เพราะทำให้เราเสียเวลาในการอ่าน และทำให้จำได้ไม่ดีด้วย แต่ก็ทราบมาว่าบางคนจะชอบให้มีเสียงเพลงหรือเสียงอื่นๆเวลาอ่านหนังสือด้วย อันนี้ก็แล้วแต่ความชอบนะคะ แต่ไม่ควรทำให้เสียสมาธิค่ะ หรือถ้ากลัวง่วง ก็อาจจะฟังเพลงเฉพาะเพลงที่มีแต่ทำนอง ไม่มีเนื้อร้องค่ะ บางคนเมื่ออยู่บ้าน ก็อยากจะมานั่งรวมกับคนที่บ้าน แต่ถ้าเขากำลังดูทีวีกันอยู่ แล้วเราเอาตำราไปอ่านใกล้ๆ ก็คงไม่มีสมาธิ ก็จะเสียเวลาเปล่า สู้ไปนั่งดูทีวีกับเค้าไปเลย แล้วค่อยมาอ่านหนังสือแบบอยู่คนเดียวก็อาจจะเร็วและจำได้ดีกว่าค่ะ

๕. เวลาอ่านหนังสือ เราควรกำหนดว่าเวลานี้เราจะตั้งใจ และไม่ปล่อยให้อะไรมาขัดโดยไม่จำเป็น เช่นอาจจะปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ ถ้าใครโทรมาเราก็ค่อยมาดูแล้วโทรกลับในช่วงพักค่ะ หรือถ้าอยู่ที่บ้าน ก็บอกคนที่บ้านว่าเราจะขอท่องหนังสือจนถึงเที่ยงแล้วจะลงมาทานข้าว หรือถ้าอ่านในคอมพิวเตอร์ เราก็อาจจะปิดหรือทำเครื่องหมาย busy ใน MSN เป็นต้น คนอื่นก็จะไม่มารบกวนโดยไม่จำเป็นค่ะ การได้ทำงานหรืออ่านหนังสือเป็นช่วงเวลาติดต่อกันอย่างนี้ มีประสิทธิภาพกว่าการอ่านที่ถูกหยุดด้วยสิ่งต่างๆค่ะ

๖. เมื่ออ่านหนังสือไปนานๆ เราก็จะเริ่มล้า ทั้งสมองที่ต้องคิด ทั้งร่างกายที่ไม่ได้ขยับ ทั้งสายตาที่ต้องจ้องอยู่นาน เราก็ควรกำหนดเวลาพักค่ะ อันนี้ก็แล้วแต่คนชอบ ผู้เขียนเองส่วนใหญ่จะพักอ่านหนังสือทุกๆชั่วโมงหรือสองชั่วโมง โดยออกไปเดินยืดเส้นยืดสาย ดื่มน้ำ ทานขนม หรือไปมองต้นไม้เขียวๆ เป็นต้นค่ะ เวลาพักก็ต้องกำหนดด้วยค่ะ ว่า ๕ นาที หรือ ๑๕ นาที เป็นต้นค่ะ

๗. ของประจำเวลาอ่านหนังสือของผู้เขียน คือ น้ำดื่มค่ะ อันนี้ไม่ทราบคนอื่นเป็นหรือไม่ แต่ตัวผู้เขียนเอง ถ้าลืมดื่มน้ำก็จะเกิดอาการปวดหัวได้ค่ะ สำหรับคนอื่นหากติดของขบเคี้ยวก็ควรมีไว้ให้พร้อม จะได้ไม่ต้องเดินไปหยิบค่ะ

๘. ผู้เขียนเองเวลาอ่านหนังสือจะชอบขีดเส้นหรือเน้นข้อความที่สำคัญ โดยไม่หวงหนังสือว่าจะไม่ดูใหม่ หรือดูเลอะเทอะเลย เพราะชอบเวลากลับมาอ่านทวนเราก็จะรู้ว่าจุดไหนเป็นข้อมูลสำคัญค่ะ เรายังสามารถใช้ทบทวนก่อนสอบได้ด้วย สำหรับคนที่ชอบหนังสือใหม่ๆเกลี้ยงๆ ก็อาจจะต้องหาสมุดกับปากกามาจดสิ่งที่สำคัญจากหนังสือนั้นๆ เพื่อการอ่านทบทวนได้ค่ะ

๙. พยายามจัดเวลาอ่านหนังสือในช่วงเวลาที่เราตื่นตัวที่สุด อันนี้แตกต่างกันไปค่ะ บางคนจะจำได้ดีถ้าอ่านตอนเช้า บางคนเป็นตอนเย็น ก็ต้องสังเกตุตัวเองดู ถ้าทราบแล้วอาจจะกำหนดเป็นเวลาประจำทุกวัน เช่น ทุกวันเวลาสองทุ่มถึงห้าทุ่ม เราต้องอ่านตำราทบทวนที่เรียนมา เป็นต้นค่ะ

หนังสือทั่วไป เช่น หนังสือนิยาย หนังสือพัฒนาตัวเอง ข่าวสารต่างๆ เป็นต้น

๑. ถ้าเป็นหนังสือต่างประเทศ ผู้เขียนจะใช้วิธีอ่านเรื่องย่อที่หาได้ทาง internet ค่ะ เพราะมีเรื่องที่อยากอ่านเยอะมาก แต่ดูแล้วคงไม่ได้อ่านครบแน่ๆ ไม่แน่ใจว่าสำหรับหนังสือไทยจะหาเรื่องย่อหรือบทสรุปได้หรือไม่ค่ะ

๒. ติดหนังสือเล่มที่ชอบไว้ในรถหรือพกติดตัวไปด้วย เผื่อเวลาเราไปนัดแล้วต้องรออีกฝ่าย หรือเวลารอที่ร้านหมอหรือโรงพยาบาล เราก็เอาเล่มโปรดขึ้นมาอ่านได้ค่ะ

๓. ถ้้าเราต้องการให้ตัวเองได้อ่านบ่อยๆ ก็อาจจะกำหนดเวลาเช่น ทุกวันเสาร์เย็น เราจะใช้เวลาอ่านหนังสือเหล่านี้ เป็นต้นค่ะ การกำหนดเวลาไว้ก็ช่วยให้เราทำได้เป็นประจำด้วยค่ะ

เท่าที่นำเสนอมานี้ ก็เป็นเทคนิคที่ผู้เขียนเองเคยใช้ค่ะ หากผู้อ่านท่านใดมีวิธีที่น่าสนใจอื่นๆ ขอเชิญฝากมาแบ่งปันกันได้นะคะ



Create Date : 19 เมษายน 2552
Last Update : 19 เมษายน 2552 18:56:43 น.
Counter : 1873 Pageviews.

14 comment
จำเป็นมั้ยต้องจบตรีด้านนี้เพื่อมาต่อโทวิศวสิ่งแวดล้อม
หัวข้อนี้เป็นคำถามที่ได้มาค่ะ เห็นว่าคำตอบที่ตอบไปน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย จึงนำมาเขียนเป็นบลอกใหม่นี้ค่ะ

คำถาม: (1) จำเป็นมั้ยคะที่จะต้องจบด้านสิ่งแวดล้อมมาตอนปริญญาตรี
(2) Scopeงานของวิศวกรสิ่งแวดล้อมนี่มีอะไรบ้างเหรอคะ เห็นบางมหาวิทยาลัย จับเอาไปรวมกับสถาปัตย์หน่ะคะ สนใจอยากทำด้าน consult แต่ก็กังวลเรื่องประสบการณ์ (ที่ไม่มีเลยในด้านนี้)

1. ขอตอบในสองด้านนะคะ คือด้าน requirement ของมหาวิทยาลัย กับในด้านพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นกับการเรียนต่อ

ด้าน แรก ก็ต้องตรวจสอบกับทางมหาวิทยาลัยที่เราจะสมัครมาเรียนค่ะ โดยส่วนมากแล้ว เค้าจะเขียนไว้ชัดเจนในคุณสมบัติของผู้สมัครค่ะ เท่าที่เห็นมา ก็มีคนที่จบปริญญาตรีจากหลากหลายสาขา เช่น chemical engineering, civil (structure) engineering, biology, environmental science เป็นต้นค่ะ ก็มาเรียนกันนะคะ ถ้าทางมหาวิทยาลัยที่คุณจะสมัคร เค้าไม่ได้เขียนไว้ชัดเจน ก็email หรือ ติดต่อไปถามเค้าได้ค่ะ เพื่อความแน่ใจ

ด้านที่สอง คือ ความรู้พื้นฐานที่กังวลว่าจะเพียงพอหรือไม่ สำหรับการเรียนต่อ อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราเรียนต่อโทด้านไหนค่ะ คือในสิ่งแวดล้อมเอง ก็มีหลายสาขาย่อยลงไป ทั้งน้ำ อากาศ ดิน เสียง เป็นต้น บางสาขาย่อยต้องการความรู้ด้าน microbiology เยอะ เช่นทำด้านการบำบัดน้ำ น้ำเสีย หรือ ดินด้วยแบคทีเรีย หรือ chemistry ในด้านการในเคมีบำบัดน้ำ อากาศ ดิน หรือ ด้าน math ในการทำงานด้าน computer modeling เพื่อทำนายการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน หรือ ช่วยในการจัดการแหล่งน้ำ (water resources management) หรือด้านเครื่องกล เพีือพัฒนาเครื่องมือทันสมัยในการตรวจสอบควบคุมการปล่อยมลพิษ เป็นต้นค่ะ

เดี๋ยวนี้งานที่เกี่ยวข้องกับหลายๆสาขาวิชา (interdisciplinary research) เป็นที่แพร่หลายมากค่ะ ไม่ต้องกังวลเรื่องการเปลี่ยนสาขาที่เรียนเลย การที่เรามีพื้นฐานด้านอื่นมา แล้วมาเรียนรู้เพิ่มเติมในอีกสาขานั้น ขอให้มองว่าเป็นที่ได้เปรียบจากคนอื่นค่ะ เพราะเราสามารถเอาความรู้ที่มีมาก่อน มาประยุกต์รวมกับความรู้ใหม่ เกิดเป็น idea หรือ application ใหม่ ได้ค่ะ (อย่าคิดว่าเราไม่เ่ก่งขนาดนั้นนะคะ ยังไงเราก็มีอาจารย์ที่ให้คำปรึกษาได้) สมัยนี้เราแข่งกันที่ idea ใหม่ๆค่ะ จะเห็นได้ว่า lab วิจัยที่นี่ มีการ collaboration ร่วมมือกับภาควิชาหรือ คณะอื่นๆมากมาย เพื่อความรู้จากหลากหลายสาขา มาทำให้เกิดงานใหม่ๆขึ้นค่ะ ขอเน้นว่าการเรียนโทหรือเอกนั้น ไม่เหมือนกับการเรียนป.ตรีที่แต่ละวิชาก็มี scope ของมัน มีคำตอบถูกผิดชัดเจน แต่การเรียนนะดับสูงอย่างโทหรือเอก เป็นการค้นหาคำตอบที่คนอื่นยังไม่รู้ค่ะ โ่ดยมีคนที่ชำนาญมากกว่าเรา คืออาจารย์ เป็นคนคอยแนะนำค่ะ

2. เรื่อง scope ของงานด้าน environmental engineering จริงๆตอบยากค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้ความรู้มีการกระจายไปเกี่ยวข้องกับหลายสาขาวิชามากขึ้น บางมหาวิทยาลัยนำไปรวมกับ architecture หรือ chemical engineering หรือ อื่นๆค่ะ ที่เห็นส่วนมากคือ รวมอยู่กับ civil engineering เพราะต้นกำเนิดของ environmental engineering คือการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียของเมือง และโรงทำน้ำประปา ซึ่งทั้งสองอย่างถือเป็น infrastructure ที่ต้องมีในแต่ละเมือง ดังนั้น วิศวกรโยธาจึงจำเป็นต้องเรียนรู้การออกแบบระบบเหล่านี้ค่ะ แต่อย่างที่กล่าวข้างต้น ว่าตอนนี้งานด้านสิ่งแวดล้อมขยายตัวไปหลายๆด้าน เพราะฉะนั้นให้ดูที่เนื้อหางานที่เราสนใจ ไม่จำเป็นว่าอยู่คณะหรือสาขาไหนค่ะ

ทีนี่การเรียนป.โท มีสองแบบ คือ (1) แบบทำงานวิจัยด้วย เป็นการทำ Master's thesis หรือ เลือกทำโครงงานสั้นๆ หนึ่งเทอม โดยขึ้นอยู่กับสาขาที่เรียน ว่าต้องทำในห้องแลบ หรือทำเป็น computer modeling เป็นต้น กับ (2) แบบเลือกลงวิชาเรียนอย่างเีดียว แต่การเรียนระดับโทนั้น การบ้าน การสอบ และโครงงานของแต่ละวิชาก็จะเป็นระดับลึกลงไป ที่ต้องค้นคว้าข้อมูลเอง โดยอาจจะไม่มีคำตอบที่ถูกต้องชัดเจนเหมือนอย่างป.ตรีค่ะ

ถ้าคุณจะไปทำ consult ก็ขึ้นกับว่าจะไปทำที่ไหนค่ะ ถ้าจะกลับไปทำงานที่เมืองไทย ขอแนะนำว่าให้เลือกเรียนป.โทที่มีเรียนเยอะๆ อาจจะไม่ต้องทำ thesis ก็ได้ เพราะเราต้องการความรู้ด้านกว้าง รู้หลายๆอย่าง รู้จักปัญหาหลายๆกรณี ควรไปลงเรียนวิชาที่อาจารย์เอา case studies มาให้ดูเยอะๆ หรือไปดูงานเป็น field trip เยอะๆ เพราะการทำงานบริษัทที่ปรึกษา เราจะเจอปัญหาหลายๆแบบของลูกค้า บางมหาวิทยาลัยที่อเมริกา เค้าจะมีกิจกรรมเช่น shadow the engineer (เช่นที่ UIUC) ที่เค้าจะให้สมัครไป แล้วไปใช้ชีวิตหนึ่งวัน ติดตามวิศวกรที่ทำงานในหน่วยงานต่างๆ เช่นในบริษัืทที่ปรึกษา เราก็จะได้รู้ว่า การทำงานจริงๆ มันเป็นอย่างไรค่ะ หรือ สมัครขอมี mentor ทาง email คือคนที่เราเขียนไปคุยกับเค้าได้ว่างานเค้าเป็นอย่างไร เป็นต้น (แนะนำ //www.mentornet.net) แต่ทางมหาวิทยาลัยนั้นๆต้องเป็นสมาชิกอยู่ -- รายละเอียดถามเพิ่มเติมได้ค่ะ)

ถ้าคุณจะทำงานบริษัทที่ปรึกษา ด้านสิ่งแวดล้อมที่อเมริกา งานก็จะมีทั้งด้านวิจัยด้วย ในบางบริษัืท ซึ่งเค้าก็จะรับทั้งคนที่จบโทหรือเอก ถ้าสนใจด้านนี้ก็ควรเลือกเรียนโทที่มีการทำ Master's thesis ค่ะ แต่ก็มีบริษัืทส่วนมาก ที่ต้องใช้ความรู้กว้างๆ ก็ให้เลือกเรียนแบบลงเรียนวิชาเยอะๆ อย่างที่เขียนไว้ข้างต้นค่ะ

ผู้เขียนหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ ได้บ้างนะคะ หากยังมีข้อสงสัยที่ตอบไปไม่ตรง หรือ ไม่ชัดเจน หรือมีคำถามเพิ่มเติม สามารถเขียนถามมาได้ค่ะ



Create Date : 10 ธันวาคม 2551
Last Update : 10 ธันวาคม 2551 3:23:21 น.
Counter : 921 Pageviews.

0 comment
วิธีเขียน email ติดต่อขอความช่วยเหลือเรื่องงานค่ะ
ผู้เขียนเคยได้แนะนำวิธีเขียนอีเมล์นัดหมายอาจารย์หลายๆคนพร้อมๆกันมาแล้วนะคะ ในหัวข้อ “เขียนemailนัดอาจารย์อย่างไรให้ได้ตอบกลับไวๆ” ในตอนนี้ขอแนะนำเพิ่มเติมการเขียนอีเมล์ในการติดต่องานเพื่อขอความช่วยเหลือค่ะ ซึ่งในชีวิตการเรียนปริญญาโทเอก ก็อาจจะต้องมีการติดต่อแบบนี้ เพื่องานวิจัยค่ะ โดยเฉพาะเช่น เมื่อเราต้องไปเก็บตัวอย่างน้ำ อากาศ หรือ specimen ต่างๆ เป็นต้นค่ะ สำหรับคนทำงาน ก็ต้องมีโอกาสที่ต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ในหน่วยงานอื่น อยู่บ่อยๆค่ะ ดังนั้น จะขอยกตัวอย่างว่าเราต้องเขียนอีเมล์ติดต่อคนที่เรารู้จัก เคยเจอกันในหน้าที่การงาน แต่ไม่ได้สนิทมาก แล้วต้องขอความช่วยเหลือจากเค้า สำหรับงานวิจัย หรือ โปรเจคที่เราทำอยู่ค่ะ

ตัวอย่างด้านล่างนี้ ผู้เขียนต้องการเก็บตัวอย่างน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงบำบัดน้ำเสียแห่งหนึ่ง เพื่อนำมาวิเคราะห์วัดความเข้มข้นของตัวแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ผู้เขียนรู้จักคนหนึ่งที่ทำงานที่โรงบำบัดน้ำเสียนั้น เพราะเคยเจอกันครั้งหนึ่ง เลยเขียนอีเมล์ไปติดต่อเค้า ในตัวอย่างข้างล่าง ผู้เขียนเปลี่ยนจากการใช้ชื่อจริงของบุคคลในอีเมล์มาเป็นชื่อสมมุติทั้งหมดค่ะ

Hello Elain,

This is Joy Sirikanchana from UC Davis. I met you during the Woodland
treatment plant tour a month ago and we exchanged the name cards. I would like to ask you if I could collect wastewater effluent from your plant. My research group, supervised by Prof. Jerry McCarty at UC Davis (he is being CC'ed here), is currently collecting wastewater effluent from many treatment plants around the Davis area. We are studying a relationship between 2 types of nonharmful bacteria, both in the order Bacteroidales, that are present in treated wastewater.

We would like to collect the 2L volume of your effluent samples
for 4-5 times on different days over a period of 1-2 months. The report
from our study will not reveal names of wastewater plants. The bacteria we study are not pathogenic to human, plants, or animals. Also, we will report the results as ratio of 2 bacteria types, and not the concentrations.

Could you please recommend me to someone who can authorize the effluent sampling from the Woodland plant? Our project is running short in time, so we would like to start the collection as soon as we can. Thank you very much.

Best Regards,
Joy

ทีนี้ลองมาดูเนื้อหาแต่ละประโยคและการจัดเรียงลำดับเนื้อหานั้นๆนะคะ

๑. เริ่มต้นอีเมล์ด้วย Hello Elain เนื่องจากผู้เขียนรู้จักบุคคลคนนี้มาแล้ว เมื่อตอนเจอกันครั้งแรกเค้าก็ดูเป็นกันเองดีมาก จึงเรียกชื่อจริงของเค้าในการขึ้นต้น โดยไม่ต้องใช้ Dear Ms. ตามด้วยนามสกุลค่ะ ข้อสังเกตุอีกอย่างคือ ที่แคลิฟอร์เนีย คนที่นี่ดูเป็นกันเองมากค่ะ แม้จะเป็นการติดต่องาน หรือธุรกิจ เค้าก็ใช้ Hello กับชื่อจริงเลย

๒. จากนั้น เราก็เริ่มด้วยการแนะนำตัว บอกเค้าว่าเราเป็นใคร เค้าจะได้ไม่ต้องอ่านไปจนจบแล้วค่อยมาเห็นชื่อลงท้ายว่าเราคือใคร จากนั้นก็บอกเค้าว่าเรารู้จักเค้าได้ยังไง เป็นการเตือนความจำเค้าค่ะ ดังที่เขียนไว้ข้างต้นว่า This is Joy Sirikanchana from UC Davis. I met you during the Woodland treatment plant tour a month ago and we exchanged the name cards.

๓. ต่อมาเราก็รีบบอกเหตุผลเลยว่า เราเขียนมาหาเค้าทำไม บอกเป็นเหตุผลสั้นๆก่อน ให้ได้ใจความ จากนั้นก็ค่อยอธิบายรายละเอียดต่อค่ะ ที่สำคัญคืออย่าไปเริ่มที่รายละเอียดก่อนแล้วค่อยมาสรุปว่าเราต้องการอะไร เพราะคนอ่านจะสับสน ยิ่งเค้าจะต้องให้ความช่วยเหลือเรา เราก็ควรเขียนให้เค้าอ่านเข้าใจง่ายๆค่ะ ดังนั้น ผู้เขียนก็เลยเขียนประโยคสรุปก่อนเลยว่า เราเขียนมาเพราะต้องการไปเก็บตัวอย่างน้ำจากเค้า I would like to ask you if I could collect wastewater effluent from your plant.

๔. ทีนี้พอเค้ารู้ว่าเราจะไปเก็บตัวอย่างน้ำ คำถามที่เค้ามีในใจปุ๊บเลยก็คือ เราจะเก็บเอาไปทำอะไร เราก็อธิบายในประโยคต่อๆมาได้เลยดังนี้ค่ะ Myresearch group, supervised by Prof. Jerry McCarty at UC Davis (he is being CC'ed here), is currently collecting wastewater effluent from many
treatment plants around the Davis area. We are studying a relationship
between 2 types of nonharmful bacteria, both in the order Bacteroidales,
that are present in treated wastewater. การอธิบายก็ไม่จำเป็นต้องบอกรายละเอียดทั้งหมด เพราะถ้าเขียนเนื้อหาด้านเทคนิคเกินไป เค้าก็จะไม่เข้าใจ เราก็เขียนสรุปง่ายๆว่า เราศึกษาแบคทีเรีย ไม่จำเป็นต้องบอกชื่อ แต่ถ้าเค้าถามทีหลังก็บอกได้ค่ะ แต่ที่สำคัญกับเค้าคือ ข้อมูลที่ว่าแบคทีเรียตัวนี้มันไม่เป็นอันตรายนะ เหตุที่มันสำคัญที่เค้าควรรู้เพราะว่า ถ้าเราไปวิเคราะห์แบคทีเรียที่เป็นอันตราย ถ้าเราตรวจเจอ ก็เท่ากับโรงบำบัดน้ำเสียนั้น ละเมิดกฎหมาย ไม่สามารถบำบัดน้ำให้ได้ผ่านมาตรฐาน เพราะน้ำที่เราจะขอเอาไปวิเคราะห์เป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว ก่อนที่จะปล่อยลงแม่น้ำค่ะ ดังนั้น ถ้าเค้าคิดว่าเค้าอาจจะต้องเสี่ยงให้เราไปตรวจแบคทีเรียก่อโรค เค้าก็คงไม่อนุญาติให้เราไปเก็บน้ำของเค้าค่ะ

๕. ข้อสังเกตุอีกข้อคือ ผู้เขียนใส่ชื่ออาจารย์ไปด้วย แล้วก็ Carbon copy อีเมล์นี้ไปที่อาจารย์ด้วย เพราะว่าเมื่อเราอ้างอิงเจ้านายเราซึ่งเป็นศาสตราจารย์ ความเชื่อถือก็เพิ่มขึ้น คนที่รับอีเมล์เราก็อาจจะเกรงใจที่จะปฎิเสธคำขอของเราค่ะ อีกอย่างคือ เป็นการยืนยันว่าเราทำงานกับคนอื่นอีก ไม่ได้เขียนขึ้นมาลอยๆ ทำให้อีเมล์มีน้ำหนักขึ้นค่ะ

๖. จากนั้นผู้เขียนก็ขึ้นย่อหน้าใหม่ เพราะข้อความที่เขียนมาด้านบนเริ่มจะเยอะ เดี๋ยวคนอ่านจะตาลายค่ะ การขึ้นย่อหน้าใหม่ก็เป็นการเน้นเนื้อหาในประโยคแรกของย่อหน้าด้วย ดังนั้นผู้เขียนจึงเอาข้อมูลที่สำคัญที่สุดมาเขียน นั่นก็คือ เราต้องการอะไรจากเค้า โดยควรบอกให้ชัดเจนค่ะ ไม่จำเป็นต้องละเอียด แต่ให้มีข้อมูลครบในสิ่งที่เค้าควรรู้ ซึ่งในที่นี้ก็คือ ปริมาณน้ำที่ผู้เขียนจะเก็บในแต่ละครั้ง ความบ่อยในการเก็บ ช่วงไหน และเก็บทั้งหมดกี่ครั้ง ที่ว่าไม่จำเป็นต้องละเอียด ก็เช่น เราก็ไม่จำเป็นต้องไปบอกเค้าว่าเราจะเก็บด้วยอะไร ขวดหรือ container แบบไหน เป็นต้น เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ได้กระทบเค้าค่ะ We would like to collect the 2L volume of your effluent samples for 4-5 times on different days over a period of 1-2 months.

๗. จากนั้น ในย่อหน้าเดียวกัน ผู้เขียนก็บอกข้อมูลเพิ่มเติมที่เค้าอาจจะกังวลอยู่ ที่อาจจะเป็นเหตุผลที่เค้าอาจจะไม่อนุญาติค่ะ แต่เราก็ไม่ได้ให้ข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อจะให้เค้าอนุญาตินะคะ แต่ข้อมูลที่ให้ที่นี้ก็คือ ข้อมูลที่เราคิดว่าเค้าจะถามค่ะ คือแทนที่จะเสียเวลาต้องมาตอบอีเมล์เพิ่มเติมจากเค้า ถ้าเราคิดว่าเค้าจะถามอะไรเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการตัดสินใจให้ความช่วยเหลือเราหรือไม่แล้ว ก็ใส่ข้อมูลนั้นๆลงไปเลยค่ะ The report from our study will not reveal names of wastewater plants. The bacteria we study are not pathogenic to human, plants, or animals. Also, we will report the results as ratio of 2 bacteria types, and not the concentrations.

๘. สุดท้าย เราก็ขึ้นย่อหน้าใหม่อีกรอบ เพื่อสรุปขอให้เค้าช่วย ทีนี้เพราะเราไม่แน่ใจว่าเค้าเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือไม่ เราก็เขียนไปขอให้เค้าแนะนำเราไปหาคนที่มีอำนาจตัดสินใจค่ะ Could you please recommend me to someone who can authorize the effluent sampling from the Woodland plant?

๙. เราก็ควรจะให้เค้ารู้ว่าเราค่อนข้างรีบ เค้าจะได้อย่างน้อยรีบตอบอีเมล์เราค่ะ แล้วเราก็อย่าลืมขอบคุณเค้าด้วยค่ะ Our project is running short in time, so we would like to start the collection as soon as we can. Thank you very much.

การเขียนอีเมล์จริงๆสามารถเขียนได้หลายแบบ และการจัดเรียงเนื้อหาก็ทำได้หลายแบบค่ะ ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเน้นสิ่งที่เราต้องการสื่อ และต้องเรียงลำดับข้อมูลให้คนอ่านไม่สับสนค่ะ ผู้เขียนก็ให้ตัวอย่างแบบหนึ่งในหลายๆแบบที่สามารถเขียนได้นะคะ หากมีข้อคิดเห็นใดๆ หรือมีเทคนิคอื่นๆในการเขียนอีเมล์ ช่วยมาแบ่งปันได้ที่ comments ด้านล่างนะคะ



Create Date : 12 มีนาคม 2551
Last Update : 12 มีนาคม 2551 20:37:51 น.
Counter : 17252 Pageviews.

12 comment
ประชุมกับอาจารย์อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อพูดถึงอาจารย์ที่ปรึกษา คาดว่าทุกคนคงมีประสบการณ์เหมือนๆกัน คืออาจารย์งานยุ่ง ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ระดับ Assistant Professor ที่ต้องเร่งทำผลงานเยอะๆ หรือ Associate Professor ที่ก็ต้องการผลงานเพิ่มเพื่อไปเป็นระดับต่อไป หรือ แม้แต่ตัว Professor เองที่พอมีชื่อเสียง งานก็ตามมามากมาย ถึงแม้อาจารย์แต่ละท่านจะงานยุ่ง การเข้าพบก็มีความง่ายยากต่างกันไปนะคะ อาจารย์บางท่าน ก็จะกำหนด group meeting หรือ lab meeting เป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นการประชุมของนักเรียนทุกคนในแลบกับอาจารย์ นอกจาก lab meeting อาจารย์บางท่านก็อาจจะมี individual meeting คือ ประชุมตัวต่อตัวกับนักเรียนแต่ละคนด้วย ซึ่งก็อาจจะเป็นรายสัปดาห์เช่นกัน อาจารย์บางท่านอาจจะมี meeting ทั้งสองแบบที่กล่าวไป บางท่านอาจจะมีแค่ lab meeting ส่วนงานวิจัยของนักเรียนแต่ละคน ก็แล้วแต่ว่าอาจารย์จะเรียกให้พบเมื่อไร หรือแล้วแต่ว่าเราต้องการพบช่วงไหนก็ค่อยนัดเอา หรือ บางแลบก็ไม่มี meeting วางแผนไว้ล่วงหน้า ก็แล้วแต่อาจารย์ว่าจะนัด lab meeting หรือ individual meeting เป็นครั้งๆไปค่ะ

ไม่ว่าแลบเราจะเป็นแบบไหน เราคงไปเปลี่ยนสไตล์อาจารย์ไม่ได้ ที่ทำได้ก็คือ เตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปประชุมส่วนตัวกับอาจารย์ค่ะ ถ้าเป็นการประชุมที่กำหนดเป็นวันเวลาที่แน่นอนว่าเราจะพบอาจารย์เมื่อไร เราก็มีเวลาเตรียมตัวได้ง่าย แต่ถ้าเป็นการที่อาจารย์เรียกคุยทันที เราก็อาจจะเตรียมทันทีไม่ได้ วิธีที่ดีที่สุด คือ ก็รวบรวมเรื่องที่จะคุยเอาไว้ค่ะ โดยขอแนะนำดังนี้ค่ะ

๑. เตรียมหัวข้อว่าจะคุยกับอาจารย์เรื่องอะไรบ้าง แนะนำว่าให้พิมพ์ใส่ MS Word เอาไว้ค่ะ แล้วเวลาไปเจออาจารย์ก็ให้ print ออกมา แล้วเอาไปด้วย เพื่อจะได้คุยกับอาจารย์เป็นข้อๆไป จะได้ไม่มีข้อไหนหลงลืมค่ะ ไม่ต้องเกรงว่าอาจารย์จะว่าอะไรนะคะ เวลาที่เราก้มดูโน้ตที่เราเอามาด้วย อาจารย์จะชื่นชมที่เราเตรียมตัวดีและดูใส่ใจกับการงานค่ะ

๒. พอไปถึงห้องอาจารย์ ก็ถามย้ำอีกทีว่าอาจารย์มีเวลาให้กี่นาที ตามที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าหรือไม่ค่ะ แล้วก็เริ่มด้วยการบอกอาจารย์ว่าวันนี้เรามีกี่เรื่องที่จะคุยด้วยค่ะ แล้วเราก็ไล่ตามโน้ตที่เรา print มาค่ะ

๓. ถ้ามีเรื่องใดที่อาจารย์คุยเพิ่ม ก็จดเพิ่มเติมลงในกระดาษที่เรา print ไปนั้นแหละค่ะ แล้ว feedback ต่างๆที่อาจารย์ให้กลับมาในหัวข้อที่เราเตรียมไปคุย ก็ให้จดลงไปด้วยค่ะ

๔. หลังจากที่ประชุมกับอาจารย์เสร็จแล้ว ก็กลับมาเขียนโน้ต หรือพิมพ์เพิ่มเติม ในส่วนของ feedback ที่ได้จากอาจารย์ค่ะ แล้วก็มาสรุปว่ามีงานอะไรต้องทำก่อนหลัง ที่เป็นผลมาจากการประชุมครั้งนี้ค่ะ เพราะงานบางอย่างเราอาจจะไม่ต้องทำทันที พอผ่านไปนานๆ เราอาจจะลืมได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเขียนเอาไว้ชัดเจนค่ะ เวลามาดูทีหลังจะได้รวดเร็ว

๕. จากนั้นเราก็อาจจะมีแฟ้มเก็บกระดาษที่เรา print ออกมานั้น เอาไว้ดูย้อนหลังได้ง่าย ส่วนใน MS word file ก็ save เอาไว้ใน folder ชื่อ Individual meeting เป็นต้น และ file name อาจจะตั้งเป็นวันที่ที่ประชุม เช่นว่า ind_meeting_02_03_08.doc ค่ะ

เมื่ออาจารย์งานยุ่ง การประชุมกับอาจารย์จึงต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ดังที่ได้นำเสนอไปข้างต้น นอกจากนี้แล้วการเขียน email หาอาจารย์ให้มีประสิทธิภาพก็มีความสำคัญไม่แพ้กันค่ะ ซึ่งผู้เขียนได้เคยเขียนไว้แล้วในตอน เขียน email นัดอาจารย์อย่างไรให้ได้ตอบกลับไวๆ ค่ะ

ขอแถมการ์ตูนขำๆ ของ www.phdcomics.com ซึ่งเป็นการ์ตูนเขียนล้อเลียนชีวิตนักเรียนปริญญาเอก ซึ่งก็โดนใจหลายๆคนค่ะ ผู้เขียน คือ Dr. Jorge Cham เขียนการ์ตูนตั้งแต่เป็นนักเรียนปริญญาเอก ที่ Stanford University จนจบแล้วไปเป็นอาจารย์ lecture (non-tenured track) ที่ Cal Tech จนตอนนี้ดังมาก เลยมาเขียนการ์ตูนอย่างเดียวค่ะ ตอนหนึ่งของการ์ตูนก็มีเรื่องการเตรียมแผนคุยกับอาจารย์เช่นกัน ขำๆค่ะ




Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2551 10:14:06 น.
Counter : 3348 Pageviews.

6 comment
1  2  3  4  

DrJoyKwanrawee
Location :
Davis, California  United States

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]